รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) และมี รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. เป็นเลขานุการการประชุมซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาและมีมติที่สำคัญ ดังนี้
1. เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการย้าย การเปลี่ยนตำแหน่ง และการโอนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และการย้ายข้าราชการพลเรือนสามัญ ไปบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค. (2)
เนื่องจาก ก.ค.ศ. ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเปลี่ยนตำแหน่ง การย้าย และการโอนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และการย้ายข้าราชการพลเรือนสามัญ ไปบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค. (2) ตาม ว 30/2560 ซึ่งยังมีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน และจากการดำเนินงานตามหลักเกณฑ์และวิธีการนี้มาระยะหนึ่งพบว่ายังไม่ครอบคลุมการย้ายบางกรณี ได้แก่ การย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่ง และการย้ายตามผลการสอบแข่งขันได้ ซึ่งมีข้อหารือประเด็นปัญหาและแนวปฏิบัติมายังสำนักงาน ก.ค.ศ. เป็นจำนวนมาก ก.ค.ศ. พิจารณาเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ดังกล่าว เพื่อให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับบริบทและกลไกการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) สอดคล้องกับบริบทของกฎหมายและหลักเกณฑ์และวิธีการฯที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานการศึกษาสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้มีการสังเคราะห์ข้อกฎหมายและสภาพปัญหาในทางปฏิบัติที่ผ่านมา ประกอบกับได้รับฟังความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และได้ปรับปรุง (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการย้าย การเปลี่ยนตำแหน่ง และการโอนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และการย้ายข้าราชการพลเรือนสามัญ ไปบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2)
ทั้งนี้ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการฯ ที่ได้ปรับปรุงใหม่ดังกล่าว มีสาระสำคัญ คือ การกำหนดให้ส่วนราชการกำหนดรายละเอียดองค์ประกอบ ตัวชี้วัด น้ำหนักคะแนน เกณฑ์การตัดสิน วิธีการในการประเมินบุคคลและประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่หลักเกณฑ์และวิธีการใหม่มีผลใช้บังคับ โดยในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านที่ส่วนราชการยังมิได้ประกาศรายละเอียดองค์ประกอบ ตัวชี้วัด น้ำหนักคะแนนเกณฑ์การตัดสิน และวิธีการในการประเมินบุคคล ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดใหม่ ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ใช้บังคับอยู่เดิมไปพลางก่อน การใดอยู่ระหว่างดำเนินการ หรือเคยดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ใช้บังคับอยู่เดิม ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการนั้นต่อไปจนแล้วเสร็จ นอกจากนี้ยังได้เพิ่มเติมการย้ายอีก 3 กรณี ได้แก่ การย้ายสับเปลี่ยน การย้ายตามผลการสอบแข่งขัน และการย้ายเพื่อความเหมาะสมและประโยชน์ในการบริหารจัดการในหน่วยงานการศึกษา เพื่อให้มีความสอดคล้องในการบริหารงานบุคคลฯ มากยิ่งขึ้น
2. เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการโอนพนักงานส่วนท้องถิ่นและข้าราชการอื่นมาบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2)
สืบเนื่องจากที่ ก.ค.ศ. ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการโอนพนักงานส่วนท้องถิ่นและข้าราชการอื่น มาบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2)ตาม ว 29/2560 ต่อมา ก.ค.ศ. ได้ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการโอนพนักงานส่วนท้องถิ่นและข้าราชการอื่นฯ ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 206.5/10 ลงวันที่ 13 มกราคม 2563 และแนวทางการพิจารณาเทียบเคียงมาตรฐานการสอบแข่งขันตามหลักเกณฑ์และวิธีการโอนพนักงานส่วนท้องถิ่นและข้าราชการอื่นฯ ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ.ที่ ศธ 0206.5/387 ลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งยังมีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจากการดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าวมาระยะหนึ่งพบว่า ส่วนราชการและหน่วยงานการศึกษายังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในการดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการฯดังกล่าวในหลายประเด็น ซึ่งสำนักงาน ก.ค.ศ. ได้รับข้อหารือเนื่องจากประเด็นปัญหาในทางปฏิบัติเป็นจำนวนมาก
