นโยบายแบบไหน เปลี่ยนการศึกษาไทยได้จริง (1)
การศึกษาไทยมีปัญหามานาน ลงรากลึก คุณภาพโดยรวมไม่ค่อยดี ไม่ได้มีแต่เรื่องการเรียนภาษาอังกฤษที่เรียนแล้วใช้งานไม่ได้ แต่จริงๆ มีปัญหาทุกเรื่อง เช่นการ สอบPISA ปี 2018 พบว่าเด็กไทย 60% ไม่ผ่านเกณฑ์นำความรู้มาใช้งานเบื้องต้นได้ โดยครึ่งหนึ่งไม่สามารถใช้คณิตศาสตร์ประยุกต์แก้ปัญหาได้ในโลกจริง
6 มี.ค.2566-Thailand Education Partnership (TEP) หรือภาคีเครือข่ายเพื่อการศึกษาไทย จัดเสวนา หัวข้อ “นโยบายแบบไหน เปลี่ยนการศึกษาไทยได้จริง” พร้อมเปิด เวทีนโยบายการศึกษากับพรรคการเมืองโดยให้ตัวแทนแต่ละพรรคแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับพัฒนาการศึกษาไท
ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ที่ปรึกษาภาคีเพื่อการศึกษาไทย และอดีตประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษากล่าวว่า การจัดเวทีครั้งนี้มีความสำคัญ เพราะการจะทำให้ประเทศเกิดความเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เพราะกติกา แต่เป็นเพราะคน ต้องทำให้คนมีคุณภาพมากขึ้น และการศึกษาเท่านั้นจะเป็นสิ่งที่ทำให้คนมีคุณภาพได้ จึงต้องมีการมาคุยกับพรรคการเมือง เพราะพรรคการเมืองเป็นผู้กำหนดนโยบาย ก่อนนำไปสู่การปฎิบัติ ซึ่งความเห็นพรรคการเมืองต่าง ถือว่าเป็นสัญญาว่าจะเป็นไปตามนโยบายหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ปัญหาการศึกษาไทย ต้องแก้ด้วยการให้ความสำคัญกับหลักสูตรสมรรถนะ ซึ่งทั้งโลกใช้หลักสูตรสมรรถนะกันเยอะมาก และทำกันมานานแล้ว ปัญหาการศึกษาไทยคือ การเรียนแล้วไม่สามารถนำไปใช้ได้จริง เช่น การเรียนภาษาอังกฤษ 16 ปี มากสะกดคำได้ และใช้ไวยยากรณ์ถูกต้อง แต่เอาเข้าจริงกลับไม่สามารถใช้งานไม่ไดื จึงถึงเวลาเราต้องพูดถึงหลักสูตรสมรรถนะ และเราต้องการเห็นนวัตกรรม เพื่อยกระดับคนในประเทศของเรา เพราะการปฎิรูปจะสำเร็จได้ก็อยู่ที่คน
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ นำเสนอ TEP White Paper กล่าวว่า การศึกษาเป็นการสร้างคนต้องใช้ระยะเวลา ไม่ควรเปลี่ยนกันบ่อยๆ วันนี้จะเอาข้อเสนอของภาคีการศึกษาไทย มาเป็นหัวข้อชวนให้พรรคการเมือง ร่วมคิดหนุนเด็กไทยก้าวทันโลก ทั้งนี้ การศึกษาไทยมีปัญหามานาน ลงรากลึก คุณภาพโดยรวมไม่ค่อยดี ไม่ได้มีแต่เรื่องการเรียนภาษาอังกฤษที่เรียนแล้วใช้งานไม่ได้ แต่จริงๆ มีปัญหาทุกเรื่อง เช่นการ สอบPISA ปี 2018 พบว่าเด็กไทย 60% ไม่ผ่านเกณฑ์นำความรู้มาใช้งานเบื้องต้นได้ โดยครึ่งหนึ่งไม่สามารถใช้คณิตศาสตร์ประยุกต์แก้ปัญหาได้ในโลกจริง แม้ว่าจะไม่ใช่ปัญหาซับซ้อนก็ตาม รวมทั้งไม่สามารถใช้ความรู้วิทยาศาสตร์แก้ปัญหาพื้นฐานได้ ดังนั้นภาพรวมการศึกษาไทยจึงถือว่าคุณภาพไม่สูง
เหนือไปกว่านั้นอีก ความเหลื่อมล้ำในสังคมยังมีอยู่มาและสูงไปเรื่อยๆ เด็กไทยผลการเรียนดี กับผลการเรียนไม่ดี สิ่งที่มาอธิบายอยู่ที่ฐานะทางครอบครัวของเด็ก ไม่ได้เกิดจากตัวเด็กเอง สิ่งที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำอย่างยิ่ง เห็นได้จาก คะแนนการอ่านระหว่างเด็กที่มาจากครอบครัวรายได้สูงกับครอบครัวรายได้ต่ำที่เคยห่างกัน 8% พบว่า ได้ขยายกลายเป็น 12 % เมื่อเป็นอย่างนี้โอกาสที่จะสร้างสังคมไทยที่เจริญ และลดความเหลื่อมล้ำให้ต่ำลง ก็คงเป็นไปได้ยาก นี่คือปัญหาที่มีอยู่ก่อน แต่เมื่อเกิดโควิด 19 ระบาด ปัญหาได้ขยายใหญ่ขึ้น โดยเด็กสูญเสียการเรียนรู้ หรือ Learning Lost จากการปิดโรงเรียน ทำให้เวลาเรียนเด็กลดลง เรียนไม่ต่อเนื่อง เด็กจึงมีผลการเรียนลดลงเห็นได้ชัด โดยเฉพาะเด็กปฐมวัย อนุบาล Executive Function หรือความสามารถจัดการ ทักษะการคิด ก็หายไปด้วย และอีกปัญหาช่วงโควิด พบว่ามีเด็กหลุดออกจากนอกระบบมากขึ้น ปี2563-2564 มีเด็กยากจนพิเศษหลุดจากระบบการศึกษา 2.5แสนคน เด็กเหล่านี้ครอบครัว มีรายได้ 1,200 บาทต่อเดือน แต่พอมีโควิดรายได้ลดลงเหลือ 1,100บาท ต่อเดือน การหลุดจากระบบการศึกษาเป็นสัญญาณที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่เด็กไทย ต้องขยับสมรรถนะ ความสามารถ ความรู้ทักษะ และทัศนคติที่มีอยู่ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ขึ้น เพราะมีปัญหาท้าทาย Climate Change จะกระทบกับอาชีพเกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน คนทำงานกลางแจ้ง จะต้องเผชิญกับคลื่นความร้อน จะทำงานแบบเดิมไม่ได้ ดังนั้น คนภาคเกษตรจะไม่สามารถทำงานได้เหมือนเดิม ซึ่งมีแรงงานไทยอยู่ตรงนี้ 30% อีกทั้ง การเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า แทนรถยนต์ที่เป็นสันดาป จะเปลี่ยนอุตสาหกรรมยานยนต์และการเรียนการสอนอาชีวะ
