ค้นหา

เด็ก 222 ล้านคนทั่วโลกกำลังเผชิญวิกฤตด้านการศึกษา

วันที่ 25 มกราคม 2566 กองทุนโลกเพื่อการศึกษาในภาวะฉุกเฉิน (Education Cannot Wait) ออกแถลงการณ์ว่า เนื่องในวันการศึกษาสากล (International Day of Education) บรรดาผู้นำทั่วโลกต้องทำตามคำมั่นสัญญาในการมอบการศึกษาที่มีคุณภาพให้แก่ทุกคนภายในปี 2573 

การศึกษาคือการลงทุนเพื่อสันติภาพท่ามกลางสงคราม คือ การลงทุนเพื่อความเสมอภาคท่ามกลางความอยุติธรรม คือการลงทุนเพื่อความมั่งคั่งท่ามกลางความยากจน 

เราต้องไม่หลงลืมว่า วิกฤตการศึกษาทั่วโลกกำลังคุกคามผลลัพธ์ของการพัฒนาตลอดหลายทศวรรษ กระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งใหม่ และทำลายความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลก 

อย่างที่นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้เน้นย้ำในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยการพลิกโฉมการศึกษาว่า หากเราต้องการเปลี่ยนแปลงโลกภายในปี 2573 ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ประชาคมโลกจะต้องให้ความสนใจกับวิกฤต (การศึกษา) อย่างที่ควรจะเป็น 

เมื่อครั้งที่กองทุนโลกเพื่อการศึกษาในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งเป็นกองทุนสนับสนุนการศึกษาในภาวะฉุกเฉินและวิกฤตที่ยืดเยื้อขององค์การสหประชาชาติ ก่อตั้งขึ้นในปี 2559 จำนวนเด็กที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตและต้องการความช่วยเหลือด้านการศึกษาอยู่ที่ราว 75 ล้านคน แต่ปัจจุบันตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นสามเท่า สู่ระดับ 222 ล้านคนแล้วose

ในบรรดาเด็ก 222 ล้านคนที่ถูกพรากสิทธิในการศึกษา เพราะผลกระทบที่เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณของความขัดแย้ง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และวิกฤตที่ยืดเยื้ออื่น ๆ นั้น มีเด็กประมาณ 78 ล้านคนที่ต้องออกจากโรงเรียน ซึ่งมากกว่าจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศฝรั่งเศส อิตาลี หรือสหราชอาณาจักรเสียอีก 

เราได้เห็นปัญหาดังกล่าวจากหลายกรณี ทั้งสงครามในยูเครน ความท้าทายในการอพยพชาวเวเนซุเอลาไปยังโคลัมเบียและอเมริกาใต้ การปฏิเสธการศึกษาสำหรับเด็กหญิงในอัฟกานิสถาน และภัยแล้งอย่างรุนแรงอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในแถบจะงอยแอฟริกา (Horn of Africa) ซึ่งก่อให้เกิดวิกฤตความอดอยากอย่างรุนแรงกับประชาชน 22 ล้านคน เพราะเราอยู่ในโลกที่เชื่อมโยงถึงกัน 

ปัญหาของแอฟริกา ตะวันออกกลาง อเมริกาใต้ และอื่น ๆ เป็นปัญหาของโลกที่เราอยู่ร่วมกัน ท่ามกลางความขัดแย้ง การอพยพย้ายถิ่น และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รัฐบาลนานาประเทศ เช่น โคลัมเบีย กำลังดิ้นรนเพื่อรักษาสภาพความเป็นอยู่และการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับเด็ก ๆ บริเวณชายแดนที่เข้าถึงยาก

ความหวังยังมีอยู่ กองทุนโลกเพื่อการศึกษาในภาวะฉุกเฉินและพันธมิตรเชิงกลยุทธ์สามารถเข้าถึงเด็ก 7 ล้านคนในเวลาเพียง 5 ปี โดยใช้วิธีการทำงานแบบใหม่ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างรวดเร็วและดำเนินการพัฒนาเชิงลึก และตั้งเป้าว่าจะเข้าถึงเด็ก ๆ อีก 20 ล้านคน ภายใน 4 ปีข้างหน้า 

ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ บรรดาผู้นำจากทั่วโลกจะมารวมตัวกันเพื่อเข้าร่วมการประชุมด้านการเงินระดับสูงของกองทุนโลกเพื่อการศึกษาในภาวะฉุกเฉิน (Education Cannot Wait High-Level Financing Conference) ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ งานนี้ร่วมเป็นเจ้าภาพโดยกองทุนโลกเพื่อการศึกษาในภาวะฉุกเฉินและประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และร่วมกันจัดโดยประเทศโคลัมเบีย เยอรมนี ไนเจอร์ นอร์เวย์ และเซาท์ซูดาน

โดยเปิดโอกาสให้ผู้นำระดับโลก ภาคธุรกิจ มูลนิธิ และบุคคลที่มีความมั่งคั่งระดับสูง ได้ทำตามคำมั่นสัญญาของเราในการส่งเสริมการศึกษาสำหรับทุกคน เป้าหมายคือการระดมทุน 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายใน 4 ปีข้างหน้า 

ในฐานะเจ้าภาพร่วมของการประชุมครั้งสำคัญนี้ เราขอเรียกร้องให้คนทั่วโลกมาร่วมลงทุนด้านการศึกษา ซึ่งเป็นการลงทุนที่ดีที่สุดที่เราสามารถทำได้ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะเรามีคำมั่นสัญญาที่ต้องรักษา 

ทั้งนี้ แถลงการณ์นี้ร่วมลงนามโดย อิกนาซิโอ กัสซิส ( Ignazio Cassis) มนตรีแห่งสมาพันธ์ของสมาพันธรัฐสวิส, สเวนยา ชูลซ์ (Svenja Schulze) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาและความร่วมมือทางเศรษฐกิจของเยอรมนี, อิบราฮิม นาตาตู (Ibrahim Natatou) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของไนเจอร์, แอนน์ บีธ ทวินเนอไรม์ (Anne Beathe Tvinnereim) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาระหว่างประเทศของนอร์เวย์,

อาวุต เดง อาคุล (Awut Deng Acuil) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของเซาท์ซูดาน, อเลฮานโดร กาวิเรีย (Alejandro Gaviria) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของโคลัมเบีย และ กอร์ดอน บราวน์ (Gordon Brown) อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร ผู้แทนพิเศษด้านการศึกษาขององค์การสหประชาชาติ และประธานคณะกรรมการกำกับดูแลระดับสูงของกองทุนโลกเพื่อการศึกษาในภาวะฉุกเฉิน 

กองทุนโลกเพื่อการศึกษาในภาวะฉุกเฉิน ออกแถลงการณ์ เด็ก 222 ล้านคนทั่วโลกกำลังเผชิญวิกฤตด้านการศึกษา  

ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 25 มกราคม 2566

เกี่ยวข้องกัน

ปลดล็อกความเหลื่อมล้ำ ยกระดับทักษะเยาวชนสู่ ‘ตลาดแรงงานคุณภาพสูง’ 

หากพิจารณาในกลุ่มประชากรวัยแรงงานที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป จะพบผู้ที่มีวุฒิการศึกษาภาคบังคับหรือต่ำกว่า มากถึง 16 ล้านคน ซึ่งได้รับค่าแรง สวัสดิการ และคุณภาพชีวิตระดับต่ำ ฉะนั้น หากสังคมมุ่งให้ความสนใจต่อกลุ่มประชากรที่อยู่ในวัยผลัดเปลี่ยนจากรั้วโรงเรียนสู่ชีวิตการทำงาน อาจช่วยให้ประชากรกลุ่มนี้สามารถกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ การศึกษา หรืออย่างน้อยทำให้พวกเขาเติมเต็มศักยภาพของตนเองได้ 

คำถามสำคัญคือ ทักษะใดที่จะทำให้พวกเขาสามารถแข่งขันใน ตลาดแรงงานคุณภาพสูง และใช้ชีวิตของตนได้อย่างมีความหมาย? 

