ค้นหา

ChatGPT: ยุคใหม่แห่งปัญญาประดิษฐ์ได้เริ่มแล้ว

"...ปัจจุบัน ChatGPT เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก ผู้พัฒนาคือ OpenAI (OpenAIT, 2021) ได้เริ่มเปิดให้ประชาชนทั่วไปใช้ตั้งแต่เดือนพฤษจิกายนปีที่แล้ว โดยเริ่มจากรุ่นที่ขับเคลื่อนด้วย GPT-3.5 และเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 นี้ถึงได้เปิด ChatGPT-4 ที่ขับเคลื่อนด้วย GPT-4 ซึ่งมีความสามารถสูงกว่าเดิมอย่างน่าทึ่ง จึงเป็นที่โจษจันในหมู่นักวิชาการ AI ทั่วไป สำหรับ GPT (Generative Pretrained Transformer) นั้น เป็นโมเด็ลภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Model) ที่ได้รับการฝึกฝนด้วยข้อมูลทางภาษาจำนวนมหาศาลจากหนังสือ บทความ และแหล่งข้อมูลอื่น ๆ บนอินเตอร์เน็ตทั่วโลก จากนั้นก็ได้รับการปรับแต่งให้เป็นแพลตฟอร์ม ChatGPT ที่มีความสามารถในการสื่อสารกับมนุษย์ผู้ใช้งานอย่างเป็นธรรมชาติ..." 

การเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้ ChatGPT เป็นสัญญาณว่า ยุคแห่งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ได้เริ่มขึ้นแล้ว และมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของมนุษย์ ทั้งเรื่องการศึกษา การเรียนรู้ หรือ ชีวิตการทำงาน เทคโนโลยี ChatGPT เป็นแพลตฟอร์มการสื่อสารระหว่างมนุษย์ กับ GPT ซึ่งเป็นโมเด็ลภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Model) ที่ได้รับการฝึกฝนด้วยข้อมูลจำนวนมหาศาลจาก หนังสือ บทความ และแหล่งข้อมูลอื่น ๆ บนอินเตอร์เน็ตทั่วโลก ChatGPT จะทำหน้าที่เหมือนผู้ช่วยส่วนตัวที่ทำงานได้หลากหลาย ทั้งเรื่องส่วนตัว เรื่องการเรียนรู้และการทำงาน การเปิดตัว ChatGPT จึงถือเป็น 'ตัวเปลี่ยนเกม' นับเป็นครั้งแรกที่เทคโนโลยี AI ได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ทำให้ประชาชนทั่วไปได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมที่ก้าวล้ำนี้

เป็นเวลานานแล้วที่คนส่วนใหญ่คิดว่าปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นเรื่องไกลตัว และจะมีประโยชน์เฉพาะต่อผู้เชี่ยวชาญด้าน AI เท่านั้น แต่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกที่ประชาชนทั่วโลกจะมีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยี AI ชื่อว่า ChatGPT ซึ่งเป็นหุ่นยนต์แชทบอท (AI Chatbot) ที่สามารถพูดคุยกับเราอย่างเป็นธรรมชาติและมีจริตเหมือนมนุษย์ นอกจากจะเป็นเพื่อนคุยแล้ว ยังสามารถทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา เป็นครู และเป็นเพื่อนสนิทที่เราขอความเห็นและคำแนะนำได้ในทุกเรื่อง

ปัจจุบัน ChatGPT เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก ผู้พัฒนาคือ OpenAI (OpenAIT, 2021) ได้เริ่มเปิดให้ประชาชนทั่วไปใช้ตั้งแต่เดือนพฤษจิกายนปีที่แล้ว โดยเริ่มจากรุ่นที่ขับเคลื่อนด้วย GPT-3.5 และเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 นี้ถึงได้เปิด ChatGPT-4 ที่ขับเคลื่อนด้วย GPT-4 ซึ่งมีความสามารถสูงกว่าเดิมอย่างน่าทึ่ง จึงเป็นที่โจษจันในหมู่นักวิชาการ AI ทั่วไป สำหรับ GPT (Generative Pretrained Transformer) นั้น เป็นโมเด็ลภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Model) ที่ได้รับการฝึกฝนด้วยข้อมูลทางภาษาจำนวนมหาศาลจากหนังสือ บทความ และแหล่งข้อมูลอื่น ๆ บนอินเตอร์เน็ตทั่วโลก จากนั้นก็ได้รับการปรับแต่งให้เป็นแพลตฟอร์ม ChatGPT ที่มีความสามารถในการสื่อสารกับมนุษย์ผู้ใช้งานอย่างเป็นธรรมชาติ