ที่สำคัญ จะลืมไม่ได้เลยคือ การที่เทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ เกิดการแปลงก้าวกระโดด ครั้งใหญ่ ซึ่งเกิดต่อเนื่องมา 30 ปี โดยคอมพิวเตอร์เอาชนะคนเล่นหมากรุก เล่นหมากล้อม และในที่สุดคอมพิวเตอร์ ก็สามารถพูดคุยสนทนากับคนได้ โดยเอไอ เปรียบเสมือน คนที่จบมหาวิทยาลัยและมีความรู้ด้านภาษาดีมาก ที่เพิ่งออกมา 2-3 เดือน และเราคงเห็นแล้วว่ามีการแข่งขันกันของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ก็จะเกิดการก้าวกระโดดปฎิวัติทักษะเทคโนโลยีครั้งใหญ่ ทำให้ทักษะที่เรียนที่สอนกันในมหาวิทยาลัย โรงเรียนล้าหลังไป
ทั้งนี้ ในการปฎิรูปการศึกษา เด็กไทยจำเป็นต้องการทักษะใหม่ คือ ทักษะการคิดขั้นสูง Higher Thinking แปลว่านอกจากคิดเชิงพื้นฐานได้แล้ว ยังต้องคิดเชิงวิพากษ์ มีความคิดสร้างสรรค์ มีความสามารถสื่อสาร ทำงานเป็นทีมได้ และที่สำคัญต้องใช้เทคโนโลยีเป็น ต้องมีจิตใจที่มี Growing mindset ที่เชื่อว่าคนสามารถพัฒนาให้ต่อเนื่องได้ และสามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว นี่คือ ทางออกการศึกษาไทย
ดร.สมเกียรติ ได้หยิบยก 4ปัญหาการศึกษาไทยคือ
1. หลักสูตรที่ใช้ปัจจุบันล้าสมัยแล้ว เพราะใช้ตั้งแต่ปี 2551 แม้จะมีการปรับเล็กปรับน้อยบ้าง แต่โดยพื้นฐานไม่ได้เอื้อต่อการสร้างสมรรถนะการเรียนรู้ของเด็ก การปฎิรูปการศึกษาใดๆ จะไม่สามารถทำได้ หากไม่แก้หลักสูตรให้ทันสมัยพอ สามารถสร้างสมรรถนะ ความสามารถให้กับนักเรียน ที่จะไปเรียนรู้ต่อยอดในอนาคต หลักสูตรของเราที่มีอยู่แม้จะมีการปรับเล็กบ้าง แต่ยังไม่ตอบโจทย์ แม้จะเน้นสมรรถนะบ้าง แต่ยังขาดไปหลายวิชามาก ไม่มีการโครงสร้างเวลาการเรียนรู้ ที่มีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับดัชนีชี้วัด หรือ KPI ที่กำหนดไว้2 พันตัว ทำให้ครูไม่มีเวลาเหลือพอที่จะสอนในแนวทางใหม่ หรือให้นักเรียนทดลองทำจริง
“ประเทศไทย เสียโอกาส จากหลักสูตรล้าสมัย แม้มีความพยายามปรับหลักสูตร ให้มีลักษณะอิงกับสมรรถนะ แต่พอจะเอามาใช้ แต่ก็มีการไม่ส่งเสริมจากทางฟากการเมือง ซึ่งบางคนบอกว่าถ้าเปลี่ยนจะกระทบกับสำนักพิมพ์ตำรา และเป็นภาระพ่อแม่ ซึ่งไม่จริง เพราะรัฐบาลมีนโยบายเรียนฟรี 15 ปี สังคมจึงสงสัยว่าที่ไม่ปรับหลักสูตรเพราะกระทบกับผลประโยชน์สำนักพิมพ์หรือขวางผลประโยชน์ “
ดร.สมเกียรติ ยกตัวอย่างการปรับเปลี่ยนหลักสูตรที่เสนอ วิชาที่กระทรวงศึกษาให้ความสำคัญ คือวิชาประวัติศาสตร์ที่มีดัชนีชี้วัดการคิดขั้นสูงน้อยมาก ในบรรดา 71 ดัชนีชี้วัด วิชานี้มี 6 ตัวเท่านั้นที่เป็นการวัด Higher Thinking ซึ่งการคิดขั้นสูง จะเป็นตัวทำให้เด็กอยู่รอดได้ในโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว แต่ในความเป็นจริงกว่าที่จะให้เด็กเกิดการคิดขั้นสูง ต้องรอถึงม.1 แสดงว่า 6ปีแรกการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ขาดทุนไปแล้ว
2. โครงสร้างประชากรของไทย เด็กเกิดน้อยลง จากปีละ 1 ล้านคน เหลือ 5แสนคน โรงเรียนในสพฐ. นักเรียนในสังกัดลดลง 7แสนคนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รร.ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ กลายไปเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่เพิ่มขึ้น 2,200โรง กลายเป็นโจทย์ใหญ่ ทำให้โรงเรียนมีครูไม่ครบวิชา ทำให้ต้นทุนการศึกษาสูง ไม่สามารถบริหารจัดการศึกษาให้มีคุณภาพได้ ง ซึ่งโรงเรียนขนาดเล็กนี้จะมีต้นทุนบริหารจัดการการศึกษาที่สูงขึ้น แต่ยังไม่ได้การศึกษาที่ดี ปัญหานี้เราต้องก้าวข้ามให้ได้ ถึงแม้จะมีความพยายามเกลี่ยครู จากโรงเรียนที่เกินมาโรงเรียนที่ขาด โดยเรายังขาดครูอีก22,000 คน ซึ่งปัญหานี้ธนาคารโลกได้เสนอแนวทางแก้ปัญหา ให้มีการควบรวมโรงเรียนเล็ก จัดสรรโรงเรียนที่ห่างไกล ได้รับงบฯเพิ่มขึ้น มีโรงเรียนที่ห่างไกลเรียกว่าเป็น Protected School เพื่อให้การศึกษาที่มีคุณภาพดีขึ้น ประหยัดงบประมาณ แม้รัฐจะออกค่าเดินทางให้กับนักเรียน แต่ก็ยังใช้งบถูกลง 800 ล้านบาท
3. มีแนวโน้มการละเมิดสิทธิเสรีภาพของนักเรียนเพิ่มขึ้น เมื่อสังคมเปลี่ยนไป การเลี้ยงดูของพ่อแม่เปลี่ยนไป พ่อแม่มีแนวคิดเสรีนิยมเพิ่มขึ้น แต่แนวทางการศึกษายังออกไปทางอนุรักษ์นิยม ก็ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นได้ปัญหาการละเมิดสิทธิเสรีภาพในโรงเรียน ศธ. ประกาศห้ามลงโทษรุนแรง แต่ก็ปรากฎยังมีการทำ และการละเมิดสิทธิเสรีภาพ หรือการบูลลี่กันในโรงเรียน ได้ทำให้นักเรียน ได้รับความเดือดร้อน และมีผลกระทบทางจิตใจ ซึ่งผลกระทบทางจิตใจทำให้ทักษะการคิด แย่ลง ลองคิดดูถ้าไปโรงเรียนแล้วไปอยู่ท่ามกลางวัฒนธรรมแห่งความกลัว จะทำให้ไม่สามารถเรียนรู้ได้ หรือเกิดการคิดขั้นพื้นฐาน หรือขั้นสูงไม่ได้ด้วยเช่นกัน หากปฎิรูป ให้ัการศึกษาไทยให้มีทักษะคิดขั้นสูง ดังนั้นโรงเรียนจึงต้องมีความปลอดภัย
