ค้นหา

พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาทำนอกกรอบพัฒนาสมรรถนะเด็ก

สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา  นำเสนอประเด็น การสนับสนุนเพื่อพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาต่อที่ประชุม/เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดังกล่าว มีเครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเองและโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ กว่า 100 โรงเรียน กรรมการกำกับทิศทางโครงการ TSQP ผู้ทรงคุณวุฒิและคณะทำงาน กสศ. เครือข่ายมหาวิทยาลัยและองค์กรต่าง ๆ อีกหลายหน่วยงาน อาทิ มหาวิทยาลัยศรีปทุม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง มูลนิธิสตาร์ฟิชคันทรีโฮม มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ เครือข่ายโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ทีมวิจัย ติดตาม และประเมินผลโครงการ TSQP

       จากการร่วมคณะลงพื้นที่ไปดูกระบวนการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนพัฒนาตนเอง โดยการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ (Whole School Approach) จำนวน 2 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนชุมชนบ้านบวกครกน้อย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ (ข้อมูลโรงเรียนดูที่นี่) และโรงเรียนวัดกู่คำ (เมธาวิสัยคณาทร) อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ (ข้อมูลโรงเรียนดูที่นี่) ค้นพบว่า ได้เห็นความเข้มแข็งของโรงเรียนในการพัฒนาตนเอง ที่เริ่มจากการก่อรูป พัฒนา ต่อยอด ได้เห็นความเป็นผู้นำของผู้บริหารโรงเรียน การเปลี่ยนแปลงการจัดการเรียนการสอนของคณะครู ที่ร่วมกันทำงานและสอนร่วมกันเป็นทีม การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงเพราะครูตระหนักเห็นคุณค่าของการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนเพราะต้องการเห็นเด็กดีมีคุณภาพ ตามเป้าหมายที่ผู้เกี่ยวข้องในโรงเรียนกำหนดร่วมกัน นอกจากนั้น ยังได้เห็นความร่วมมือร่วมใจ หลอมรวมพลังของโค้ช พี่เลี้ยง ภาคีต่าง ๆ ที่เข้ามาหนุนเสริมการพัฒนาโรงเรียน รวมทั้งเครือข่ายโรงเรียนที่รวมกันตามความสมัครใจ ด้วยความเชื่อ ความหวัง ความตั้งใจที่จะพัฒนาคุณภาพผู้เรียนไปในแนวทางเดียวกัน

      สิ่งที่มุ่งหวังให้เกิดขึ้นในการจัดการศึกษาตอบโจทย์พื้นที่คือ โรงเรียนพัฒนาตนเอง โรงเรียนยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง มุ่งให้พื้นที่ หรือจังหวัดจัดการศึกษาด้วยตนเองได้ ด้วยพลังการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคม รวมทั้งเป็นการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มั่นคง และยั่งยืน

         ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ในการทำงาน ได้สังเกตเห็นความจริงของการเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษาไทย นั่นคือ 20 ปี เรามีรัฐมนตรี 20 คน จะเห็นนโยบายที่เปลี่ยนไปเสมอ ๆ การเปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับสูงและจุดเน้นเป็นไปตามวาระการดำรงตำแหน่ง เปลี่ยนผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะมีแนวทางใหม่ ๆ ให้โรงเรียนดำเนินการและมักจะแตกต่างจากท่านเดิม เมื่อโรงเรียนเปลี่ยนผู้อำนวยการโรงเรียนคนใหม่เหมือนจะต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ ทำโครงการใหม่เกือบทุกครั้ง และพบว่าการเปลี่ยนแปลงลดลงทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพเกี่ยวกับครู ทั้งครูขาด หรือครูไม่มีใจไร้จิตวิญญาณความเป็นครู ผลเสียจะตกอยู่กับเด็ก ๆ จะเร่งรัดพัฒนาคุณภาพผู้เรียนได้ยากยิ่ง ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงที่มีในระบบการศึกษาหลายส่วนเป็นประโยชน์ แต่ก็มีส่วนที่ส่งผลเชิงลบต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ไม่น้อย