เพื่อการตรวจสอบระดับ 'ปัญญา' ของ ChatGPT เมื่อเทียบกับมนุษย์ (Ward, 2023) ได้มีจัดให้ ChatGPT ทำข้อสอบ LSAT ซึ่งเป็นข้อสอบมาตรฐานสำหรับการเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนกฎหมายของสหรัฐอเมริกา ChatGPT-3.5 สอบได้คะแนน LSAT เท่ากับ 143 อยู่ที่เปอร์เซ็นไทล์ที่ 40 ในขณะที่ ChatGPT-4 สอบ LSAT ได้คะแนนถึง 163 อยู่ที่เปอร์เซ็นไทล์ที่ 88 เท่ากับว่า ถ้าเกิดมาเป็นมนุษย์ ChatGPT-4 จะสามารถสอบผ่านเกณฑ์เข้าศึกษาในโรงเรียนกฎหมายในมหาวิทยาลัย 20 แห่งของสหรัฐฯ

นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดให้ ChatGPT ทำข้อสอบ SAT ซึ่งเป็นแบบทดสอบมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกสำหรับการสมัครเข้ามหาวิทยาลัยรวมถึงประเทศไทย คะแนน SAT ที่ ChatGPT-3.5 และ ChatGPT 4.0 ทำได้ตามลำดับ คือ 670 และ 710 สำหรับ SAT อังกฤษ และ 590 และ 700 สำหรับ SAT คณิตศาสตร์ แม้ว่าคะแนนภาษาอังกฤษถือว่าอยู่ในเกณฑ์น่าประทับใจ แต่ในการสอบภาคคณิตศาสตร์ ChatGPT ทั้งสองรุ่นยังทำได้ไม่ดีนัก เทียบแล้วยังได้คะแนนต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ย 740 ของนิสิตที่สอบหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิตและวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขานวัตกรรมบูรณาการ (BAScii) ของสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า จุดแข็งของ ChatGPT จะอยู่ที่การประมวลผลทางภาษามากกว่าทางคณิตศาสตร์

จากนี้ไป เทคโนโลยี AI ไม่ได้เป็นสิ่งที่ไกลตัวอีกต่อไปแล้ว ChatGPT จะกลายเป็นเทคโนโลยี AI สำหรับทุกคน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเข้าใจจุดแข็งและข้อจำกัดของ ChatGPT เราต้องตระหนักเสมอว่า ChatGPT อาศัยชุดข้อมูลที่ได้รับการฝึกฝนมาล่วงหน้าเพื่อทำการคาดคะเนคำตอบ โดยไม่มีไหวพริบและวิจารณาญาณที่จะรู้ว่า คำตอบนั้นถูกหรือผิดอย่างไร (ภาพที่ 1) และที่น่าเป็นห่วง คือ ในกรณีที่ให้คำตอบผิดเพี้ยน ChatGPT ยังอาจแสดงความมั่นใจ โดยใช้คำอธิบายที่สวยหรูจนดูน่าเชื่อถืออีกด้วย

 

ChatGPT: เทคโนโลยี AI สำหรับมวลชน

ChatGPT กลายเป็นเครื่องมือ AI ตัวแรกสำหรับมวลชน ทลายกำแพงที่เคยจำกัดเทคโนโลยี AI สำหรับเฉพาะผู้มีความรู้ทางด้าน AI เท่านั้น จึงมีศักยภาพในการเพิ่มขีดความสามารถให้กับประชาชนทั่วไปทุกอาชีพ รวมทั้งจะมาพลิกผันขบวนการเรียนรู้ของมนุษย์ในอนาคตด้วย ดังที่แสดงในภาพที่ 2 ChatGPT มีประโยชน์อย่างหลากหลายในชีวิตประจำวัน จึงเป็นเหมือนเครื่องมืออเนกประสงค์ อย่างไรก็ตาม จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ใช้งานจะต้องเข้าใจและระมัดระวังข้อจำกัดของ ChatGPT ดังแสดงไว้ในตารางเดียวกัน โดยเฉพาะคำตอบที่ได้จากคำถามที่กำกวม คำถามที่ ChatGPT มีข้อมูลจำกัด หรือคำถามที่ได้คำตอบที่มีอคติ เนื่องจาก ChatGPT ถูกฝึกฝนมาจากข้อมูลที่มีความเอนเอียง เป็นต้น 