4. ถ้าเราต้องการเปลี่ยนแปลงการศึกษาใน 3เรื่องข้างต้น เราจะต้องเปลี่ยนวิธีคิด วัฒนธรรมการทำงาน ต้องกล้าทดลองทำสิ่งใหม่ เพราะถ้ายึดติดกับสิ่งเก่าเราจะไม่สามารถก้าวข้ามทำสิ่งที่ท้าทายใหม่ๆได้ ต้องปรับวัฒนธรรม ให้กล้าทำสิ่งใหม่ กล้าคั้งคำถามกับสิ่งทีเคยปฎิบัติมา กล้าทดลองสร้างนวัตกรรมหใม่ เรียนรู้ความสำเร็จจากความล้มเหลว
ดร.สมเกียรติ กล่าวต่อว่า ภาคีการศึกษาไทยได้ทำข้อเสนอเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย 5 เรื่อง คือ
1.ต้องปรับหลักสูตรแกนกลางให้สำเร็จ อยากเห็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และรัฐบาลใหม่ มีหลักสูตรที่อ้างอิงกับฐานการเรียนรู้ และทำให้นักเรียนเกิดสมรรถนะเรียนรู้ภายใน 3 ปี โดยสามารถใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะที่มีร่างอยู่แล้ว มาปรับปรุงต่อยอด ทดลอง ซึ่งขณะนี้ มีการนำหลักสูตรสมรรถนะ ในพื้นที่นวัตกรรมแล้ว และมีการให้คูปองครู ในการช่วยพัฒนาครู เพราะการจัดการศึกษาใหม่ ต้องพัฒนาครูพร้อมไปด้วย เพื่อให้ครูสามารถสอนโดยออกแบบการสอน ที่มีการให้เด็กทำจริง เพราะสมรรถนะไม่ได้เกิดจากการเล็กเชอร์ ต้องเกิดจากการทำจริงเท่านั้น ครูต้องสามารถประเมินการพัฒนาการของเด็กได้ ซึ่งตรงนี้เป็นหัวใจของการเปลี่ยนแปลง จึงอยากเห็นรัฐบาลใหม่ ประกาศแนวนโยบายนี้ให้ชัดเจน เปิดหาแนวร่วมช่วยกันเดินหน้า อย่าไปชะลอการปรับเปลี่ยนดังกล่าว เพราะการขัดขวางของกลุ่มผลประโยขน์
2.การบรหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก เหลือโรงเรียนเน็ตเวิร์ค ฮับ สกูล ต้องมีการให้ทรัพยากรพิเศษพร้อมกับโรงเรียนห่างไกล ที่ไม่สามารถควบรวม หรือยุบได้ ทำอย่างไรจะให้ครูไปอยู่โรงเรียนที่มีความสำคัญ พรรคการเมืองอาจต้องสร้างแรงจูงใจครู ส่วนการยุบโรงเรียน ที่ศธ.เจออุปสรรคแรงต้านจากท้องถิ่นอาจแก้ด้วย การมอบพื้นที่โรงเรียน ให้ท้องถิ่นนำไปใช้ประโยชน์รูปแบบอื่น
3. รมว.ศธ. คนใหม่ จะต้องส่งสัญญาณ ให้มีการปรับหลักสูตร ที่เป็นสมรรถนะ และการเรียนต้องเป็นแบบ Active Learning เพราะฉะนั้นจะไม่มีเวลาทำกิจกรรม ที่ไม่มีปรดโยชนต่อการเรียนรู้ เปิดไฟเขียว ให้รร. หรือจังหวัด ปฎิเสธ โครงการที่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ เพื่อนำครูกลับสู่ห้องเรียน
4. การประกาศนโยบายการไม่ยอมรับความรุนแรงในโรงเรียน สื่อสารให้เด็ก ผู้ปกครองรู้มาตรการป้องกันตนเอง มีกลไกประเมินความปลอดภัยของโรงเรียนเป็นดัชนีชี้วัดตัวหนึ่ง ในการประเมินโรงเรียน
.5. ท่าทีของรมว.ศธ. ประกาศท่าทีแล้วทำให้เป็นตัวอย่าง ว่าต้องเป็นวิธีการทำงานแบบใหม่ ให้โรงเรียนมีการกล้าทดลอง สนับสนุนนักเรียนทำสิ่งที่ดี เพื่อให้เกิดวัฒนธรรมแบบใหม่ ครู ก็กล้าที่จะทำสิ่งใหม่ๆ ทั้งวิชาการและการเรียนการสอน ส่งเสริมเรียนรู้ความผิดพลาด
ที่มา ; ไทยโพสต์ 6 มีนาคม 2566
ข่าวต่อเนื่องกัน
นโยบายแบบไหน เปลี่ยนการศึกษาไทยได้จริง (2)
จากการเสวนา หัวข้อ “นโยบายแบบไหน เปลี่ยนการศึกษาไทยได้จริง” ที่จัดขึ้นโดยภาคีเครือข่ายเพื่อการศึกษาไทย หรือ Thailand Education Partnership (TEP) โดยเชิญตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆมาขึ้นเวที เพื่อบอกกล่าวนโยบายการศึกษาของแต่ละพรรค พร้อมกับแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษาไทย ว่าควรไปในทิศทางใด
โดยก่อนหน้านี้ ทาง ภาคีเครือข่ายเพื่อการศึกษาไทย โดยดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ได้เปิดสมุดปกขาว ที่เป็นข้อเสนอ 5 ช้อ ให้พรรคการเมืองที่จะมาเป็นรัฐบาสมัยหน้า นำไปพิจารณา ก่อนประกาศเป็นนโยบายการศึกษาของพรรคต่อไป ข้อเสนอ 5ข้อ ได้แก่ 1.ควรเร่งปรับให้มีหลักสูตรแกนกลางใหม่ภายใน 3 ปี โดยออกแบบให้เป็นหลักสูตรที่อิงกับฐานสมรรถนะ 2. กำหนดนโยบายให้กระทรวงศึกษาธิการมีเป้าหมายและแผนการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กที่ชัดเจน 3. กำหนดนโยบายให้กระทรวงศึกษาธิการ และประสานหน่วยงานต้นสังกัดสถานศึกษาอื่น ให้ทบทวนและยกเลิกโครงการ ที่ม่ตอบโจทย์การเรียนรู้ของนักเรียนในหลักสูตรใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี 4. ประกาศนโยบายไม่ยอมรับความรุนแรงในสถานศึกษาและ 5. สร้างตัวอย่างให้ผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการมีวัฒนธรรมแบบใหม่ในการทำงานที่เปิดกว้างในการรับฟังความเห็น กล้าทดลองสิ่งใหม่
พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล กล่าวว่า พรรคฯได้กำหนดนโยบายด้านการศึกษา และประกาศไปเมื่อ 14 ม.ค.66 ภาพรวมทั้ง 5 ข้อเห็นตรงกันในหลายส่วน ในส่วนของหลักสูตร ทางพรรคขอยืนยันว่ามีความเห็นตรงกันในการมีหลักสูตรใหม่ ที่เน้นทักษะใช้ได้จริง เน้นฐานสมรรถนะ และจะทำให้หลักสูตรใหม่เสร็จภายใน 1 ปี หากพรรคได้เป็นรัฐบาล หลักฐานที่ปรากฎชัดเจนที่สุดว่าเมืองไทยจะต้องมีการปฏิรูปหลักสูตร คือ สถิติที่บ่งบอกว่าเด็กไทยเรียนหนักเป็นอันดับต้นๆของโลก แต่ในปัจจุบันกลับมีทักษะที่ตามหลังหลายๆประเทศ โดยด้านวิทยาศาตร์และคณิตศาสตร์อยู่ในอันดับที่ 50 กว่า จาก 78 ประเทศทั่วโลก ด้านการอ่านอยู่ในอันดับที่ 50 กว่า จาก 79 ประเทศทั่วโลก และด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษ อันดับที่ 97 จาก 100 ประเทศทั่วโลก เพราะฉะนั้นปัญหาปัจจุบันที่เด็กไม่มีทักษะที่แข่งกับนานาชาติได้ ไม่ใช่เพราะเด็กไทยไม่ขยันแต่ระบบและหลักสูตรไม่สามารถแปรความขยันของนักเรียนออกเป็นทักษะที่แข่งกับนานาชาติได้
