ตามข่าวสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ 24/2566 เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2566 คณะกรรมการการเลือกตั้งได้เห็นชอบกำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี และจำนวนเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด โดยรวมจำนวนราษฎรที่ไม่ได้ สัญชาติไทยด้วย ต่อมาตามข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 7/2566 เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566 กรณี คณะกรรมการการเลือกตั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติ เป็นเอกฉันท์ว่า การกำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 86 (1) ที่กำหนดให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง นั้น คำว่า “ราษฎร” ไม่หมายความรวมถึงผู้ไม่ได้สัญชาติไทย นั้น
วันนี้ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้เสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณากำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี และจำนวนเขตเลือกตั้ง แบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด กรณีใช้จำนวนราษฎรสัญชาติไทย โดยพิจารณาจากจำนวนราษฎร ทั่วราชอาณาจักร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 ซึ่งมีจำนวน 65,106,481 คน จึงมีจำนวนราษฎรโดยเฉลี่ยประมาณ 162,766 คน ต่อจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหนึ่งคน และเสนอร่างประกาศคณะกรรมการ การเลือกตั้ง เรื่อง จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดจะพึงมี ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยข้างต้น โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเสนอ โดยมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด ปรากฏตามเอกสารที่แนบมาพร้อมนี้
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจะได้ส่งเรื่องดังกล่าวข้างต้นให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาโดยเร็วต่อไป
อนึ่ง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกประจำจังหวัดจักได้จัดทำและประกาศรูปแบบ การแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างน้อย 3 รูปแบบ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองและประชาชน ในจังหวัดเป็นเวลา 10 วัน นับแต่วันปิดประกาศ ในระหว่างวันที่ 4 – 13 มีนาคม 2566
ที่มา ; สำนักงาน ก.ก.ต.