ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565 เผยแพร่ข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ พ.ศ. 2565 ซึ่งยกเลิกข้อบังคับฯ ฉบับเดิม ปี พ.ศ. 2559 และที่แก้ไข (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับการประกอบวิชาชีพทางการศึกษาในปัจจุบัน ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
#สาระสำคัญ
ข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ พ.ศ. 2565
- ยกเลิกข้อบังคับข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ พ.ศ. 2559 และที่แก้ไข (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562
- ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (ประกาศวันที่ 15 ธันวาคม 2565)
#ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ มี 4 ประเภท ได้แก่
(1) ใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่ครู แบ่งเป็น
-ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ออกให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน ผู้มีความประสงค์จะปฏิบัติงานในตำแหน่งครู(มีอายุสองปี)
-ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น ออกให้แก่ผ่านเกณฑ์การทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู (มีอายุห้าปี)
-ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูง ออกให้แก่ผู้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น และผ่านเกณฑ์การประเมินตามระดับคุณภาพของมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพ หรือผู้มี ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูและมีวิทยฐานะตั้งแต่ระดับชำนาญการหรือเทียบเท่าขึ้นไป (มีอายุเจ็ดปี)
ในการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น และใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูง ต้องขอตามกลุ่มวิชาและสามารถขอรับใบอนุญาตได้มากกว่าหนึ่งกลุ่มวิชา
(2) ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา (มีอายุห้าปี)
(3) ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา (มีอายุห้าปี)
(4) ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก (มีอายุห้าปี)
# ใบอนุญาตที่ออกก่อนวันที่ข้อบังคับนี้ใช้บังคับ ให้คงใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะหมดอายุ ถูกสั่งพักใช้ หรือถูกสั่งเพิกถอน
คลิก รายละเอียด >>>
ข่าวเกี่ยวกัน
จี้คุรุสภาแก้ข้อ 14 เกณฑ์ ‘ตั๋วชั้นสูง’ ปมลิดรอนสิทธิแม่พิมพ์เอกชนกว่าแสนราย
แต่จากที่ศึกษารายละเอียด พบว่าข้อบังคับดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างมากต่อครูโรงเรียนเอกชนที่มีกว่า 100,000 คน เพราะในข้อ 14 กำหนดไว้ว่า การออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูง ตามกลุ่มวิชาที่ขอรับใบอนุญาตจะออกให้แก่ผู้ยื่นคำขอซึ่งมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้นที่ยังไม่หมดอายุ และเมื่อตรวจสอบคำขอแล้ว เป็นผู้มีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้าม เอกสารหลักฐานครบถ้วน ถูกต้อง รวมทั้งผ่านเกณฑ์การประเมินตามระดับคุณภาพของมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด หรือผู้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู และมีวิทยฐานะตั้งแต่ระดับชำนาญการ หรือเทียบเท่าขึ้นไป ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้ใช้บังคับ
ดร.ศุภเสฏฐ์กล่าวต่อว่า การกำหนดเช่นนี้อาจเป็นการเขียนสิทธิพิเศษให้ครูภาครัฐ เพราะมีแต่ครูภาครัฐเท่านั้นที่มีวิทยฐานะ ดังนั้น หากครูภาครัฐที่มีวิทยฐานะตั้งแต่ระดับชำนาญการ หรือเทียบเท่า ก่อนข้อบังคับนี้บังคับใช้ จะได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพชั้นสูงทันที ในขณะที่ครูเอกชนหากต้องการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูง ต้องเข้ารับการทดสอบเพื่อให้ผ่านเกณฑ์การประเมินเท่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริง ครูรัฐ และครูเอกชน ต้องมีความเท่าเทียมกัน การกำหนดเช่นนี้ถือเป็นการแบ่งแยกชนชั้นระหว่างครูรัฐ และครูเอกชน รวมทั้งลิดรอนสิทธิครูเอกชนอย่างชัดเจน