เราได้คำตอบของคำถามข้างต้นนี้แล้ว จากบทความเรื่อง ข้อเสนอ กสศ. ปลดล็อกความเหลื่อมล้ำ ยกระดับทักษะเยาวชนสู่ ตลาดแรงงานคุณภาพสูง” ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งมีรายละเอียดมาจากการประชุม เวทีนโยบายการพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานสู่ความพร้อมรับมือตลาดแรงงานยุคใหม่’ ในหัวข้อปลดล็อกความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการศึกษาผ่านการพัฒนา ทักษะพื้นฐานของการทำงานในโลกยุคใหม่’ ที่ทาง กสศ. จัดขึ้นในวันที่ 18 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา

โดยในงานเสวนานี้มีผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงจากหลายหน่วยงานมาระดมสมองเพื่อชี้แนะแนวทางในการที่ประเทศไทยจะสามารถ ปลดล็อกความเหลื่อมล้ำ ยกระดับทักษะเยาวชนสู่ ตลาดแรงงานคุณภาพสูง”

 

ชี้ทักษะพื้นฐานที่จำเป็นของเยาวชนไทย กุญแจไขสู่ ตลาดแรงงานคุณภาพสูง

ต้องยอมรับว่าวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นนี้ เป็นเสมือนตัวเร่งที่แสดงให้เห็นว่าในสังคมไทย ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ยังคงส่งผลกระทบกระจายอยู่ทั่วประเทศ ทว่า เมื่อเหรียญยังมีสองด้าน วิกฤตนี้เองจึงทำให้เกิดโอกาสให้มีการหยิบเอา ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา มาเป็นวาระแห่งชาติ และระดมสมองเพื่อหาทางแก้ไขที่เหมาะสมด้วย 

ทั้งนี้ หนึ่งในวิธีการแก้ไขที่ โคจิ มิยาโมโตะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากธนาคารโลก วิทยากรคนสำคัญในงานเสวนาครั้งนี้ได้นำเสนอ คือ การเริ่มทบทวนทักษะมูลฐานบางประการ โดยเฉพาะทักษะพื้นฐาน (foundational skill) ในศตวรรษที่ 21 ได้แก่

·      ทักษะการอ่านเขียน (literacy skill) เกี่ยวข้องกับการใช้ตรรกะ ความคิดริเริ่ม ความคิดสร้างสรรค์ การแก้ไขปัญหา ความสามารถทางการพูด การคำนวณ รากฐานของการเรียนรู้ในระยะยาว

·      ทักษะดิจิทัล (digital skill) ความเข้าใจ การจัดการ และสังเคราะห์ข้อมูลด้าน ICT (Information and Communication Technology) อย่างเหมาะสมและปลอดภัย

·      ทักษะอารมณ์สังคม (socio-emotional skill) ความสามารถด้านอารมณ์ ความเห็นอกเห็นใจ ความมั่นคงทางอารมณ์ ความยืดหยุ่น ความอดทนและการปรับตนเองเข้ากับสถานการณ์ได้ 

โดย โคจิ พยายามแสดงให้เห็นว่า ทักษะการอ่านเขียน ทักษะดิจิทัล และทักษะอารมณ์สังคม แม้ดูเหมือนสิ่งธรรมดาสามัญ แต่กลับมีผลต่อทั้งระดับปัจเจก สังคม และประเทศอย่างมีนัยสำคัญ 

เขาเน้นย้ำว่า การพัฒนาทักษะเหล่านี้ต้องอาศัยการพัฒนาแบบองค์รวม ไล่เลียงตั้งแต่ชั้นเรียนประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา ทั้งในและนอกระบบ กระทั่งการเรียนเสริม การฝึกอบรม และงานอาสาสมัคร ล้วนต้องดำเนินอย่างต่อเนื่องและจำเป็นต้องมีเป้าหมายในทิศทางเดียวกัน สิ่งสำคัญคือต้องได้รับการปลูกฝังตั้งแต่เด็ก 

หากทรัพยากรมนุษย์ได้รับการเติมเต็มทักษะพื้นฐานครบทั้ง 3 ด้านแล้ว นอกจากจะสามารถดูแลตนเอง พวกเขาย่อมมีศักยภาพดูแลผู้อื่น ช่วยให้ภาครัฐสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดูแลประชากรที่มีปัญหา ขณะเดียวกัน ภาคผู้ประกอบการก็สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมและเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น คนเหล่านี้จะสามารถขยับฐานะทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับการพัฒนาประเทศและเพิ่มโอกาสในการก้าวพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางในที่สุด 

