เมื่อวันที่ 21 มี.ค. ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เปิดเผยว่า สมศ. พร้อมเดินหน้ายกระดับมาตรฐานผู้ประเมินภายนอก เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสถานศึกษาทั่วประเทศ โดยตอกย้ำการพัฒนาและอบรมผู้ประเมินภายนอกเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของผู้ประเมินภายนอกอย่างต่อเนื่อง ใน 3 บทบาทหน้าที่หลัก ได้แก่
1. ด้านวิชาการ ผู้ประเมินภายนอกจะต้องมีความรู้ ความสามารถในเชิงวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการประเมิน สามารถทำการประเมินและสะท้อนผลการดำเนินงานของสถานศึกษาด้วยความถูกต้อง สอดคล้องตามบริบท มีความแม่นยำ ตรงไปตรงมา เป็นไปตามเกณฑ์การประเมินที่ สมศ. กำหนด และสามารถให้ข้อเสนอแนะเป็นรายสถานศึกษา ซึ่งเป็นหัวใจของการประเมิน โดยข้อเสนอแนะที่ให้กับสถานศึกษา ต้องนำไปปฏิบัติได้จริง สอดคล้องตามบริบทของสถานศึกษาจึงจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาต่อสถานศึกษาได้จริง
2. ด้านเทคโนโลยี ผู้ประเมินภายนอกจะต้องมีความสามารถและทักษะการใช้เทคโนโลยีที่ดี เป็นการปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย และสอดรับกับนโยบายของ สมศ. ในการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล (Digital Organization) ทั้งนี้ สมศ. ได้พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการประเมินในทุกขั้นตอน เช่น ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการประเมินคุณภาพภายนอก (AQA) ระบบจัดเก็บรายงานประเมินตนเอง (e-SAR) การพัฒนาระบบ Mobile Application (ONESQA-V) สำหรับผู้ประเมินภายนอกในการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแบบ Onsite สถานศึกษาทุกระดับ เป็นต้น ถือได้ว่าเป็นรูปแบบใหม่ของการประเมิน และนับได้ว่ามีความทันสมัยเท่าเทียมกับระบบการประเมินสถานศึกษาของนานาประเทศ
3. ผู้ประเมินภายนอกสะท้อนภาพลักษณ์ของ สมศ. ในระหว่างการปฏิบัติงาน ด้วยการทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนคุณภาพการจัดการศึกษาและเป็นผู้ให้ข้อเสนอแนะกับสถานศึกษาอย่างถูกต้องตรงประเด็น ภายใต้ “ความเป็นกัลยาณมิตร” และ “ไม่สร้างภาระกับสถานศึกษา” ซึ่งการดำเนินงานของ สมศ. ที่ผ่านมา ให้ความสำคัญเรื่องคุณลักษณะและบทบาทหน้าที่ของผู้ประเมินภายนอก โดยผู้ประเมินภายนอกถือเป็นตัวแทนของ สมศ. ดังนั้น ผู้ประเมินภายนอกไม่เพียงแต่จะต้องมีองค์ความรู้ตามที่ สมศ. กำหนด แต่ยังต้องก้าวทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดนิ่ง เพื่อการประเมินที่มีประสิทธิภาพ อันเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศต่อไป ดร.นันทา กล่าว
พร้อมกันนี้ สมศ. ได้ให้การรับรอง “หน่วยกำกับการประเมินคุณภาพภายนอก” ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่สำนักงานมอบหมายให้ทำหน้าที่บริหารจัดการและกำกับดูแล ให้ผู้ประเมินภายนอกปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกรอบแนวทางตามที่ สมศ. กำหนด ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมตามกรอบระยะเวลา นอกจากนี้ สมศ. ยังมีมาตรการควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ประเมินภายนอก ตามข้อบังคับคณะกรรมการ สมศ. โดยผู้ประเมินทุกคน ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีส่วนได้เสีย ไม่เรียก ไม่รับทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใด ผู้ประเมินต้องทำการประเมินคุณภาพภายนอกด้วยตนเอง มีความเที่ยงตรง เป็นกลาง โปร่งใส มีความรับผิดชอบและสามารถตรวจสอบได้ ปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่คัดลอกรายงาน รักษาความลับของข้อมูลข่าวสารที่ได้รับจากการประเมินคุณภาพภายนอก ทั้งก่อนการตรวจเยี่ยม ระหว่างการตรวจเยี่ยม และหลังการตรวจเยี่ยม เป็นต้น รวมทั้ง ตามข้อบังคับได้มีการกำหนด โทษของการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรการควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ประเมินข้างต้น ได้แก่ ว่ากล่าวตักเตือนเป็นหนังสือ ภาคทัณฑ์ พักการรับรองการเป็นผู้ประเมินภายนอก และเพิกถอนการรับรองการเป็นผู้ประเมินภายนอก
สมศ. เดินหน้ายกระดับมาตรฐานผู้ประเมินภายนอก ภายใต้ 3 บทบาทหน้าที่หลัก "ประเมินแม่นยำ-ก้าวทันเทคโนโลยี-ไม่สร้างภาระสถานศึกษา" เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสถานศึกษา ที่รับการประเมินคุณภาพภายนอกทั่วประเทศ
ที่มา ; เดลินิวส์ 21 มีนาคม 2566
ข่าวเกี่ยวกัน
สมศ.เตรียมปรับกม.'เลิกผูกขาด'การประเมินคุณภาพภายนอก รับพ.ร.บ.การศึกษาใหม่
นางนันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (รักษาการ ผอ.สมศ.) กล่าวว่า ตามที่สภาผู้แทนราษฎรจะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…. โดยในส่วนของ สมศ. ได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อที่จะให้การดำเนินงานสอดรับกับร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ ที่จะมีการประกาศใช้ ซึ่ง สมศ.จะต้องมีการปรับเรื่องการประเมินให้เป็นไปตามร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่ คือ ประเมินตามความสมัครใจ เนื่องจากในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ได้มีการกำหนดให้หน่วยงานใดเป็นผู้ทำการประเมินคุณภาพภายนอก แต่กำหนดให้สถานศึกษาต้องเข้ารับการประเมิน เพื่อที่จะให้การประเมินคุณภาพสามารถทำได้อย่างกว้างขวางและยืดหยุ่น ดังนั้นจากเดิมที่ สมศ.ทำหน้าที่ประเมินสถานศึกษาทุกแห่งตาม พ.ร.บ.ฉบับเดิม ก็อาจจะทำให้ สมศ.มีหน้าที่ประเมินเป็นครั้งคราวหรือเป็นไปตามความสมัครใจของสถานศึกษาเท่านั้น
“ทั้งนี้หากร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มีการประกาศใช้เมื่อไร สมศ.ก็จะต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) จัดตั้งสํานักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) พ.ศ.2561 รวมถึงระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประกันคุณภาพภายนอก ให้สอดรับไปด้วย ซึ่ง สมศ.ได้มีการเตรียมยกร่างกฎหมายเพื่อรองรับในเรื่องนี้ไว้เรียบร้อยแล้ว และสมศ.มีความพร้อมที่จะขับเคลื่อนการประกันคุณภาพตามกฎหมายใหม่ทันที”รักษาการ ผอ.สมศ.กล่าว
สมศ. พร้อมรับ พ.ร.บ.การศึกษาฯ ฉบับใหม่ โดยเตรียมพร้อมปรับกฎหมายที่เกี่ยวข้องรูปแบบการประกันคุณภาพภายนอกให้สอดรับ เปิดกว้างให้สถานศึกษาไม่ต้องรับการประเมินคุณภาพจากสมศ.แค่องค์กรเดียว แต่เปิดโอกาสให้องค์กรอื่นทำหน้าที่การประเมินแทนได้ หรือจะเลือกให้สมศ.ประเมินก็เป็นไปตามความสมัครใจ
ที่มา ; ไทยโพสต์ 2 พฤษภาคม 2565