“ควรจะกำหนดเกณฑ์การได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูงให้เท่าเทียมกัน คือกำหนดให้ครูรัฐ และครูเอกชน ต้องเข้ารับการทดสอบเพื่อที่จะได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูง จึงอยากให้ทบทวนข้อบังคับดังกล่าว และอยากให้ผู้เกี่ยวข้องลงไปสอบถามความคิดเห็นของภาคเอกชนอย่างรอบด้าน อย่างไรก็ตาม ข้อบังคับฉบับนี้จะมีผลคับใช้ภายใน 90 วัน หลังจากประกาศลงราชกิจจานุเบกษา จึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขข้อ 14 ให้มีความเท่าเทียมกันระหว่างครูรัฐ และครูเอกชนด้วย ไม่อย่างนั้นจะทำให้ครูเอกชนถูกลิดรอนสิทธิกว่า 100,000 คน” ดร.ศุภเสฏฐ์กล่าว
ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 20 ธันวาคม 2565
สรุปสาระสำคัญข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ พ.ศ. 2565
ตามที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ พ.ศ. 2565 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565 และมีผลบังคับใช้ 15 มีนาคม 2566 มีสาระสำคัญ ดังนี้
1. ยกเลิกข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยใบอนุญาตปร
ะกอบวิชาชีพ พ.ศ. 2559 และข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2562
2. ปรับปรุงการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู จากเดิมออก “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” ฉบับเดียว เป็น “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” ที่มีการจำแนกเป็น 3 ระดับ ดังนี้
2.1 ใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่ครู (Provisional Teaching License : P-License) ผู้ที่ขอรับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่ครูจะต้องมีคุณสมบัติ
1) มีคุณวุฒิทางปริญญาทางการศึกษาที่คุรุสภารับรอง ตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 เป็นต้นไป (โดยยังไม่ต้องมีผลการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู)
2) ผ่านการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาตามหลักสูตรไม่น้อยกว่าหนึ่งปี (ตามหลักเกณฑ์ที่คุรุสภากำหนด) โดยใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่ครู มีอายุ 2 ปี นับตั้งแต่วันออกใบอนุญาต
2.2 ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น (Basic Teaching License : B-License) ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น จะต้องมีคุณสมบัติ
1) มีคุณวุฒิทางปริญญาทางการศึกษาที่คุรุสภารับรอง
2) ผ่านการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาตามหลักสูตรไม่น้อยกว่าหนึ่งปี (ตามหลักเกณฑ์ที่คุรุสภากำหนด)
3) ผ่านการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาคุณวุฒิจากต่างประเทศจะต้องขอรับรองคุณวุฒิก่อนขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น โดยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น มีอายุ 5 ปี นับตั้งแต่วันออกใบอนุญาต
2.3 ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูง (Advanced Teaching License : A-License) ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูง จะต้องมีคุณสมบัติ
1) มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น
2) ผ่านเกณฑ์การประเมินระดับคุณภาพตามที่คุรุสภากำหนด หรือ มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู (เดิม) และมีวิทยฐานะชำนาญการหรือเทียบเท่าขึ้นไป โดยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูง มีอายุ 7 ปี นับตั้งแต่วันออกใบอนุญาต
3. ใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่ครูสิ้นสุดลงเมื่อเปลี่ยนเป็น “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น” ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้นสิ้นสุดลงเมื่อเปลี่ยนเป็น “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูง” การขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้นและชั้นสูง ต้องขอตามกลุ่มวิชาและสามารถขอรับได้มากกว่าหนึ่งกลุ่มวิชา
4. ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษาและศึกษานิเทศก์ ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษาและศึกษานิเทศก์ จะต้องมีคุณสมบัติ
1) มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น หรือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูง
2) มีความรู้และประสบการณ์ตามที่คุรุสภากำหนด
5. ค่าธรรมเนียมการขอรับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่ครู ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูง ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษาและศึกษานิเทศก์ ฉบับละ 500 บาท
6. การต่ออายุใบอนุญาตทุกประเภท ต้องดำเนินการต่ออายุภายใน 180 วัน ก่อนวันที่ใบอนุญาตจะหมดอายุ พร้อมเอกสารหลักฐานและชำระค่าธรรมเนียมฉบับละ 200 บาท กรณียื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตล่าช้าหลังจากวันที่ใบอนุญาตหมดอายุแล้ว ให้ชี้แจงเหตุผลและชำระค่าดำเนินการต่ออายุล่าช้าเดือนละ 200 บาทแต่ไม่เกิน 2,000 บาท นับระยะเวลาตั้งแต่วันที่ใบอนุญาตหมดอายุถึงวันที่ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาต (ระยะเวลานับได้ไม่ถึงหนึ่งเดือนนับเป็นหนึ่งเดือน และต้องดำเนินการต่ออายุใบอนญาตจนกว่าใบอนุญาตจะมีอายุใช้ได้)
7. การขอให้ออกใบอนุญาตหรือต่ออายุใบอนุญาต กรณีมีความจำเป็นเร่งด่วน สามารถยื่นคำร้องต่อเลขาธิการคุรุสภาใน 3 กรณี
1) สมัครสอบและจะหมดระยะเวลาการรับสมัคร
2) เรียกตัวบรรจุแต่งตั้งที่ต้องมีใบอนุญาตในวันที่บรรจุแต่งตั้ง
3) ต่อสัญญาจ้าง ค่าธรรมเนียมในการออกใบอนุญาตหรือต่ออายุใบอนุญาต กรณีมีความจำเป็นเร่งด่วน ฉบับละ 1,000 บาท
8. การแก้ไขข้อมูลทางทะเบียน ให้ยื่นคำขอและหลักฐาน พร้อมชำระค่าธรรมเนียมครั้งละ 100 บาท
9. ค่าธรรมเนียมและค่าดำเนินการทุกประเภท คุรุสภาจะไม่คืนเงินให้ผู้ยื่นคำขอหรือคำร้องทุกกร
10.บทเฉพาะกาล
1. ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เทียบเท่า “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น” (ข้อ 35)
2. ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูประกอบกับมีวิทยฐานะชำนาญการขึ้นไป เทียบเท่า “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูง”(ข้อ 35)
3. คำขอที่ยื่นก่อนข้อบังคับนี้ ให้ดำเนินการตามที่กำหนดในข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ พ.ศ. 2559 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 (ข้อ 36)
4. การออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น ให้ยกเว้นการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพสำหรับผู้ที่มีคุณสมบัติข้อหนึ่งข้อใด ดังนี้ (ข้อ 37)
(1) สำเร็จการศึกษาปริญญาหรือประกาศนียบัตรทางการศึกษา ที่คุรุสภารับรองและเข้าศึกษาก่อนปีการศึกษา 2562 หรือผู้ได้สิทธิในการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ก่อนข้อบังคับนี้
(2) สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีทางการศึกษาที่สถาบันการศึกษาเปิดสอนอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 ใช้บังคับ
(3) ผ่านการรับรองความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพ ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติการสอนและผ่านการประเมินปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาครบหนึ่งปีต่อเนื่อง ตามข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยการรับรองความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565
(4) ปริญญาอื่นที่ผ่านการรับรองคุณวุฒิจากคุรุสภาและเป็นคุณวุฒิที่เข้าศึกษาก่อนปีการศึกษา 2562
(5) ครูซึ่งเป็นสมาชิกคุรุสภาตามพระราชบัญญัติครู พุทธศักราช 2488 และเป็นผู้ประกอบวิชาชีพครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาอื่น อยู่ก่อนพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 ใช้บังคับ และยังมิได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู และหรือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพตามตำแหน่งที่ประกอบวิชาชีพ
5. การขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาหรือประกาศนียบัตรบัณฑิตที่คุรุสภารับรองและเข้าศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 ถึง 2565 ให้ยกเว้นการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ด้านความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ ตามมาตรฐานวิชาชีพครูในวิชาเอก (ข้อ 38)