อย่างไรก็ดี งานศึกษาเรื่อง Building on Solid Foundations: Prioritising Universal, Early, Conceptual and Procedural Mastery of Foundational Skills (2020) ค้นพบว่า เด็กในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ยังขาดทักษะพื้นฐาน ฉะนั้น การจัดลำดับความสำคัญของการเรียนรู้เสียใหม่จึงมีความจำเป็น เพื่อเพิ่มพูนทักษะขั้นพื้นฐาน นำไปสู่การศึกษาที่ไม่ทิ้งใครไว้ด้านหลังอย่างแท้จริง โดยสรุปแนวทางไว้ดังนี้

·      ความเป็นสากล (universal) เด็กทุกคนบนโลกควรได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

·      เริ่มเร็ว (early) เด็กทุกคนต้องได้รับการฝึกฝนทักษะพื้นฐานตั้งแต่ช่วงต้นของการเข้าโรงเรียน

·      แนวคิด (conceptual) เด็กทุกคนต้องเข้าใจแนวคิดเบื้องหลังของสิ่งที่ตนกำลังเรียนรู้ ไม่ใช่ท่องจำเนื้อหาเพียงอย่างเดียว

·      เป็นขั้นเป็นตอน (procedal) เด็กทุกคนต้องฝึกฝนการแก้ไขปัญหาและสามารถนำทักษะไปใช้ได้จริง

·      เชี่ยวชาญ (mastery) เด็กทุกคนสามารถบรรลุศักยภาพตามเกณฑ์ และสามารถนำทักษะพื้นฐาน เช่น การรู้หนังสือ การคำนวณ และการจัดการอารมณ์ไปต่อยอดในสิ่งที่ตนเลือกและตัดสินใจ

 

ปรับงานวิจัยสู่ข้อเสนอนโยบาย ปูทางสู่ “การศึกษายุคใหม่”

วิทยากรท่านต่อมาได้สานต่อประเด็นจากงานวิจัยที่ โคจิ ได้หยิบยกขึ้นมาและพบว่าเด็กในประเทศกำลังพัฒนาร้อยละ 52 ไม่สามารถอ่านหนังสือได้ และครึ่งหนึ่งของเด็กผู้หญิงที่สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา ไม่สามารถอ่านประโยคง่ายๆ ได้ 

ดังนั้น ถ้าจะกล่าวว่าเด็กทั่วโลกกำลังขาดแคลนทักษะขั้นพื้นฐานก็ไม่น่าจะผิดนัก มากไปกว่านั้น ทักษะการเชื่อมโยงเหตุผลยังประสบปัญหาอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ผลสำรวจในอินเดียระบุว่า เด็กร้อยละ 86 สามารถตอบได้ว่า กุญแจมีความยาวเท่าไร หากเริ่มวัดสเกลตั้งแต่ 0 แต่เมื่อตั้งคำถามถึงความยาวของดินสอโดยเริ่มวัดสเกลตั้งแต่เลข 2 ขึ้นไป เด็กเกือบร้อยละ 40 กลับไม่สามารถตอบได้ 

ดังนั้น งานศึกษาชิ้นนี้จึงมองว่า เด็กควรเรียนรู้การอ่าน เพื่อสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง (Learn to read, so you can read to learn) พร้อมเสนอว่า ผู้กำหนดนโยบายต้องมีความแน่วแน่ว่า เด็กทุกคนควรบรรลุการอ่าน การเขียน และการคำนวณตามเกณฑ์อายุ ส่วนหน่วยงานด้านการศึกษาควรปฏิรูปหลักสูตร อบรม และควรสนับสนุนการเรียนการสอน เพื่อให้เด็กมีทักษะที่ครอบคลุมทุกด้านของชีวิต 

ขณะที่งานวิจัยเรื่อง Education and Employability: The Critical Role of Foundational Skills (2022) ระบุว่า แม้ทักษะพื้นฐานจะมีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม แต่เด็กส่วนใหญ่ในประเทศกำลังพัฒนากลับไม่ได้รับทักษะพื้นฐานตามที่คาดหวัง จึงทำให้การพัฒนาทักษะเชิงเทคนิค (Technical and Vocational Education Training: TVET) หรือทักษะกลุ่มอาชีวศึกษา มีความติดขัดหรือไม่คุ้มค่าที่จะลงทุน 