ก.ค.ศ. พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการโอนพนักงานส่วนท้องถิ่นและข้าราชการอื่น มาบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) ตาม ว 29/2560 มีความสอดคล้องกับบริบทของกฎหมายและหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ที่เกี่ยวข้องและมีความชัดเจนในทางปฏิบัติ เพื่อหน่วยงานการศึกษาหรือส่วนราชการสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นไปตามระบบคุณธรรม และเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยได้มีการสังเคราะห์ข้อกฎหมายและสภาพปัญหาในทางปฏิบัติที่ผ่านมา ประกอบกับได้รับฟังความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และได้ปรับปรุง (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการโอนพนักงานส่วนท้องถิ่นและข้าราชการอื่น มาบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2)
ทั้งนี้ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการฯ ที่ได้ปรับปรุงใหม่ดังกล่าวมีสาระสำคัญ ได้แก่ กำหนดให้ส่วนราชการกำหนดรายละเอียดองค์ประกอบ ตัวชี้วัด น้ำหนักคะแนน เกณฑ์การตัดสิน วิธีการในการประเมินบุคคลและประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่หลักเกณฑ์และวิธีการใหม่มีผลใช้บังคับในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านที่ส่วนราชการยังมิได้ประกาศรายละเอียดองค์ประกอบ ตัวชี้วัด น้ำหนักคะแนนเกณฑ์การตัดสิน และวิธีการในการประเมินบุคคล ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดใหม่ ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ใช้บังคับอยู่เดิมไปพลางก่อน การใดอยู่ระหว่างดำเนินการ หรือเคยดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ใช้บังคับอยู่เดิม ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการนั้นต่อไปจนแล้วเสร็จ
3. เห็นชอบ (ร่าง) แนวปฏิบัติการบรรจุและแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดังนี้
1. (ร่าง) แนวปฏิบัติการบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย (ยกเว้นสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ)
2. (ร่าง) แนวปฏิบัติการบรรจุและแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์
3. (ร่าง) แนวปฏิบัติวิธีการนำรายชื่อผู้สอบแข่งขันได้ในบัญชีหนึ่งไปขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ในบัญชีอื่น ตำแหน่งครูผู้ช่วย (ยกเว้นสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ)
สืบเนื่องจากที่ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งฯ ที่ 19/2560 ซึ่ง พรบ.ดังกล่าว กำหนดให้มี อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา ทำหน้าที่การบริหารงานบุคคลตามที่กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากำหนดไว้ แทน กศจ. และปรับเปลี่ยนผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งฯ ในเขตพื้นที่การศึกษาตามมาตรา 53 (3) และ (4) แห่งพระราชบัญญัติข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ไปเป็นอำนาจของผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา จึงส่งผลต่อการบรรจุและแต่งตั้งฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย และตำแหน่งศึกษานิเทศก์ สังกัด สพฐ. ซึ่งดำเนินการไว้ก่อนที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับ
ดังนั้น ก.ค.ศ. จึงได้ดำเนินการจัดทำ (ร่าง) แนวปฏิบัติการบรรจุและแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัด สพฐ. ขึ้น เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการบรรจุและแต่งตั้งฯ ได้ภายหลังจากมี อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา เรียบร้อยแล้ว โดยหลักการสำคัญของ (ร่าง) หลักเกณฑ์ดังกล่าว สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. แนวปฏิบัติการบรรจุและแต่งตั้งฯ ใช้ในการดำเนินการบรรจุและแต่งตั้งฯ สำหรับกรณีที่ มีผู้ขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย และผู้ขึ้นบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือกฯ ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ สังกัด สพฐ. (ยกเว้นสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ) ซึ่งได้ดำเนินการไว้ก่อนพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งฯ ที่ 19/2560 มีผลใช้บังคับและบัญชีดังกล่าวยังไม่ครบอายุการขึ้นบัญชี
2. บัญชีผู้สอบแข่งขันได้ฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย หรือบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือกฯ ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ แล้วแต่กรณี ของแต่ละ กศจ. ให้เป็นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ หรือบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือกของ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา ทุกเขตพื้นที่การศึกษาในจังหวัดนั้น ๆ
3. ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขต 1 หรือเขตเดียวในจังหวัด มีหน้าที่ดูแล ควบคุม และประสานงานเกี่ยวกับการใช้บัญชีผู้สอบแข่งขันได้ จนกว่าจะครบอายุการขึ้นบัญชีหรือบัญชีถูกยกเลิก
สำหรับบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ เนื่องจากการประกาศขึ้นบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือกฯ แยกเป็นสังกัด สพป. และสังกัด สพม. ดังนั้น จึงมอบให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขต 1 หรือเขตเดียวในจังหวัด มีหน้าที่ดูแล ควบคุม และประสานงานเกี่ยวกับการใช้บัญชีผู้ได้รับการคัดเลือกฯ สังกัด สพป. และให้ สพม. มีหน้าที่ดูแล ควบคุมและประสานงานเกี่ยวกับการใช้บัญชีผู้ได้รับการคัดเลือกฯ สังกัด สพม. จนกว่าจะครบอายุการขึ้นบัญชีหรือบัญชีถูกยกเลิก