6. ให้คุรุสภาออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษาและศึกษานิเทศก์ ให้แก่ครูซึ่งเป็นสมาชิกคุรุสภาตามพระราชบัญญัติครู พุทธศักราช 2488 และผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาอื่นอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 ใช้บังคับ และยังมิได้รับใบอนุญาตตามตำแหน่งที่ประกอบวิชาชีพ (ข้อ39)
7. ผู้มีสิทธิตามมาตรา 84 และ 85 แห่งพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 ประสงค์ขอให้ออกใบอนุญาตนับแต่วันที่มีสิทธิสามารถกระทำได้ โดยถือเป็นกรณีดำเนินการล่าช้า ทั้งนี้ค่าธรรมเนียมและค่าดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้ (ข้อ 40)
ที่มา ;สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
15 มี.ค.ดีเดย์ ใช้ข้อบังคับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูใหม่
เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ นางอมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา เปิดเผยว่า ตามข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ พ.ศ.2565 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 มีนาคม 2566 ได้กำหนดให้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู 4 ประเภท คือ
1.ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู
2.ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา
3.ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา และ
4.ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก์
ซึ่งการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ตามข้อบังคับใหม่จะเป็นใบอนุญาตที่มีการบ่งบอกถึงความรู้ ความเชี่ยวชาญของครู และให้ผู้ประกอบวิชาชีพครูมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเห็นทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจน รวมถึงผู้รับบริการจากผู้ประกอบวิชาชีพครูมีความเชื่อมั่นในการให้บริการของผู้ประกอบวิชาชีพครู โดยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู จำแนกเป็น 3 ระดับ ได้แก่
1. ใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่ครู (Provisional Teaching License) หรือ P-License มีอายุ 2 ปี
2. ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น (Basic Teaching License) หรือ B-License มีอายุ 5 ปี
3. ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูง (Advanced Teaching License) หรือ A-License มีอายุ 7 ปี
การศึกษาในหลักสูตรปริญญาทางการศึกษาที่คุรุสภารับรองที่เข้าศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 และผ่านเกณฑ์การทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครูครบตามที่คุรุสภากำหนด
สำหรับผู้ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูฉบับเดิมก็ใช้ใบอนุญาตฉบับเดิมจนกว่าจะหมดอายุ และเมื่อต่อใบอนุญาตจะได้ B-License ส่วนการจะรับ A-License ต้องเป็นผู้ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูระดับ B-License หรือฉบับเดิมอยู่แล้ว และมีวิทยฐานะตั้งแต่ระดับชำนาญการหรือเทียบเท่าขึ้นไป หรือผ่านเกณฑ์การประเมินตามระดับคุณภาพของมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด
ทั้งนี้ การขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้มีสิทธิต้องยื่นขอรับใบอนุญาตผ่านระบบออนไลน์ของคุรุสภาที่จะเปิดระบบในวันที่ 15 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป
“คุรุสภาเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ และดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการอำนวยความสะดวกในการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว ขณะนี้ทางครุสภากำลังดำเนินการปรับเปลี่ยนระบบการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพและเร่งดำเนินการออกแนวปฏิบัติตามข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ พ.ศ.2565 ขอให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่เว็บไซต์คุรุสภา หรือสื่อออนไลน์ของทางคุรุสภา และขอให้ผู้เกี่ยวข้องอ่านและศึกษาข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ พ.ศ.2565 ที่มีรายละเอียดในฉบับเต็ม เพราะเป็นเรื่องใหม่ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามหรือรับคำปรึกษากับทางคุรุสภา” นางอมลวรรณกล่าว
ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566