ถามว่าในหลักสูตรใหม่ ถ้ามีการวางเป้าหมายตรงกัน ในเรื่องของทักษะที่ใช้ได้จริง เช่น การประกอบอาชีพ หรือการใช้ชีวิต สรุปองค์ประกอบได้ 6 ข้อ ได้ 2ปรับ 2ลด 2เพิ่ม คือ ปรับที่ 1 คือ ปรับวิชาและเป้าหมายของวิชาที่มีอยู่ ปรับที่ 2 คือ ปรับวิธีการสอน เปลี่ยนบทบาทครูจากหน้าห้อง มาอยู่หลังห้อง โดยมีกิจกรรมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น วิเคราะห์ ที่ช่วยบ่มเพาะทักษะในโลกอนาคต ทำงานเป็นทีม หรือการรับมือกับสภาวะทางอารมณ์ต่างๆ ส่วนลดที่ 1 คือ ลดจำนวนชั่วโมง ตามหลักสากลอยู่ที่ 800-1,000 ชั่วโมง เพราะปัจจุบันเด็กไทยเรียนหนักมากถึง 1,200 ชั่วโมงต่อปี ลดที่ 2 คือ ลดการบ้านและการสอบแข่งขัน ที่เป็นตัวเพิ่มปัญหาเรื่องความเครียด และภาวะทางสุขภาพจิตให้แก่เยาวชน ส่วนเพิ่มที่ 1 คือ เพิ่มเสรีภาพทางการเรียนรู้ ให้นักเรียนมีอิสระภาพเลือกเรียนวิชาที่สนใจ ลดวิชาบังคับเพิ่มวิชาทางเลือก และเพิ่มที่ 2 คือ เพิ่มการตรวจสอบ ให้เนื้อหาเรียนสอดคล้องกับข้อสอบได้
“ทั้งนี้อยากให้มองไกลไปอีกคือการส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียน โดยทางพรรคจะมีนโยบายคูปองเปิดโลก 1,200 บาทต่อปี ให้เด็กนำไปใช้ในการเรียนรู้นอกห้องเรียน มองไกลคือ หลักสูตรต้องมีความยืดหยุ่นสามารถปรับได้ตามกาลเปลี่ยนแปลงของโลก และเกิดการทบทวนอย่างสม่ำเสมอ “นายพริษฐ์กล่าว
ตัวแทนพรรคก้าวไกล ยังเสนอการป้องกันการละเมิดสิทธิเสรีภาพและการใช้ความรุนแรงจากสถานศึกษา โดยมีหัวใจสำคัญคือ ต้องทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยและไร้อำนาจนิยม เพระความรู้สึกปลอดภัยของนักเรียนในโรงเรียน ส่งผลโดยตรงต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา แบ่งเป็น 2 มิติ คือ 1.คุ้มครองสิทธิของนักเรียนให้ไม่ถูกละเมิดสิทธิ ปราศจากอำนาจนิยม วิธีการแก้ปัญหาคือ 1.กฎระเบียบของ รร.ต้องไม่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน 2.อบรมครู ไม่ละเมิดสิทธิของนักเรียน 3.หากพบการละเมิดสิทธินักเรียน จะต้องพักใบประกอบวิชาชีพครู 4.ต้องมีช่องทางร้องเรียนอิสระจากเขตพื้นที่และโรงเรียน และ ปัญหาที่2. คือปัญหาสุขภาพจิต เป็นปัญหาที่รุนแรงมาก จากสถิติพบว่า 1 ใน 5 ของผู้เรียนมีสภาวะซึมเศร้าไม่มากก็น้อย การแก้ปัญหา คือ 1.ให้การเข้าถึงช่องการรักษา เช่น นักจิตวิทยาประจำรร. คลินิกเยาวชน โดยไม่ต้องได้รับการยินยอมจากครูหรือผู้ปกครอง 2.มีเครื่องมือคัดกรอง เพื่อประเมินความเสี่ยงนักเรียนที่อาจจะมีปัญหาสุขภาพจิต 3.การป้องกัน คือ สร้างระบบการศึกษาที่ลดความเครียด ไม่ว่าจะเป็นชั่วโมงเรียน การบ้าน ข้อสอบ และปรับพฤติกรรมครูที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้เรียน
ภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ผอ.คณะกรรมการประสานงานองค์กรเครือข่ายภายนอกพรรค และกรรมการด้านเทคโนโลยี พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)กล่าวว่า มาวันนี้ไม่ได้มานำเสนออะไรที่ใหม่ แต่มารับข้อเสนอทั้งหมดที่ภาคีเพื่อการศึกษาไทยทำไว้ ส่วนเรื่องโรงเรียนที่เป็นพื้นที่นวัตกรรม มีกรอบ พ.ร.บ.นวัตกรรม แต่มีความพยายามที่ยุบพ.รบ.นี้ และสนับสนุนพรบ.ตัวใหม่ที่ยังไม่ออกมา มีประมาณ 10 กว่ามาตรา ที่ผ่านแล้ว เหลือประมาณกว่า 100 มาตราที่ต้องพิจารณา ตรงนี้จะเป็นหลักสำคัญที่จะนำไปสู่การปรับโครงสร้างทำหลักสูตรใหม่ เพราะจะมีองค์กรมหาชนเกิดขึ้น เช่น องค์กรที่ทำหลักสูตรโดยเฉพาะ ทางสสวท. มีคณะอนุกรรมการ มีการเข้าไปทำหลักสูตรในเชิงนวัตกรรมไว้เรียบร้อย หากปชป.ได้เป็นรัฐบาลก็จะเปิดไฟเขียวในส่วนนี้
ดร.นันทพร ดำรงพงศ์ รองเลขาธิการพรรค และกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า นโยบายคือ เรียนในสิ่งที่ใช่ ใช้ในสิ่งที่เรียน มีความหมายคือ จะต้องไม่ฝืนการเป็นเด็กรุ่นใหม่ เพราะต้องยอมรับว่าเด็กประเภท GEN Z คือ 1.ต้องรวยเร็ว 2.ชอบโซเชียลมีเดีย 3.อารมณ์อ่อนไหว ความอดทนน้อย ไม่ชอบเป็นลูกน้องใครต้องการเป็นนายตนเอง ดังนั้นภายใต้บริบทของโลกยุคใหม่ ที่มีความเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและรุนแรงมาก โดยเฉพาะสถานการณ์โควิดทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษาต้องหันมามองการปรับตัวอย่างไร ต่อไปนี้การเรียนการสอนไม่ใช่อุปสรรค แต่จะทำอย่างไรที่จะทำให้กฎกติกา ที่กระทรวงศึกษาฯเคยกำหนดไว้ว่า เรียน 55% ผลลัพธ์การเรียนรู้ 45% และนำผลลัพธ์มาทำให้เกิดประโยชน์จริงได้ เช่น วิชาที่เด็กอยากเรียน เด็กต้องมีสิทธิที่จะออกแบบ ครูและครอบครัวต้องช่วยบูรณาการให้เกิดสิ่งเหล่านี้ และอยากให้เด็กมีความคิดที่ล้มแล้วลุกได้ เนื่องจากเทคโนโลยีมีทั้งบวกและลบ เพราะฉะนั้นต้องทำโครงการที่ช่วยกระตุ้นให้เด็กภูมิใจในตัวเอง
ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม กรรมการบริหารพรรค และประธานคณะทำงานด้านการส่งเสริมศักยภาพของประเทศและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ทางพรรคคิดว่าการศึกษาคือการเรียนรู้ตลอดชีวิต ดังนั้นการศึกษาจะจำกัดอยู่แค่ในพื้นที่โรงเรียนไม่ได้ และควรให้ความสำคัญกับโรงเรียนขนาดเล็ก เพราะคิดว่านี่คือวิถีชีวิต วิถีชุมชน นโยบายที่สำคัญคือ เรื่อง Oone family one soft power สืบเนื่องกับนโยบายสมัยไทยรักไทย คือ OTOP นโยบายข้อที่ 5 คือ จะปิดโรงเรียนขนาดเล็กที่มีกว่า 14,000 โรงเรียน และเพิ่มขึ้นอีก 2,000 โรงเรียน หลายโรงเรียนต้องมีความเข้มแข็งในตัวเอง พร้อมกับส่งเสริมและทำวิสาหกิจชุมชนขนาดเล็ก มีเครื่องมือสื่อสาร หรือฟรีอินเตอร์เน็ต ให้นักเรียนและครู ชุมชน เพื่อให้เกิดนวัตกรรมในชุมชน ภายใต้แนวคิด LEARN TO EARN เพราะในครอบครัวที่มีรายได้น้อยนำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำทางสังคม
พรชัย มาระเนตร คณะทำงานร่างนโยบาย พรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กไม่ใช่เรื่องของโรงเรียน แต่เป็นการจัดการนักเรียนที่เรียนได้อย่างไร ซึ่งแนวคิดสำคัญที่สุด คือ การนำดิจิทัลแพลตฟอร์มมาใช้เป็น sandbox ที่สำคัญของระบบการศึกษาไทย สตาร์ทอัพที่เป็น EdTech ทั่วประเทศต้องมีการเชื่อมโยงกับภาคราชการในการสร้างนวัตกรรมทางการศึกษา ต้องทำให้นักเรียนจากทั้งโรงเรียนเล็กหรือโรงเรียนใหญ่ มีความเท่าเทียมกันของข้อมูล นำไปสู่การพัฒนาและโจทย์ที่ชัดเจนขึ้น ส่วนที่อยากจะให้เกิดการผลักดันคือ บิ๊กดาต้า ของเด็กทุกคน โดยเก็บข้อมูลตั้งแต่แม่มาฝากครรภ์ การเข้าโรงเรียน เพื่อสร้างระบบการช่วยเหลือหากมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับตัวเด็ก ที่จะช่วยเด็กที่ครอบครัวแหว่งกลาง
ในส่วนของการปรับวัฒนธรรมการทำงานให้กล้าทำสิ่งใหม่ มีข้อเสนอ 2 อย่าง ได้แก่ 1.คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครองต้องเข้มแข็ง 2.รื้อธรรมนูญโรงเรียน ซึ่งทางกระทรวงศึกษาฯ ได้ให้ทางโรงเรียนจัดทำ แต่พบว่าส่วนใหญ่มีการคัดลอกกัน ซึ่งธรรมนูญโรงเรียน ต้องระบุสิทธิและหน้าที่ของนักเรียนมีอะไรบ้าง บทลงโทษต้องชัดเจน และให้คณะกรรมการสถานศึกษาสามารถเลือกผู้อำนวยการโรงเรียนได้ด้วยตนเอง เพราะนี่คือสิ่งที่ครูต้องการจริงๆ เนื่องจากผอ.รร. ที่มาจากการสรรหา จะเกิดความรับผิดชอบและแข่งขัน โรงเรียนที่มีการแข่งขันจะนำไปสู่การพัฒนาตัวเอง คูปองการศึกษาสำคัญเนื่องจากจะนำไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต
นาวาอากาศตรีศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรค พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า ในข้อเสนอโรงเรียนขนาดเล็ก การที่จะปรับข้อ 2 ข้อ 3 ข้อ 4 และข้อ 5 ประเด็นอยู่ที่ข้อ 1 ถ้ายังปรับแกนกลางในการศึกษาไม่ได้ จะไม่สามารถปรับอะไรได้เลย ครูต้องเป็นผู้นำกระบวนการเรียนรู้ เหมือนกับทุกโรงเรียนที่เจริญแล้วทั่วโลกทำ อาจจะลดการเรียนของเด็กให้ลดลงได้ประมาณ 60-70% สอนให้เด็กและวิเคราะห์ข้อมูล ครูเกิดการเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก ซึ่งปัจจุบันหลักสูตรเดิมของไทยไม่สามารถที่จะพัฒนาเด็กได้เลย เพราะไทยไม่ได้สอนเด็กให้เป็นไปตาม demand และ supply ของโลก เพราะขณะนี้การสอนเด็กเพียงเพื่อให้สอบเข้าสถานศึกษาดีๆเพื่อได้รับปริญญา และตกงานในอนาคต ซึ่งในต่างประเทศจะสอนเด็กให้รู้จักการใช้ AI แต่ประเทศไทยกำลังสอนเด็กให้ไปแข่งกับ AI ดังนั้นเมื่อทราบอยู่แล้วว่ามีการขาดแคลนบุคลากรทางการศึกษากว่า 20,000 คน ซึ่งไม่มีทางที่จะเติมส่วนให้เต็มได้ ดังนั้นวิธีการปรับแกนกลางก็จะทำให้นักเรียนที่เรียนในโรงเรียนห่างไกลและนำเทคโนโลยีเข้าช่วย ก็จะสามารถช่วยบริหารทรัพยากรครูที่มีอยู่จำกัดได้ในภาวะปัจจุบัน เด็กก็จะสามารถเติบโตไปเป็นประชากรที่ดีได้
ส่วนงบฯ กระทรวงศึกษาที่ได้ถึง 20% หรือเท่ากับ 1ใน5 ของงบฯทั้งหมด แต่ไม่รู้เด็กมีพัฒนาการขนาดไหน คนที่มาเป็น รมว.กระทรวงศึกษาฯ ก็มาจากโควต้าทางการเมือง ที่แบ่งเกรดกระทรวง เป็น A , B , C ระบบการศึกษาจึงไม่สามารถพัฒนาได้ ซึ่งงบฯ 25% ใช้ในการตอบโจทย์นักการเมือง ไม่ได้ตอบโจทย์การศึกษา ดังนั้นการเลือก รมว.ศึกษาฯ ไม่ควรคัดจากนักการเมือง ควรจะให้องค์กรทางการศึกษาร่วมกันโหวต เพราะหากโดนคัดเลือกเข้ามาร่วมแล้วทำงานไม่ได้ก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน และสามารถลลงมติเเพื่อโหวตให้ปลดรัฐมนตรีได้ และสามารถจะทำให้ปรับแกนกลางทางการศึกษาได้