4. การดำเนินการบรรจุและแต่งตั้งจากบัญชีของ กศจ. ในจังหวัดนั้น
4.1 การบรรจุและแต่งตั้งฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย เมื่อสถานศึกษามีตำแหน่งว่าง ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่มีตำแหน่งว่าง เสนอ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาพิจารณาเพื่อมีมติอนุมัติจำนวนตำแหน่งว่างกลุ่มวิชา หรือทาง หรือสาขาวิชาเอก ที่จะบรรจุและแต่งตั้ง และให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่มีตำแหน่งว่างแจ้งมติดังกล่าวไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ทำหน้าที่ดูแลบัญชี เพื่อเรียกตัวผู้ขึ้นบัญชีมารายงานตัวเพื่อเลือกสถานศึกษาที่จะบรรจุและแต่งตั้ง
4.2 การบรรจุและแต่งตั้งฯ ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ ให้ดำเนินการดังนี้
1) การบรรจุและแต่งตั้งจากบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือกในสังกัด สพป. เมื่อสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามีตำแหน่งว่าง ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่มีตำแหน่งว่าง เสนอ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาพิจารณาเพื่อมีมติอนุมัติจำนวนตำแหน่งว่างที่จะบรรจุและแต่งตั้ง และให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่มีตำแหน่งว่างแจ้งมติดังกล่าวไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ทำหน้าที่ดูแลบัญชี เพื่อเรียกตัวผู้ขึ้นบัญชีมารายงานตัวเพื่อเลือกสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ จะบรรจุและแต่งตั้ง
2) การบรรจุและแต่งตั้งจากบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือกในสังกัด สพม. เมื่อสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
มีตำแหน่งว่าง ให้เสนอ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่มัธยมศึกษา พิจารณาเพื่อมีมติอนุมัติจำนวนตำแหน่งว่างที่จะบรรจุและแต่งตั้ง แล้วจึงเรียกตัวผู้ได้รับการคัดเลือกมารายงานตัวเพื่อเลือกสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่จะบรรจุและแต่งตั้ง
5. การดำเนินการบรรจุและแต่งตั้งฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย โดยการขอใช้บัญชีจาก กศจ. อื่น
5.1 เมื่อสถานศึกษามีตำแหน่งว่าง ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่มีตำแหน่งว่างเสนอ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา พิจารณากำหนดกลุ่มวิชา หรือทาง หรือสาขาวิชาเอก เมื่อ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา มีมติอนุมัติให้ขอใช้บัญชี ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแจ้งมติไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่มีบัญชีผู้สอบแข่งขันได้เพื่อขอรายชื่อผู้สอบแข่งขันได้
5.2 ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่มีบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ (เจ้าของบัญชี) เสนอ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษานั้น พิจารณาเพื่อมีมติอนุมัติหรือไม่อนุมัติให้ใช้บัญชีผู้สอบแข่งขันได้ ทั้งนี้ หากมีมติอนุมัติให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่มีบัญชีผู้สอบแข่งขันได้สอบถามความสมัครใจผู้ขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ และแจ้งรายชื่อผู้สมัครใจให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ขอใช้บัญชีทราบเท่ากับจำนวนตำแหน่งว่างตามที่ขอ
5.3 เมื่อผู้สอบแข่งขันได้รายใดได้รับการประกาศขึ้นบัญชีของ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาที่ขอใช้บัญชีแล้วผู้สอบแข่งขันได้รายนั้นจะถูกยกเลิกการขึ้นบัญชีเป็นผู้สอบแข่งขันได้ในบัญชีเดิม
6. การบรรจุและแต่งตั้ง ให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา 53 (3) หรือ (4) แล้วแต่กรณี สั่งบรรจุและแต่งตั้งผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามมาตรฐานตำแหน่ง โดยความเห็นชอบของ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา โดยให้บรรจุและแต่งตั้งตามลำดับที่และตามจำนวนตำแหน่งว่าง
4. เห็นชอบ ขยายเวลาการบังคับใช้ระเบียบ ก.ค.ศ. ว่าด้วยระบบทะเบียนประวัติข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2564
สืบเนื่องจากที่ ก.ค.ศ. ได้ออกระเบียบ ก.ค.ศ. ว่าด้วยระบบทะเบียนประวัติข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2564 เพื่อให้ส่วนราชการในกระทรวงศึกษาธิการซึ่งมีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด นำระบบทะเบียนประวัติอิเล็กทรอนิกส์ไปใช้ในกระบวนการบริหารและจัดการข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับทะเบียนประวัติของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยให้บังคับใช้เมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ดังนั้นส่วนราชการดังกล่าวจึงต้องดำเนินการจัดทำทะเบียนประวัติข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในระบบทะเบียนประวัติอิเล็กทรอนิกส์ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ ซึ่งจะครบกำหนดภายในวันที่ 20 มีนาคม 2566 นี้