สำหรับนักวิชาการ นักวิชาชีพ หรือนักธุรกิจ เชื่อว่าในอีกไม่นานคงใช้ ChatGPT เป็นเหมือน 'ผู้ช่วยส่วนตัว' ที่เรียกใช้ได้สารพัดทุกวันทุกเวลา เพราะสามารถทำงานได้อย่างหลากหลาย เช่น

1. งานสรุปและงานแปล: ChatGPT เป็นเหมือนเลขานุการส่วนตัว สรุปเนื้อหาของเอกสารต่าง ๆ ข่าวหรือบทความในเว็บไซต์ เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นนักแปลภาษามืออาชีพ ที่สามารถแปลจากภาษาหนึ่งไปสู่อีกภาษาหนึ่งในเวลาเพียงเสี้ยวนาที (ภาพที่ 3)
2. งานร่างจดหมาย/อีเมล์: ChatGPT เป็นเหมือนเลขานุการมืออาชีพที่สามารถร่างจดหมายและอีเมล์ภาษาอังกฤษ โดยเจ้านายเพียงบอกจุดประสงค์และประเด็นที่สำคัญ
3. งานเขียนคำกล่าวและรายงาน: ChatGPT เป็นเหมือนมือเขียนภาษาอังกฤษประจำองค์กร ที่สามารถสรรค์สร้างเนื้อหาเองจากประเด็นต่าง ๆ เตรียมคำกล่าวในวาระต่าง ๆ หรือรายงานขององค์กร
4. งานวิเคราะห์ SWOT: ChatGPT สามารถทำหน้าที่เป็นนักวิเคราะห์ประจำองค์กร ช่วยสรุป จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และภัยคุกคาม พร้อมกับนำเสนอข้อมูลในเชิงลึกสำหรับการตัดสินใจในโครงการต่าง ๆ (ภาพที่ 4)
5. งานพัฒนากลยุทธ์: ChatGPT สามารถทำหน้าที่เป็นนักพัฒนากลยุทธ์ประจำองค์กร โดยรวบรวมข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวกับภาพรวมองค์กร เพื่อเป็นฐานสำหรับการเฝ้าติดตาม วิเคราะห์ และการปรับกลยุทธ์
6. งานทำนายแนวโน้ม: ChatGPT เป็นนักพยากรณ์อนาคตประจำองค์กร ที่สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มและการคาดการณ์ในอนาคต ช่วยให้องค์กรเดินหน้าในทิศทางที่ถูกต้องตลอดเวลา
7. งานพัฒนาโปรแกรม: ChatGPT เป็นโปรแกรมเมอร์ประจำองค์กร ที่สามารถพัฒนาเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เอง (ภาพที่ 5) เพื่อใช้งานภายในองค์กร ตลอดจนการดูแลรักษาให้โปรแกรมมีความทันสมัยอยู่เสมอ
 

Dr Andrew Ng ผู้เชี่ยวชาญ AI และศาสตราจารย์พิเศษแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดได้เคยกล่าวไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 (Lynch, 2017) ว่า 'AI คือ ไฟฟ้าตัวใหม่ (AI Is the New Electricity)' โดยชี้ว่า ในช่วงร้อยปีจากนี้ไป AI จะพลิกโฉมสังคมมนุษยชาติจากหน้ามือเป็นหลังมือ ยิ่งกว่าการค้นพบไฟฟ้าที่ได้พลิกโฉมโลกมาแล้วในศตวรรษที่ผ่านมา

ChatGPT จึงถือเป็น 'ตัวเปลี่ยนเกม' เบื้องต้น เพราะเป็นครั้งแรกที่มีการนำเทคโนโลยี AI จากห้องปฏิบัติการ มาให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งไม่ต่างจากโมเมนต์ที่มีการนำเทคโนโลยีไฟฟ้าสลับออกจากห้องปฏิบัติการมาให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้ ดังนั้น ณ ขณะนี้ แทนที่จะตื่นตระหนก หรือปฏิเสธ เราควรจะหาโอกาสเรียนรู้วิธีใช้ 'ไฟฟ้าตัวใหม่' ให้เป็น เพราะนักวิชาการด้าน AI ต่างเชื่อกันว่า นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็ก ๆของสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่ามากที่กำลังจะตามมา ดังนั้น คำทำนายในอดีตถึงความมหัศจรรย์และความท้าทายของเทคโนโลยี AI ดูเหมือนกำลังจะเป็นจริง ขณะนี้การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของสังคมมนุษย์ได้เริ่มนับถอยหลังตั้งแต่วันที่ OpenAI เปิด ChatGPT ให้ประชาชนทั่วไปใช้เป็นครั้งแรก