ผศ.ดร.บุญส่ง ชเลธร ผอ.การเลือกตั้ง พรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า คำถามว่าการแก้ปัญหาด้านการศึกษา คำตอบที่อยู่ในใจสิ่งแรกที่จะต้องทำ คือ ยุบกระทรวงศึกษาฯ แต่ไม่ใช่การยุบจริง แต่หมายถึงการสะท้อนความรู้สึกว่ากระทรวงศึกษาฯ มีการบริหารที่เละเทะมาก เพราะผลลัพธ์ทางการศึกษาที่เกิดขึ้นมีความด้อยลงทุกวัน วันนี้โลกเปลี่ยนไปมาก เช่น ห่วงนักเรียนเรียนภาษาอังกฤษ หรือคณิตศาสตร์ไม่ทัน ย้อนมองดูว่าโลกทุกวันนี้ยังจำเป็นต้องเรียนภาษาอังกฤษอยู่ไหม เพราะก็มีเครื่องแปลภาษารองรับได้ถึง 40 ภาษา สามารถพูดกับใครก็ได้ นี่จึงอาจจะเป็นส่วนที่ทำให้ครูตามไม่ทันโลก ไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะผลักดันให้การศึกษาไทยก้าวทันโลก หรือนักเรียนมีคุณภาพขึ้นได้ จึงต้องมองย้อนกลับไปที่ต้นน้ำ คือ สถาบันผลิตครู สะท้อนให้เห็นว่าต้นทางการศึกษาที่ผลิตครูยังไม่สามารถสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพมาทำงานในระบบการศึกษา ดังนั้นสิ่งแรกคือการปฏิรูปกระบวนการการศึกษาการผลิตครูทั้งระบบ
ส่วนนักเรียนต้องการแสดงความคิดและกล้าแสดงออก แต่ความรุนแรงในโรงเรียน และความรุนแรงระหว่างเด็กกับเด็ก ระหว่างเด็กกับครู และระหว่างเด็กกับรัฐ ในส่วนนี้ คือบางครั้งรัฐตั้งกฎระเบียบ ข้อบังคับ ที่ละเมิดสิทธินักเรียน เข่น การกล้อนผม แต่ทั้งนี้ โรงเรียนจะต้องไม่มีสิทธิไล่เด็กออกจากโรงเรียนไม่ว่าจะกรณีใดๆทั้งสิ้น ส่วนหลักสูตรการศึกษา ที่ต้องปรับคือ การลดเวลาเรียนลงด้วยระบบ 5 -4- 3 คือ เรียนประถมศึกษา 5 ปี เรียนมัธยมศึกษา 4 ปี และเรียนมหาวิทยาลัย 3 ปี เพื่อเด็กได้ใช้ชีวิตกับความเป็นจริง
ดร.กมล รอดคล้าย ผอ.ยุทธศาสตร์ด้านการศึกษา พรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงข้อเสนอการยกเลิกโครงการที่ไม่ตอบโจทย์การเรียนรู้ และการกระจายงบประมาณให้กับ รร.ว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ต้องทำให้โรงเรียนลดโครงการไม่ตอบโจทย์การเรียนลงเหลือประมาณ 7-10 โครง เฉลี่ย 10% จาก70-80 โครงการ ให้เหลือแต่โครงการหลักที่รร.ต้องทำตามนโยบายภาพรวมของประเทศ โครงการที่มีความสอดคล้องกับความจำเป็นของพื้นที่ และโครงการที่รร.มีความสนใจ และหัวใจสำคัญคือสพฐ. ต้องกล้าประกาศว่าโครงการต่างๆจะต้องไม่ลงไปที่โรงเรียนโดยตรง หากไม่ผ่านการคัดกรองจากส่วนกลาง หรือระดับเขตพื้นที่ ส่วนเรื่องงบฯ ควรให้งบฯกับโรงเรียนไปทีเดียว ไม่ต้องแยกให้ทีละโครงการ และให้โรงเรียนไปจัดการเอง
ปัญหาการป้องกันการละเมิดสิทธิและใช้ความรุนแรงในสถานศึกษา ปัญหานี้สำคัญกว่าปัญหาของหลักสูตรอีก ความรุนแรงจากบุคคล ที่เกิดเพื่อนกลั่นแกล้ง ถูกบูลลี่ หรือถูกครูกล้อนผม ซึ่งครูแนะแนวในปัจจุบันจะแนะแนวการศึกษาและอาชีพ แต่จริงๆต้องแนะแนวทักษะชีวิตให้เด็กเอาตัวรอดในสังคม โดยมีช่องทางที่เด็กเข้าถึงการน้องเรียน และมีเครือข่ายเข้าช่วยเหลือ และต้องการข้อลงโทษาให้ชัดเจนสำหรับผู้กระทำผิดไม่ว่าจะอยู่ในระดับใด
“ในส่วนของข้อเสนอการปรับวัฒนธรรมในการทำงานให้กล้าทำสิ่งใหม่ วัฒนธรรมองค์กรเป็นเรื่องที่เปลี่ยนยาก เพราะส่วนใหญ่จะติดอยู่ในกรอบเดิมๆ ดังนั้นต้องเริ่มจากครู ที่เป็นผู้รับผลโดยตรง จะต้องเป็นผู้ปฏิบัตินำเด็ก โดยใช้นโยบาย 1L 4M 1R คือ 1L เป็นการฝึกให้ครูที่เขียนผลงานวิชาการ ให้ลองนำผลงานไปปฏิบัติจริง โดยภาครัฐต้องสนับสนุน 4M เพื่องานวิจัยและสนับสนุนข้อมูล ให้ได้รูปธรรม เมื่อได้ผลจะต้องได้รางวัล ที่จะส่งผลต่อการแก้ปัญหาของหลักสูตร”นายกมลกล่าว
ที่มา ; ไทยโพสต์ มีนาคม 2566
เกี่ยวข้องกัน
นโยบายแบบไหนเปลี่ยนการศึกษาไทยได้จริง
ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ภาคีเพื่อการศึกษาไทย หรือ (Thailand Education Partnership :TEP) จัดเวทีนโยบายการศึกษากับพรรคการเมือง (TEP Policy Forum) เชิญตัวแทนจากพรรคการเมืองที่สนใจการพัฒนาการศึกษาไทย จำนวน 8 พรรคการเมือง ร่วมประชันวิสัยทัศน์ “นโยบายแบบไหน เปลี่ยนการศึกษาไทยได้จริง”
รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ที่ปรึกษาภาคีเพื่อการศึกษาไทย และอดีตประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาได้พยายามแก้ไขปัญหาภาพรวม โดยการดำเนินงานปฏิรูปการศึกษา หรือ 5 Big Rock คือ
1. การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัย
2. การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21
3. การปฏิรูปกลไกและระบบผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพมาตรฐาน
4. การจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีและระบบอื่น ๆ ที่เน้นการฝึกปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบนำไปสู่การจ้างงานและการสร้างงาน