แต่เนื่องจากผลของการประกาศ พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เมษายน 2560 พ.ศ. 2565 ได้กำหนดให้มี อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา/มัธยมศึกษา และให้ปรับเปลี่ยนผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษา ตามมาตรา 53 (3) และ (4) แห่ง พรบ.ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547และแก้ไขเพิ่มเติม ไปเป็นหน้าที่และอำนาจของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา แล้วแต่กรณี นั้น ส่งผลกระทบต่อระบบทะเบียนประวัติอิเล็กทรอนิกส์ที่พัฒนาไว้ ซึ่งระบบดังกล่าว ไม่ได้ออกแบบให้ผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งฯ ก.ค.ศ. จึงได้มีมติขยายเวลาการบังคับใช้ระเบียบ ก.ค.ศ. ว่าด้วยระบบทะเบียนประวัติข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2564 ออกไปอีก 1 ปี ทั้งนี้ เพื่อให้สำนักงาน ก.ค.ศ. ดำเนินการปรับปรุงระบบทะเบียนประวัติอิเล็กทรอนิกส์ให้มีความสอดคล้อง และเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
5. เห็นชอบ (ร่าง) แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัย การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในช่วงเปลี่ยนผ่าน
ภายหลังจากที่ได้มีการประกาศใช้ พรบ. แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่ง คสช. ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการฯ ทำให้อำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษา ตามมาตรา 53 (3) และ (4) ไปเป็นหน้าที่และอำนาจของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา แล้วแต่กรณี และเมื่อวันที่6 กุมภาพันธ์ 2566 ก.ค.ศ. ได้เห็นชอบให้มี อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาทำหน้าที่บริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา นั้น ส่งผลต่อการดำเนินการทางวินัยของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งเดิมกรณีศึกษาธิการจังหวัดได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง ข้าราชการครูฯ สังกัด สพท. ไว้ก่อนวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 โดยในช่วงเปลี่ยนผ่านอำนาจการบริหารงานบุคคลจาก กศจ. ไปยัง อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้รับข้อหารือในการดำเนินการกรณีต่าง ๆ ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร เช่น
1. คณะกรรมการสอบสวนรายงานการสอบสวนต่อไปได้หรือไม่
2. การออกคำสั่งเปลี่ยนแปลงแก้ไขกรรมการสอบสวน
3. การคัดค้านกรรมการสอบสวน
4. คณะกรรมการสอบสวนจะต้องรายงานการสอบสวนต่อผู้ใด รวมทั้งการพิจารณารายงานการดำเนินการทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรง การอุทธรณ์และการร้องทุกข์ที่ศึกษาธิการจังหวัดรับเรื่องไว้แล้วแต่ยังไม่เสนอ กศจ.
ก.ค.ศ. ได้พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบ (ร่าง) แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัย การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ดังนี้
1. คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง ที่ศึกษาธิการจังหวัดมีคำสั่งแต่งตั้งไว้ก่อนวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 สามารถดำเนินการสอบสวนต่อไปได้จนแล้วเสร็จ
2. กรณีที่ต้องมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงกรรมการสอบสวน การสั่งในเรื่องคัดค้านกรรมการสอบสวน การสั่งขยายระยะเวลาการสอบสวน เป็นอำนาจของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา แล้วแต่กรณี เป็นผู้พิจารณาสั่ง หากมีการส่งเรื่องดังกล่าวไปยังศึกษาธิการจังหวัด (ผู้ออกคำสั่งเดิม) ให้ศึกษาธิการจังหวัดส่งเรื่องไปให้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา แล้วแต่กรณี ดำเนินการพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
3. การรายงานการสอบสวน ให้คณะกรรมการสอบสวนรายงานไปยังศึกษาธิการจังหวัด เพื่อตรวจสำนวนการสอบสวน (โดยเทียบเคียงกับข้อ 37 ของกฎ ก.ค.ศ. ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา พ.ศ. 2550) เมื่อศึกษาธิการจังหวัดได้ตรวจสำนวนการสอบสวนแล้ว ให้ส่งสำนวนไปยังผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา แล้วแต่กรณี เพื่อตรวจสำนวนและพิจารณาสั่งสำนวนการสอบสวนต่อไป
4. สำหรับการอุทธรณ์และการร้องทุกข์ที่มีการยื่นไว้ที่ศึกษาธิการจังหวัด แต่ศึกษาธิการจังหวัดยังมิได้เสนอ กศจ. เพื่อพิจารณาก่อนวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 ให้ส่งเรื่องให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อเสนอ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา พิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ค.ศ. จะได้แจ้งแนวปฏิบัติให้ทราบต่อไป
ที่มา ; สำนักงาน ก.ค.ศ.