        ภาคีเพื่อการศึกษาไทย (Thailand Education Partnership: TEP) ซึ่งเป็นการรวมกันหลายองค์กร ปัจจุบันมีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เสนอให้มีเขตพิเศษทางการศึกษา เช่นเดียวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่จะเป็นพื้นที่ให้สามารถดำเนินการพัฒนาการศึกษาได้อย่างต่อเนื่อง ระยะยาว ให้เป็นการพัฒนาแบบ bottom up ที่มีฝ่ายนโยบายหนุนเสริม เน้นอัตลักษณ์โรงเรียน สอดคล้องกับบริบทและความต้องการของชุมชน โดยการร่วมมือรวมพลังของทุกภาคส่วนในพื้นที่ ซึ่ง TEP ได้เสนอเรื่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาผ่านคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา นายกรัฐมนตรี ผ่านสภาการศึกษา และผลักดันเป็น พ.ร.บ. เข้าสู่คณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติ

        อีกเหตุผลหนึ่งที่ TEP ชี้ให้เห็นอุปสรรคของการพัฒนาคุณภาพการศึกษาคือ ความไม่เชื่อมโยงกันขององค์ประกอบในระบบการศึกษา ทั้งวิชาการ (หลักสูตร การสอน สื่อ การวัดและประเมินผล การประกันคุณภาพ) บุคคล งบประมาณ และการบริหารทั่วไป ซึ่งมุ่งหวังให้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาสร้างระบบการศึกษาเชิงพื้นที่ที่สามารถทำให้องค์ประกอบต่าง ๆ ดังกล่าวมีความสอดคล้องเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ เป็นวิธีปฏิบัติที่ดี เพื่อขยายผลไปสู่ระบบใหญ่ได้

        จากประสบการณ์ที่ผ่านมา พบว่า ในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีโครงการดี ๆ และการริเริ่มดี ๆ เกิดขึ้นมาก แต่มีกลุ่มเป้าหมายจำกัด หรือมีระยะเวลาจำกัด โรงเรียนจะได้รับการส่งเสริมให้ทำโครงการใหม่ ๆ เสมอ ในขณะที่งานเดิม ภาระงานเดิม ทั้งงานสอนและงานอื่น ๆ ไม่ได้ลดลง แต่โรงเรียน ครู ผู้บริหารโรงเรียนจะต้องขับเคลื่อนดำเนินการให้บรรลุผล จึงเป็นภาวะ ไม่ทิ้งงานเดิม เพิ่มเติมงานใหม่ครูจึงมีภาระงานเพิ่ม ซึ่งศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ใช้คำว่า ครู 2 ซิมทำคู่ขนานทั้งงานเก่าและงานใหม่

        ได้นำโครงการบางส่วน ที่ลงไปยังพื้นที่และโรงเรียน มาวิเคราะห์ตามกรอบเวลา 20 ปี (พ.ศ. 2540 – 2560) พบว่า มีโครงการดี ๆ ลงไปหลากหลาย ในช่วงเวลาหนึ่ง ส่วนใหญ่มีผลการดำเนินการที่ดีในกลุ่มเป้าหมาย แต่การขยายผลไปยังโรงเรียนอื่น ๆ นอกกลุ่มเป้าหมายดำเนินการได้ในวงจำกัด และมีข้อจำกัดมาก เมื่อนำรายชื่อโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ประมาณ 30,000 โรงเรียน มาดูว่าโรงเรียนใดเข้าร่วมโครงการใดบ้าง พบว่า โครงการส่วนใหญ่ข้างต้นดำเนินการซ้ำ/ทับซ้อนอยู่เพียงในโรงเรียนกลุ่มหนึ่ง ประมาณ 5,000 โรงเรียน เท่านั้น ซึ่งการริเริ่มในโครงการต่าง ๆ นั้น ถือว่าเป็นต้นทุนนวัตกรรม หรือฐานทุนเดิมของการต่อยอดพัฒนาโรงเรียนได้

        พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ได้เปิดโอกาสให้โรงเรียนนำร่องและหน่วยงานการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาทำนอกกรอบได้ ในการแสวงหาแนวทาง/ นวัตกรรม ในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ เหมาะสมสอดคล้องกับอัตลักษณ์ของชุมชนและพื้นที่ โดยมี พ.ร.บ. นี้ เป็นเครื่องมือในการดำเนินการและรองรับการดำเนินการ ช่วยให้โรงเรียนนำร่องและหน่วยงานการศึกษาดำนินการได้โดยไม่ผิดกฎหมาย อย่างต่อเนื่อง ระยะยาว ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. คือ 7 ปี และสามารถต่อเวลาดำเนินการเพิ่มได้อีก 7 ปี

       ข้อมูลสำคัญที่ต้องสื่อสารให้เกิดความเข้าใจของผู้เกี่ยวข้อง ก็คือ ที่มาและทำไมต้องมี พ.ร.บ. นี้ และทำไม สพฐ. เป็นผู้ดำเนินการ ทั้ง ๆ ที่ สพฐ. ก็มีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาดำเนินการตามปกติอยู่แล้ว รวมทั้งบทบาทของสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (สบน.)

       จุดเริ่มต้นของการผลักดันให้มีพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มาจากภาคประชาสังคม องค์กรไม่แสวงหากำไรต่าง ๆ รวมตัวกันเป็นภาคีเพื่อการศึกษาไทย (Thailand Education Partnership: TEP) ที่เล็งเห็นว่า หากไม่ดำเนินการพัฒนาคุณภาพคนไทย/เด็ไทย อย่างจริงจัง ต่อเนื่อง ประเทศจะวิกฤตด้านสมรรถนะทรัพยากรบุคคลมากยิ่งขึ้น จึงนำเสนอแนวคิดแนวทางผ่านไปยังนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา สภาการศึกษา เสนอเป็น พ.ร.บ. ผ่านคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการกฤษฎีกา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งในการประชุมสภาการศึกษา มีมติมอบให้ สพฐ. เป็นผู้รับผิดชอบขับเคลื่อนนโยบายนี้ และในกฎหมาย หรือ พ.ร.บ. ได้กำหนดให้เลขาธิการ กพฐ. เป็นกรรมการเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

    สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (สบน.) สพฐ. เป็นสำนักที่ตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. ตั้งขึ้นมาประมาณ 9 เดือนเศษ ทำหน้าที่ช่วยเชื่อมประสานระหว่างคณะกรรมการขับเคลื่อนกับคณะกรรมการนโยบาย ปัจจุบันนี้บุคลากร สบน. มีข้าราชการปฏิบัติราชการ 5 คน (ไม่รวม ผอ. ไม่รวมลูกจ้าง 2 คน) ทุกคนไม่ได้สิทธิประโยชน์ใด ๆ เพิ่มเติม แต่บุคลากร สบน. มุ่งหวังต้องการประสาน ส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.

    วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มี 4 ประการ ซึ่งอยู่ในมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ได้แก่

     1) คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมการศึกษาและการเรียนรู้เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียน รวมทั้งเพื่อดำเนินการให้มีการขยายผลไปใช้ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอื่น

     2) ลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา

     3) กระจายอำนาจและให้อิสระแก่หน่วยงานทางการศึกษาและสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารและการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และ

     4) สร้างและพัฒนากลไกในการจัดการศึกษาร่วมกันระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

     นั่นคือ 4 จุดมุ่งหมาย 1) ผสานเครือข่าย 2) กระจายอำนาจ เพิ่มผลสัมฤทธิ์ 3) ผลิต คิดค้น พัฒนา ต่อยอดนวัตกรรม และ 4) ลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา

     ผลลัพธ์ที่มุ่งหวัง อย่างน้อย 3 ประการ จากการดำเนินงานตาม พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 คือ

     1) ผู้เรียนมีทักษะศตวรรษที่ 21 หรือสมรรถนะแห่งอนาคต ผู้เรียนได้รับการเรียนรู้ที่มีความหมาย ตอบโจทย์ชีวิตในอนาคต