5. การปฏิรูปบทบาททางการวิจัยและระบบธรรมาภิบาลของสถาบันอุดมศึกษา เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางอย่างยั่งยืน
ที่ผ่านมา Big Rock ที่ 1 การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรมชัดเจนที่สุด โดยมีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่เป็นหน่วยงานหลักในการแก้ปัญหา สามารถให้ทุนสำหรับเด็กเปราะบาง ยากจน เป็นความช่วยเหลือที่จำเป็นและทำได้ทันที ซึ่งในส่วน Big Rock อื่นๆ ก็ยังคงต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาในการแก้ไขปัญหาในภาพใหญ่ และที่ผ่านมาสถานการณ์โควิด-19 ก็มีผลอย่างมากในการสร้างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งทางกศส.ได้จัดทำ “ข้อเสนอแนวทางการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพการศึกษา ภายใต้สถานการณ์โควิด-19” และหนังสือ “พลิกโฉมการศึกษาไทย บันไดสู่คุณภาพการศึกษาที่ทั่วถึงและเท่าเทียม” ที่สรุปผลการดำเนินงานของทั้ง 5 Big Rock ในช่วงที่ผ่านมา
ผลกระทบต่อสภาวะการเรียนรู้ที่ถดถอย สภาพจิตใจของนักเรียน ครูและผู้ปกครอง รวมถึงความเสี่ยงของการหลุดออกนอกระบบการศึกษาของเด็กและเยาวชน เพราะเป็นการซ้ำเติมเด็กยากจนที่อยู่ในโรงเรียนขนาดเล็ก 1 ล้านคน และในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 8 ล้านคน ด้านการสูญเสียโอกาสการเรียนรู้อ่านออกเขียนได้ รวมถึง 1 ใน 3 ของเด็กขาดอุปกรณ์การเรียนรู้ ครอบครัวขาดรายได้ ไม่มีงานทำ รัฐบาลต่อไปจะต้องเข้ามาดูแลแก้ไขเยียวยา เมื่อ “คนคือหัวใจของการเปลี่ยนแปลง การทำให้คนมีคุณภาพเพิ่มขึ้นจากการศึกษา พรรคกำหนดนโยบายที่ก่อให้เกิดประโยชน์ได้ เชื่อว่าจะเกิดการเรียนรู้ไปด้วยกัน หากร่วมกันคนละไม้คนละมือ เพราะสุดท้ายการเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับคน
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ได้นำเสนอ TEP whitepaper หรือสมุดปกขาวที่มีการสรุปปัญหาและความท้าทายของระบบการศึกษาไทย บทเรียนจากความพยายามปฏิรูปที่ผ่านมา และประเด็นท้าทาย 4 ประการในการปฏิรูประบบการศึกษาไทย คือ
1. การปรับหลักสูตรแกนกลางครั้งใหญ่ให้เอื้อต่อการเรียนรู้สมรรถนะ
2. การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กและบุคลากรครูเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
3. การป้องกันการละเมิดสิทธิเสรีภาพของนักเรียน
4. การปรับวัฒนธรรมการทำงานให้กล้าทำสิ่งใหม่
ภาคีเพื่อการศึกษาไทย (TEP) มี 5 ข้อเสนอแนะต่อพรรคการเมือง และรัฐบาลใหม่ และรมว.ศธ.คนใหม่ ว่าควรมีนโยบายดังนี้
1.ควรเร่งปรับให้มีหลักสูตรแกนกลางใหม่ภายใน 3 ปี โดยออกแบบให้เป็นหลักสูตรที่อิงกับฐานสมรรถนะ จากการเปิดให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนา
2. กำหนดนโยบายให้กระทรวงศึกษาธิการมีเป้าหมายและแผนการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กที่ชัดเจน โดยอาจนำข้อเสนอของธนาคารโลกเป็นจุดตั้งต้น และเสริมด้วยการให้แรงจูงใจแก่ครูในการย้ายไปสอนในโรงเรียนฮับ (Hub School) หรือโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล (Small Protected School) พิจารณาปรับเกณฑ์การประเมินเลื่อนขั้นเงินเดือนหรือวิทยฐานะของครู
3. กำหนดนโยบายให้กระทรวงศึกษาธิการและประสานหน่วยงานต้นสังกัดสถานศึกษาอื่น ให้ทบทวนและยกเลิกโครงการต่างๆ ที่มีอยู่ ซึ่งไม่ตอบโจทย์การเรียนรู้ของนักเรียนหรือการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการสอนของครูตามหลักสูตรใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี
4. ประกาศนโยบายไม่ยอมรับความรุนแรงในสถานศึกษาในทันทีที่รับตำแหน่ง และรณรงค์ให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องเข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพของเด็ก
5. สร้างตัวอย่างให้ผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการมีวัฒนธรรมแบบใหม่ในการทำงาน ที่เปิดกว้างในการรับฟังความเห็น กล้าทดลองสิ่งใหม่ ไม่สั่งการจากเบื้องบนลงไปโดยไม่เข้าใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อโรงเรียน
ที่มา ; สยามรัฐออนไลน์ 8 มีนาคม 2566
ข่าวเกี่ยวกัน
นโยบาย ‘การศึกษา’ เรื่องใหญ่ที่ ‘พรรคการเมือง’ เมิน
หลายรัฐบาลจะบอกว่า ให้ความสำคัญกับการศึกษา โดยให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้รับงบประมาณมากที่สุด แต่งบที่ได้ส่วนใหญ่ ถูกนำไปใช้เป็นเงินเดือนบุคคลากร ส่วนงบพัฒนาก็จะทุ่มลงไปที่สถานศึกษาของภาครัฐเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นงบซ่อมสร้างอาคารสถานที่ เงินอุดหนุนรายหัว และงบพัฒนาในเรื่องอื่นๆ
ทัศนะ ดร.ประเสริฐ กลิ่นชู ผู้อำนวยการ อี.เทค./ นายกสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สวทอ.)