เอกสารอ้างอิง

 

บทความโดย

 

 

ศาสตราจารย์ ดร. วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย

ที่มา ; สำนักข่าวอิสรา วันศุกร์ ที่ 24 มีนาคม 2566

เกี่ยวข้องกัน

ไมโครซอฟท์ประเทศไทย จัดงาน Meet the ChatGPT เปิดบ้านเล่าเรื่อง ChatGPT ก้าวสำคัญของ AI บนแพลตฟอร์มของไมโครซอฟท์

ซึ่งอย่างที่รู้กันอยู่แล้วว่า ไมโครซอฟท์ เป็นผู้ลงทุนใหญ่ใน Open AI ผู้สร้างเอนจิ้น ChatGPT ไมโครซอฟท์จึงดึงเอาเอนจิ้นเหล่านี้ มาใช้ในโปรดักต์ต่างๆ ในงานนี้ TODAY Bizview ได้คุยกับ คุณสรุจ ทิพเสนา รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายโซลูชั่นองค์กร ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย คุยหลายเรื่องเกี่ยวกับ ChatGPT ตั้งแต่มันจะทำอะไรได้บ้าง เราจะตกงานหรือไม่ คนทั่วไปอย่างเราๆ จะรับมือกับการมาถึงของ ChatGPT ได้อย่างไร ไปจนถึง ChatGPT ปลอดภัยรึเปล่า

 

ทำไมวงการเทคโนโลยี ควรตื่นตัวกับ ChatGPT

ChatGPT อยู่ในหมวด Generative AI เป็น AI ที่ต่างจากเดิมที่เราเคยรู้จัก AI แบบเดิมนั้น เก่งเรื่องการตรวจจับ ประมวลผลข้อมูลปริมาณมากๆ ช่วยให้มนุษย์ตัดสินใจได้ดีขึ้น

แต่ Generative AI เป็นการสร้างข้อมูลชุดใหม่จากคีย์เวิร์ดหรือ prompt ที่มนุษย์ใส่เข้าไป

ความยิ่งใหญ่ของ Generative AI นั้น เทียบได้กับตอนที่มนุษย์ สามารถทัชหน้าจอเพื่อเรียกใช้งานแอปพลิเคชั่นบนมือถือได้เป็นครั้งแรกเลยทีเดียว ซึ่งนั่นเกิดขึ้นเมื่อสิบๆ ปีมาแล้ว

คุณสรุจ บอกว่าที่ ChatGPT มันน่าตื่นเต้นเพราะมันทำได้ 3 อย่างที่คนไม่คิดว่า AI จะทำได้คือ การตอบโต้ที่เหมือนเป็นคน การสร้างเรื่องและไอเดียใหม่ๆ ให้ และการสรุปใจความสำคัญให้เรา

และก้าวต่อไปคือ ไมโครซอฟท์จะนำเอนจิ้นของ Open AI ไปใช้ กับทุกผลิตภัณฑ์ และจะค่อยๆ ทยอยเปิดตัว คือใช้เป็นตัวช่วยเขียนโค้ดใน GitHub Copilot ช่วยเขียนสูตรสำหรับจัดการข้อมูลใน Power Apps ระบบสร้างภาพวาดและกราฟฟิกใน Microsoft Designer และ Bing Image Creator สรุปการประชุมอัตโนมัติใน Microsoft Teams Premium การสนับสนุนงานขาย ช่วยเขียนเมลโต้ตอบลูกค้าใน Viva Sales

และล่าสุดกับ Bing และ Edge เวอร์ชันใหม่ ซึ่งเป็นโปรดักต์ที่ทัชกับคนใช้งานทั่วไปอย่างเราๆ TODAY Bizvirew ได้ชมเดโม่ Bing เวอร์ชั่นใหม่ เราสามารถค้นหาได้ทั้งแบบแชท พร้อมแหล่งอ้างอิงเป็นแบนเนอร์เว็บไซต์ด้านล่าง และถ้าใช้งานคู่กับบราวเซอร์ Edge ระบบสามารถสรุปมาให้จากหลายๆ เว็บไซต์ นอกจากนี้ยังแนะนำคำถามที่ควรถามต่อมาให้ด้วย นอกจากนี้ ข้อมูลก็อัพเดทเป็นปัจจุบัน ต่างจาก ChatGPT ที่รับรู้ข้อมูลสิ้นสุดถึงปี 2021

