ค้นหา

การไฮไลต์ช่วยให้จดจำได้แต่ก็อาจไม่เข้าใจทั้งหมด

เรื่องโดย วรเชษฐ แซ่เจีย

         ในช่วงเวลามากกว่าสิบปีที่ผ่านมา เด็กไทย (และผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อย) ได้รับการปลูกฝังว่าหากใช้ปากกาสีหรือปากกาไฮไลต์เพื่อเน้นข้อความขณะอ่าน จะช่วยให้สามารถจดจำได้ดี จนในยุคสมัยหนึ่งนักเรียนจะต้องมีปากกาเหล่านี้ติดกระเป๋าและกล่องดินสอเต็มไปหมด แต่ปัจจุบันมีงานวิจัยที่รวบรวมการใช้เทคนิคเน้นข้อความต่าง ๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน พบว่า แม้จะช่วยให้จำได้จริง แต่อาจจะไม่ได้ช่วยให้เกิดความเข้าใจก็ได้

 Ponce และทีมนักวิจัยจากประเทศชิลีและสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่งานวิจัยเชิงสังเคราะห์เอกสาร (meta-analysis) ที่เกี่ยวข้องกับการเน้นข้อความโดยนักเรียนและการเน้นข้อความโดยมีการช่วยเหลือจากครูผู้สอน เพื่อศึกษาว่าวิธีใดจะช่วยให้การอ่านบทความเชิงวิชาการของนักเรียนวัยต่าง ๆ เกิดการจดจำและเรียนรู้ได้ดีกว่า
         ผลลัพธ์ก็คือ การเน้นข้อความโดยตัวนักเรียนเองนั้นช่วยให้เกิดการเรียนรู้ได้จริงเมื่อเทียบกับการไม่ใช้เทคนิคดังกล่าว อย่างไรก็ตามการเน้นข้อความอาจให้ผลลัพธ์ไม่ดีมากนักกับเด็กในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (K-12) ทั้งนี้อาจเกิดจากความไม่คุ้นเคยกับธรรมชาติของเอกสารที่เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ วิธีการเขียน และคำศัพท์ที่ใช้ ยิ่งกว่านั้น หากครูได้สอนเทคนิคการเน้นข้อความไว้ให้เป็นเทคนิคการอ่านเสียก่อน เปิดโอกาสให้ฝึกฝน และสอนเทคนิคช่วยจำอื่น ๆ ประกอบ เช่น การใช้แผนภาพ (graphic organizer) การเขียนบันทึกช่วยจำ ก็จะช่วยให้การเน้นข้อความนั้นเสริมประสิทธิภาพการเรียนรู้ของนักเรียนยิ่งขึ้น

นักวิจัยยังพบอีกว่า การเน้นข้อความโดยคุณครูในรูปของการเน้นตัวหนา การเปลี่ยนสีตัวอักษรหรือพื้นหลัง หรือวิธีอื่น ๆ กับเอกสารที่เตรียมไว้ล่วงหน้าก่อนแจกจ่ายให้นักเรียนนั้น ผลจากการสังเคราะห์เอกสารทำให้เห็นว่าช่วยให้นักเรียนมีการจดจำและความเข้าใจมากขึ้น นั่นคือมีการเรียนรู้ดีขึ้นนั่นเอง ทั้งนี้เมื่อเทียบกับนักเรียนที่ได้รับเอกสารปกติ ที่เป็นเช่นนั้นอาจเป็นเพราะการเน้นข้อความสะท้อนให้เห็นว่าส่วนใดที่นักเรียนควรใส่ใจและให้ความสำคัญ อย่างไรก็ตาม หากเน้นไม่ถูกจุดก็ทำให้ส่งผลเสียต่อการเรียนรู้ได้เช่นกัน 

หากอ่านบทความนี้แล้วคุณครูผู้อ่านสนใจ สามารถศึกษาและเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการสอนการอ่านของ EDUCA เช่น
1. วิดีโอของ Teachers as Learners ตอน 
สนุกสนานฝึกทักษะอ่านเขียน-ประถมฯปลาย และคำแนะนำในการประยุกต์
2. วิดีโอรายการจันทร์ปลุกโปรย EP.63 ตอน 
นวัตกรรม 
นำพาอ่านแบบเมตา

3. บทความ How to สอนอ่านอย่างไรให้ถูกวิธี

 

แหล่งอ้างอิง
Terada, Y. & Merrill, S. (2022, December 7). The 10 Most Significant Education Studies of 2022. Edutopia. 
https://www.edutopia.org/article/the-10-most-significant-education-studies-of-2022

Ponce, H. R., Mayer, R. E., & Méndez, E. E. (2022). Effects of Learner-Generated Highlighting and Instructor-Provided Highlighting on Learning from Text: A Meta-Analysis. Educational Psychology Review, 34(2), 989–1024. 
https://doi.org/10.1007/s10648-021-09654-1

 

ที่มา ; EDUCA

ความเห็นของผู้ชม

 แสดงความคิดเห็น