     2) โรงเรียนมีประสิทธิภาพสูง โรงเรียนนำนวัตกรรมการศึกษาไปใช้ได้ผล เพิ่มผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ ไม่เฉพาะด้านความรู้ แต่หมายถึงผู้เรียนมีพัฒนาการแบบองค์รวม ทั้งความรู้ ทักษะ สมรรถนะ และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ รวมทั้งโรงเรียนสามารถลดความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาและการเรียนรู้ได้ และ

     3) กระทรวงศึกษาธิการและประเทศไทย มีแนวทางการปฏิรูปที่ได้ผล มีข้อเสนอเพื่อการปรับเปลี่ยนการปฏิรูปการศึกษาทั้งประเทศ ที่มาจากการปฏิบัติจริง อิงจากหลักฐานทางการวิจัย

       ใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ กำหนดกลไกในการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาไว้ ที่สำคัญ 2 ส่วน ซึ่งส่วนที่หนึ่งคือ

       1) คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา หรือเรียกสั้น ๆ ว่า คณะกรรมการขับเคลื่อน และ

       2) คณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา หรือเรียกสั้น ๆ ว่า คณะกรรมการนโยบาย

       หนึ่ง คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เปรียบเทียบเสมือน กระทรวงน้อยที่อยู่ในพื้นที่ มีบทบาทไม่ใช่การสั่งการ แต่จะช่วยหนุนเสริมดำเนินการให้เกิดการปฎิบัติและขับเคลื่อนของโรงเรียนนำร่องและหน่วยงานทางการศึกษา (หมายรวมถึง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด) ให้สามารถบริหารจัดการแนวใหม่ ให้วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาประสบผลสำเร็จ คณะกรรมการขับเคลื่อน มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีศึกษาธิการจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ มี ผอ.เขต ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ทรงคุณวุฒิ รวม 21 คน ร่วมเป็นกรรมการ สิ่งสำคัญคือ คณะกรรมการขับเคลื่อนที่ประกอบด้วยบุคลากรหลายภาคส่วนในพื้นที่ จะเป็นผู้สะท้อนมุมมองของฝั่ง Demand side ให้ฝั่ง Supply side (ผู้จัดการศึกษา) ได้ทราบความต้องการจำเป็นของการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทชุมชน พื้นที่ ตอบสนองความสามารถในการแข่งขันได้ของประเทศไทย ซึ่งประเด็นนี้คุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ได้ชี้ประเด็นนี้ไว้ได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ คณะกรรรรมการขับเคลื่อน จะร่วมกันปรับระบบการศึกษาในพื้นที่ ให้องค์ประกอบของการจัดการศึกษา (วิชาการ-หลักสูตร การสอน สื่อ การวัดผล การประมิน การประกัน, บุคคล, งบประมาณ และบริหารทั่วไป) ทั้งการมีส่วนร่วมสร้างแผนงานที่มาจากการรับฟังความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ การสนับสนุนการพัฒนาโรงเรียน การติดตามผลและการจัดทำฐานข้อมูลของพื้นที่

        สอง คณะกรรมการนโยบาย มีบทบาทในการส่งเสริมให้มีพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ดำเนินการรับข้อเสนอจากพื้นที่ ไปช่วยผลักดันในเชิงนโยบาย การแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ ให้เอื้อต่อการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และการขยายผล และหน้าที่และอำนาจตามมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562

      จะเห็นว่า คณะกรรมการทั้งสองคณะ จะประคองเคียงข้าง หรือเป็นผู้เกื้อหนุนให้โรงเรียนนำร่อง และหน่วยงานทางการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สามารถการดำเนินงานในเรื่องต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. ได้อย่างราบรื่น หากมีอุปสรรคปัญหาใด ๆ จะต้องขอให้คณะกรรมการขับเคลื่อน เป็นผู้แก้ไข ให้คำปรึกษา ชี้แนะ และร่วมดำเนินการ หากคณะกรรมการขับเคลื่อนไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะอาจอยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ให้เสนอมายังคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ผ่านมาที่สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (สบน.) สพฐ. ซึ่ง สบน. พร้อมที่จะรับเรื่องและเสนอไปยังเลขาธิการ กพฐ. ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบาย

      ที่ผ่านมา ได้เขียนบทความไว้ 1 ฉบับ โดยวิเคระห์ พ.ร.บ. และมองเห็นว่า พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 เป็นโอกาสทองของจังหวัดในการจัดการศึกษาตอบโจทย์พื้นที่ อย่างน้อย 9 ประเด็น ดังนี้

  • สามารถเลือกใช้นวัตกรรมการศึกษาที่สอดคล้องเหมาะสมกับพื้นที่ได้อย่างอิสระ เพื่อเพิ่มคุณภาพผู้เรียน
  • พ.ร.บ. นี้ มีโครงสร้างการทำงานที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมการศึกษาเชิงพื้นที่ นั่นคือ คณะกรรมการขับเคลื่อน และคณะกรรมการนโยบาย
  • ปรับใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ ไม่ติดตัวชี้วัด เพราะมาตรา 35 ให้คงไว้และทำตามหลักสูตรใน 3 ประเด็นคือ มาตรฐานการศึกษา สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน และคุณลักษณะที่พึงประสงค์
  • มีอิสระในการเลือกซื้อสื่อหนังสือตำราตามกรอบหลักสูตรตามมาตรา 25 โดยอยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการขับเคลื่อนในการปรับหลักสูตรให้เหมาะสมกับโรงเรียนนำร่อง ตามมาตรา 20 (4) นั่นคือ คณะกรรมการขับเคลื่อนจะต้องเป็นผู้ให้ความเห็นชอบหลักสูตรที่จะใช้ในสถานศึกษานั่นเอง
  • ออกแบบการทดสอบเฉพาะพื้นที่ได้ อาจไม่ใช้ O-NET/NT ประเด็นนี้เป็นไปตามมาตรา 20 (6) ซึ่งเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการขับเคลื่อนในการดำเนินการออกแบบ
  • สร้างหลักเกณฑ์การประกันคุณภาพการศึกษาแนวใหม่ได้ อาจไม่อิงการประเมินภายนอกของ สมศ.
  • มีช่องทางผลักดันการบริหารงานบุคคลให้เหมาะสมกับพื้นที่ได้
  • สถานศึกษาจะได้งบพัฒนานวัตกรรมการศึกษาเป็นวงเงินรวม ตามความจำเป็น ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด

        ลด ละ เลิก โครงการใด ๆ ที่เพิ่มภาระงานครู ส่งผลเสียต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน หรือไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สามารถวิเคราะห์และเสนอไปยังคณะกรรมการขับเคลื่อนได้ เป็นไปตามมาตรา 48 นอกจากนั้น หากจะมีโครงการใด ๆ จากหน่วยงานใด ๆ ที่จะเข้าดำเนินการในโรงเรียนนำร่อง ต้องไปผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการขับเคลื่อนก่อน ตามมาตรา 33

          ในอนาคตอันใกล้ เมื่อโรงเรียนนำร่องดำเนินการไปสู่การเป็นโรงเรียนพัฒนาตนเอง เป็นโรงเรียนที่ยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง จะมีผลการปฏิบัติเชิงประจักษ์ จะต้องสังเคราะห์ รวบรวมเสนออย่างเป็นระบบโดยการสนับสนุนจากคณะกรรมการขับเคลื่อน โค้ช พี่เลี้ยง และภาคีร่วมพัฒนา เสนอไปยังคณะกรรมการขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ เพื่อให้เกิดผลการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน ซึ่งจะเห็นว่าเป้าหมายการพัฒนาคุณภาพของโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง และโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็นสิ่งเดียวกัน จึงควรจับมือ ร่วมมือรวมพลังกัน สร้างการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทย ให้ไปในทิศทางที่ทุกคนมุ่งหวัง เพื่อสร้างผลลัพธ์ของการศึกษาให้คนไทยเป็นผู้เรียนรู้ ผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม และพลเมืองที่เข้มแข็ง

ผู้เขียน พิทักษ์ โสตถยาคม

ที่มา ; สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรม สพฐ.

 

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

ความเห็นของผู้ชม