คุณสรุจ บอกว่า สิ่งเหล่านี้ จะช่วยให้คนทำงานได้ดีขึ้นในสภาวะที่มีหลายอย่างกดดัน ทั้งภาวะเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ เราจะสร้างงานได้มากขึ้น ในกรอบเวลาเท่าเดิม ในจำนวนคนทำงานเท่าเดิม เพราะมี AI เป็นเสมือนผู้ช่วยมานั่งทำงานกับเรา

และตอนนี้มีองค์กร โดยเฉพาะภาคการเงินที่เข้ามาติดต่อเพื่อนำ Generative AI ไปใช้งานบ้างแล้ว สาเหตุเพราะการเงินเป็นอุตสาหกรรมที่มีการทำดิจิทัลทรานสฟอร์มมาแล้วหลายครั้ง และมีดาต้าในมือมาก

 

ถ้ายังไม่นำ AI ไปเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานตอนนี้ อนาคตจะเหนื่อย 

จากที่เล่ามาทั้งหมด คุณสรุจ เชื่อว่า องค์กรไหนที่ไม่เอา AI ไปใช้ หรือไม่มีแผนจะเอา AI ไปใช้ แม้กระทั่งคนทั่วไปแบบเราๆ ถ้าถึงตอนนี้ยังไม่รู้จัก หรือนึกไม่ออกว่าจะใช้ Generative AI ได้ยังไง เราจะเสียเปรียบคนที่ใช้เป็น

เพราะคนที่ใช้เป็น ทำงานเร็วกว่าเรา 10 เท่า มีไอเดียเยอะกว่าเรา 5 เท่า เขียนอีเมลเร็วกว่าเรา 2 เท่า ทำพรีเซนเทชั่นเสนองานเร็วกว่าเรา เพราะเขาใช้ AI ช่วย ดังนั้นสิ่งที่มนุษย์ต้องเรียนรู้คือ การใช้มันให้เป็น

ดังนั้น ทักษะใหม่ที่เราต้องมีในยุค Generative AI คือสร้าง Prompt และ Edit ให้เป็น โดย Prompt คือการตั้งคำถาม หรือคีย์เวิร์ด หรือสิ่งที่เราอยากให้ AI ช่วยหามาให้ ส่วนการ Edit คือ ปรับเปลี่ยน แก้ไขในสิ่งที่ AI สร้างมา ในกรณีที่คำตอบยังไม่ตรงโจทย์ของเราเสียทีเดียว

 

ChatGPT ปลอดภัยหรือไม่ 

คุณสรุจ ยอมรับว่าความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญ การพัฒนา AI เกินขอบเขตก็ทำให้เกิดอันตรายได้อย่างที่คนกลัวในหุ่นยนต์จากหนังเรื่อง Terminator ซึ่งไมโครซอฟท์ มีพันธกิจเรื่องความปลอดภัยของการพัฒนา AI โดยยึดหลักการ 6 ข้อคือ ยุติธรรม, ไว้ใจได้, ปลอดภัยและเป็นส่วนตัว, เสมอภาค, โปร่งใส และมีความรับผิดชอบ

ยกตัวอย่างลองถามคำถามที่อาจสร้างความขัดแย้งใน ChatGPT เช่น คนๆ นี้เป็นคนดีหรือไม่ หรือระหว่างรสนิยม A กับรสนิยม B อะไรดีกว่ากัน ChatGPT จะไม่ตอบ เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่ AI ต้องไม่ทำให้ใครคนแตกแยกกัน

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อกังวลถึงสื่อ คนทำเว็บไซต์ที่อาจต้องเจอคลื่นดิสรัปชั่นอีกระลอก เพราะ Bing แสดงข้อมูลให้ครบจบในหน้าเสิร์ช ไม่ต้องเข้าไปอ่านในเว็บไซต์ ผลคือทราฟิกเข้าเว็บไซต์จะน้อยลง ถือเป็นอีกบททดสอบของวงการสื่อที่ต้องรับมือในอนาคต

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

รู้จัก แชทบอท ChatGPT ตอบคำถามยากได้ อาจมาแทนแรงงานทักษะสูงในอนาคต https://workpointtoday.com/get-to-know-chatgpt-by-open-ai/