ถึงจะบอกว่าให้ความสำคัญกับเอกชนที่เข้ามาช่วยรัฐจัดการศึกษา แต่การอุดหนุนงบพัฒนากลับได้รับไม่เท่าเทียม เช่น งบอุดหนุนรายหัว ซึ่งสถานศึกษาเอกชนเรียกร้องให้อุดหนุน 100% เท่ากับสถานศึกษารัฐ แต่ก็ยังไม่ได้รับการพิจารณา แม้จะขอมาหลายปี ก็ยังไม่ได้รับ
ดังนั้น ส่วนตัวไม่คาดหวังอะไรมากกับพรรคการเมือง เพราะพอเข้ามาเป็นรัฐบาล ก็คงไม่ได้ตามที่ขอ แต่ก็อยากให้ดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่กำหนดสัดส่วนผู้เรียนสายสามัญ ต่อ
“หลายรัฐบาลจะบอกว่า ให้ความสำคัญกับการศึกษา โดยให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้รับงบประมาณมากที่สุด แต่งบที่ได้ส่วนใหญ่ ถูกนำไปใช้เป็นเงินเดือนบุคคลากร ส่วนงบพัฒนาก็จะทุ่มลงไปที่สถานศึกษาของภาครัฐเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นงบซ่อมสร้างอาคารสถานที่ เงินอุดหนุนรายหัว และงบพัฒนาในเรื่องอื่นๆ
ถึงจะบอกว่าให้ความสำคัญกับเอกชนที่เข้ามาช่วยรัฐจัดการศึกษา แต่การอุดหนุนงบพัฒนากลับได้รับไม่เท่าเทียม เช่น งบอุดหนุนรายหัว ซึ่งสถานศึกษาเอกชนเรียกร้องให้อุดหนุน 100% เท่ากับสถานศึกษารัฐ แต่ก็ยังไม่ได้รับการพิจารณา แม้จะขอมาหลายปี ก็ยังไม่ได้รับ
สายอาชีวะ อยู่ที่ 50:50 หรือ 60:40 ตั้งแต่ปี 2560 เพราะจนถึงวันนี้ยังไม่สามารถดำเนินการได้ สาเหตุเพราะผู้กำหนดทิศทางการดำเนินการส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ ฉะนั้น ก็จะเอื้อประโยชน์ให้กับสถานศึกษารัฐก่อน ทำให้สถานศึกษาเอกชนไม่ได้รับภาคเป็นธรรมเท่าที่ควร”
ทัศนะ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา
“มองว่าแต่ละพรรคการเมืองมีนโยบายหาเสียงเกี่ยวกับการศึกษาน้อยมาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะนโยบายที่เกี่ยวกับการศึกษาทำยาก ต้องใช้เวลานาน อย่างไรก็ตาม 8 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมีนโยบายการศึกษาที่ทำให้ประเทศเสียเวลาอย่างใหญ่หลวง โดยเฉพาะกฎหมายการศึกษา ที่ผลักดันไม่สำเร็จ เป็นตัวบ่งบอกว่าถ้าไม่มีนโยบายที่ดี ไม่มีนโยบายที่เข้มแข็ง และไม่มีสภาผู้แทนราษฎรที่มุ่งมั่น จะทำให้ปฏิรูปการศึกษาล้มเหลว
ทั้งนี้ เท่าที่ดูนโยบายการศึกษาของแต่ละพรรค จืดชืด เป็นนโยบายหาเช้ากินค่ำ ไม่หนักแน่น เป็นนโยบายชั่วครั้งชั่วคราว ส่วนใหญ่ทำไม่ได้ ยังไม่มีนโยบายไหนที่มุ่งประโยชน์แก่ผู้เรียน ส่วนใหญ่จะหาเสียงกับครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งสิ้น สาเหตุที่พรรคการเมืองไม่นิยมนำนโยบายเรื่องการศึกษามาหาเสียง เพราะเป็นเรื่องยาก และการศึกษาเป็นรัฐสวัสดิการ ไม่ใช่ประชานิยมที่จะนำมาหาเสียงได้ ขณะที่แต่ละพรรคก็ไม่มีแกนหลักด้านการศึกษา ดังนั้น จึงประกาศนโยบายเรื่องนี้มาค่อนข้างน้อย ที่ประกาศมาส่วนใหญ่ เป็นเรื่องเดิม ไม่พัฒนา ไม่มีอะไรที่เป็นความหวัง ที่ทำให้การศึกษาของประเทศเกิดความเปลี่ยนแปลง
ผมอยากเห็นความชัดเจนในการผลักดันการศึกษาจากรัฐบาลชุดใหม่ อยากให้รัฐบาลชุดใหม่นำ 8 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นบทเรียน เพื่อจัดทำนโยบายแก้ปัญหาการศึกษาของประเทศ โดยจะต้องประกาศให้ชัดเจนว่าแต่ละเรื่องจะดำเนินการอย่างไร เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การผลักดันร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ที่ยังค้างอยู่ในสภา จะเดินหน้าต่อ หรือจะปัดตก และทำใหม่ แนวทางการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปที่สถานศึกษา เป็นต้น
นอกจากนโยบายการศึกษาที่ชัดเจนแล้ว ยังต้องมองเป้าหมายของประเทศ คือจะพัฒนาเด็กอย่างไร ให้เป็นพลเมืองที่มีประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รู้จักสิทธิ และหน้าที่ เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ
ขอให้พรรคการเมืองที่จะมาเป็นรัฐบาล วางคนที่จะมาเป็นรองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแล ศธ.และวางผู้ที่จะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ให้ดี โดยต้องเป็นคนที่มีความรู้ ความสามารถ เข้าใจการศึกษา สามารถแก้ไขปัญหาได้ อย่าวางคนตามโควต้าการเมือง และให้ใครก็ได้มาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เหมือนที่ผ่านมา”
ทัศนะ ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดี มรภ.นครราชสีมา
“เป้าหมายของคนที่เข้าสู่สนามเลือกตั้ง จะมุ่งเน้นไปที่นโยบายด้านเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ ปากท้องเป็นหลัก เพราะทำให้ได้คะแนนเสียง ขณะที่นโยบายด้านการศึกษา ไม่สามารถทำคะแนนเสียงในการเลือกตั้งได้มากนัก นโยบายการศึกษาของแต่ละพรรค จึงไม่ค่อยมีความชัดเจน เน้นนโยบายประชานิยม
อย่างพรรคพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่เน้นแจกของฟรี ทั้งเรียนฟรีถึงปริญญาตรี โดยเฉพาะสาขาขาดแคลน ฟรีอินเตอน์เน็ท 1 ล้านโรงเรียนทั่วประเทศ เป็นต้น
ส่วนพรรคเพื่อไทย สะท้อนประชานิยม ทั้งเงินตอบแทนปริญญาตรีขั้นต่ำ 25,000 บาทต่อเดือนแล้ว สายอาชีพมีรายได้ ส่งเสริมให้บริษัทเอกชนรับนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เข้าฝึกงานจริงตามสายอาชีพ ให้เรียนไปทำงานไป มีรายได้ 6,000 บาทขึ้นไป
ขณะที่แม้แต่ก้าวไกลเอง ก็ยังไม่โดดเด่น ทั้งเรียนฟรี อาหารฟรี มีรถรับส่ง โรงเรียนโปร่งใส ปราศจากทุจริต ส้วมสะอาด อาคารสถานที่ปลอดภัย ซึมเศร้ามีที่ปรึกษา กฎโรงเรียนต้องไม่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน ครูละเมิดสิทธิ พักใบประกอบทันทียกเลิกตั้งแถว ใช้เวลาอัพเดตเหตุการณ์บ้านเมือง ออกแบบหลักสูตรใหม่ เน้นทักษะที่ได้ใช้จริง ชั่วโมงเรียนดีมีคุณภาพ ลดคาบเรียน ลดการบ้าน ลดการสอบ โรงเรียน 2 ภาษา นักเรียนพูดภาษาอังกฤษได้ เป็นต้น
ดังนั้น จึงอยากเห็นพรรคการเมืองประกาศนโยบายทางการศึกษาที่ไม่ใช่ประชานิยม เป็นนโยบายเชิงโครงสร้าง ที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญอยากเห็นการส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต ที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศเข้าสู่สังคมโลกยุคใหม่ เพราะขณะนี้การศึกษาถูกดิสรัปชั่นอย่างรุนแรง
ต้องมีการรีสกิล อัพสกิลคน ซึ่งไม่ใช่แค่ประชาชนทั่วไปเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคนในระบบการศึกษา ที่ต้องได้รับการพัฒนาศักยภาพเช่นเดียวกัน ต่อไปประชาชนต้องได้รับการศึกษา ที่เป็นการเรียนรู้อย่างไม่มีข้อจำกัด
ทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งที่อยากฝากนักการเมืองให้ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ แม้จะมีผลต่อคะแนนเสียงน้อย แต่ก็เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศ เพราะการจะปฏิรูปประเทศให้สำเร็จ ต้องใช้นโยบายการศึกษาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน”
ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 14 มีนาคม 2566