แต่ ผศ.ดร.ศุภชัย กลับมองว่า รัฐจำเป็นต้องลงทุนในการพัฒนาทักษะพื้นฐาน ทั้งการเรียนการสอนในสายสามัญก็ดี หรือในสายอาชีพก็ดี ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าให้กับแรงงาน และส่งผลเชิงบวกต่อตลาดการจ้างงานทั้งสายอาชีพและสายสามัญเพราะงานวิจัยล่าสุดของ The Research on Improving Systems of Education (RISE) ยังเสนอว่า การเสริมรากฐานของการพัฒนาทักษะเชิงเทคนิค (TVET) ต้องเริ่มจากการลงทุนในการศึกษาระดับปฐมวัย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการเรียนรู้ทักษะการอ่าน การเขียน และการคำนวณ 

และเมื่อขยับจากภาพใหญ่ทั่วโลกเข้ามาในสังคมไทย ผศ.ดร.ศุภชัย ตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศไทยขาดการพัฒนาทักษะพื้นฐานอย่างเป็นระบบ การเติมเต็มทักษะพื้นฐานมักขึ้นอยู่กับทักษะการสอนของครูแต่ละคนเสียมากกว่า ขณะเดียวกัน ประเทศไทยใช้งบประมาณจำนวนมากช่วยเหลือผู้พิการ เด็ก ผู้สูงอายุ และวัยแรงงาน หากแต่ยังขาดการเติมเต็มนโยบายด้านการพัฒนาทักษะพื้นฐาน เพราะฉะนั้น การลงทุนเพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานโดยการจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นระบบ (resource allocation) จึงเป็นเรื่องเร่งด่วน

ถ้าเรายังไม่หลุดพ้นจากการใช้งบประมาณเพื่อสนับสนุนการบริโภค โดยไม่ได้ใช้เพื่อการลงทุน และไม่ได้เป็นการลงทุนระยะยาวในการพัฒนาคน จะทำให้เราหลุดออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางหรือก้าวพ้นความเหลื่อมล้ำได้ยาก” ผศ.ดร.ศุภชัย สรุป 

หากต้องศึกษาวิจัยเรื่องนี้เพิ่มเติม ดร.สมชัย จิตสุชน ชวนมองต่อไปว่า การมีนโยบายรูปธรรมอาจต้องเริ่มจากการออกแบบงานศึกษาที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรประชาการ (ฐานะ ที่อยู่อาศัย และระดับการศึกษา) กับตัวแปรทักษะต่างๆ เพื่อหาคำตอบว่าทักษะใดสามารถสร้างรายได้ได้ดีที่สุดสำหรับแต่ละกลุ่มประชากร 

นอกจากนี้ ดร.สมชัย ยังเสนอว่า ควรทำวิจัยเชิงนิเวศการเรียนรู้ (learning ecosystem) เพื่อหาปัจจัยที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก เขายกตัวอย่างว่า การใช้เวลาของผู้ปกครองมีผลต่อพัฒนาการเด็ก แต่ปัญหาคือผู้ปกครองซึ่งเป็นกลุ่มประชากรวัยแรงงาน จะมีเวลาอยู่กับครอบครัวมากน้อยเพียงใด

มากไปกว่านั้น การเพิ่มขึ้นของ ครอบครัวแหว่งกลาง’ หรือครอบครัวที่เด็กต้องอยู่อาศัยกับผู้สูงอายุ ยังส่งผลต่อระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ต่างออกไป ทักษะที่จำเป็นจึงอาจครอบคลุมไปถึงทักษะการเลี้ยงดูเด็กของผู้สูงอายุด้วยเช่นกัน 

ข้อสรุปของ ดร.สมชัย คือรัฐไทยไม่ควรกำหนดนโยบายที่ชี้ชัดว่า ทักษะใดคือทักษะที่จำเป็น เพราะโลกหมุนเร็วเกินกว่าจะตามทัน แต่สามารถกำหนดนโยบายเชิง ‘market-based’ หรือส่งเสริมให้กลไกตลาดทำหน้าที่ขับเคลื่อนสังคม เช่น คนที่มีวุฒิการศึกษาต่ำกว่ามัธยมต้น จะได้รับคูปองมูลค่า 6,000 บาท ทุกรอบ 3 ปี สำหรับการฝึกอบรมทักษะใหม่ๆ ตามศูนย์อบรมของเอกชน ซึ่งแต่ละศูนย์จะต้องแข่งขันกันจัดอบรมเพื่อค้นหาทักษะที่จำเป็นในช่วงนั้นๆ 

โดย ดร.สมชัย คาดการณ์ว่า นโยบายนี้อาจใช้งบประมาณเทียบเท่ากับโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเป็นโครงการเชิงสงเคราะห์มากกว่าการลงทุนเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 

เปิดศักราช “อาชีวศึกษายุคใหม่” ต้องพัฒนาหลักสูตรเสริมทักษะการเป็นผู้ประกอบการ

มาถึงมุมมองจากผู้บริหารในด้านอาชีวศึกษา ร.ท.สมพร ปานดำ ยอมรับว่า เด็กที่เรียนในระบบอาชีวศึกษา ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวฐานะยากจนและมีปัญหา นำมาสู่ปัญหาด้านค่าใช้จ่าย การเรียนการสอน และการผลิตผลงานวิชาการ ฉะนั้น หากเด็กในรั้วอาชีวศึกษาได้รับการปลูกฝังทักษะพื้นฐานตั้งแต่ต้น จะทำให้เด็กอยู่ในบรรยากาศของการเรียนรู้ สามารถเรียนจบและมีงานทำได้ 

โดยปัจจุบัน อาชีวศึกษาเปิดสอน 3 หลักสูตร ได้แก่ ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และปริญญาตรีสายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ (ทล.บ.) รวมเป็น 66 สาขาวิชา เนื้อหาสอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น ผู้ประกอบการ และภาคอุตสาหกรรม โดยเน้น hard skills หรือทักษะเชิงเทคนิคเป็นหลัก คณะกรรมการการอาชีวศึกษาพยายามออกแบบหลักสูตรระยะสั้นเพื่อเพิ่ม soft skills ซึ่งเป็นทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น เพื่อสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม และปฏิเสธไม่ได้ว่า ทักษะการอ่านและการสื่อสารภาษาต่างประเทศ อาจเป็นโจทย์สำคัญของอาชีวศึกษาในอนาคต เพราะลำพังทักษะภาคปฏิบัติการ อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดในระยะยาว 

ในมุมของการออกแบบหลักสูตรเพื่อป้อนตลาดแรงงาน ร.ท.สมพร จึงเน้นย้ำในวงเสวนาว่า “การทำงานร่วมกันระหว่างอาชีวศึกษา การศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือกระทั่งเครือข่ายผู้ประกอบการ เป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาอาชีวศึกษาที่อาจสลัดคราบด้านลบได้หมดจด และทักษะผู้ประกอบการและทักษะการเงินการลงทุน อาจทำให้เด็กอาชีวะไม่จำเป็นต้องเป็นลูกจ้างเสมอไป” 

ในส่วนของบทสรุปจากเสวนาครั้งนี้ มีข้อเสนอจาก ดร.สมชัย ที่เน้นย้ำว่าภาครัฐก็ควรทุ่มทรัพยากรอย่างเท่าเทียมเพื่อป้องกันการตกหล่น และแม้จะใช้งบประมาณมหาศาล แต่ย่อมเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า และที่สุดแล้วระบบการประเมินหรือการให้คุณค่าแก่ทักษะที่จำเป็นก็นับว่ามีความสำคัญ เช่น ใบปริญญาหรือเกียรติบัตร อาจไม่ใช่เครื่องมือที่ใช้ประเมินเงินเดือนหรือค่าตอบแทนอีกต่อไป ซึ่งหากมีเครื่องมืออื่นสำหรับตรวจสอบทักษะความสามารถได้โดยตรง ก็อาจเป็นวิธีหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและนำไปสู่ความเท่าเทียมของรายได้ด้วยเช่นกัน 

 

ที่มา ; SALIKA

ความเห็นของผู้ชม

 แสดงความคิดเห็น