Open AI ผู้สร้าง ChatGPT บริษัทที่ Microsoft วางเดิมพันเพื่อแข่งกับ Google https://workpointtoday.com/open-ai-creator-of-chatgpt.../

ไมโครซอฟท์ฝัง ChatGPT ใน Bing ซีอีโอบอก นี่เป็นความเปลี่ยนแปลงใหญ่ใน 15 ปี https://workpointtoday.com/microsoft-launch-chatgpt-in-bing/

ไมโครซอฟท์รุกแรง ฝัง AI เป็นล่ามสดในประชุม Microsoft Teams Premium, ใช้ AI ตอบเมลลูกค้า https://workpointtoday.com/microsoft-teams-premium.../.

ที่มา ; TODAY Bizview 

ข่าวเกี่ยวกัน

แนะ 5 ข้อ “ควรทำ-อย่าทำ” เมื่อต้องใช้ “ChatGPT” เทคโนโลยีที่มาเปลี่ยนโลก 

 

กระแส “แชตจีพีที” (ChatGPT) ถือว่ามาแรงมาในช่วงที่ผ่านมา เรียกว่าจะเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่จะมา “ดิสรัปชั่น” ให้เกิดความเปลี่ยนแปลในหลายวงการ 

ซึ่ง “โอเพ่นเอไอ” บริษัทผู้พัฒนา “แชตจีพีที” (ChatGPT) ก็ได้พยายามพัฒนาให้ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์นี้ ออกมาในเวอร์ชั่นใหม่ เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์มากที่สุด 

ขณะเดียวกัน บริษัทไอทีระดับโลก ต่าวก็พยายาม พัฒนา แชตบอทเอไอ ออกมาแข่ง ไม่ว่าจะเป็น กูกิล, เมตา, อาลีบาบา และ Baidu ฯลฯ 

แน่นอนว่าเมื่อบริษัทระดับโลก ทั้งจากตะวันตก และจีน ต่างเร่งพัฒนาเทคโนโลยีนี้ออกมา ต่อไปจะเกิดการใช้งานอย่างแพร่หลายแน่นอน!! 

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ (AI Governance Clinic) หรือ AIGC ของ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ เอ็ตด้า ก็ระบุว่า ChatGPT เป็น AI (เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์) ในรูปแบบหนึ่ง ย่อมาจากคำว่า “Chat” และ “Generative Pre-training Transformer” 

โดย 5 สิ่งที่ทำได้…เพื่อให้งาน ปังมากขึ้น คือ 

1. ใช้เป็นแนวทางการวิจัย (Research Guidance) ใช้เป็นเหมือนผู้ช่วยในการอ่านและสรุปทบทวนวรรณกรรม ตลอดจนแนวทางหรือโครงสร้างงานวิจัยที่ควรจะนำเสนอ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายหรือตอบโจทย์ปัญหา 

2. ใช้ให้ไอเดีย ช่วยออกความคิดเห็น (Brainstorming) ใช้เพื่อรวมรวมไอเดียและสังเคราะห์ความคิดที่เป็นประโยชน์ประกอบการประชุมระดมความคิดเห็น 

3. ใช้ช่วยอธิบายสิ่งที่ไม่เข้าใจ (Knowledge) ช่วยตอบคำถามหรืออธิบายในสิ่งที่ไม่รู้ ไม่เข้าใจ หรือหาความเชื่อมโยง และประเด็นที่มีความซับซ้อน

4.ใช้ช่วยพิสูจน์อักษรปรับปรุงถ้อยคำ (Proofread) ช่วยปรับปรุงหรือแก้ไขงานเขียนให้มีความเหมาะสม ทางการมากขึ้น 

5. ใช้ช่วยออกแบบและสร้างสรรค์เนื้อหา (Creative Content) ช่วยสนับสนุน สร้างผลงานเชิงสร้างสรรค์อย่างเหมาะสม

 

 ส่วน 5 สิ่งที่อย่าทำ หรือ ต้องระวังเมื่อใช้ ChatGPT คือ 

1. อย่าใช้เพื่อเขียนงานแทนเรา (Copy & Paste) ไม่ควรใช้เพื่อสร้าง หรือเขียนงานแทน แล้วนำงานที่เขียนได้ไปใช้หรืออ้างอิงเป็นงานของตนเอง์  

2. อย่าเชื่อข้อมูลแบบสุ่มสี่สุ่มห้า ตรวจสอบก่อนเสมอ (Check) ไม่ควรนำผลลัพท์ที่ได้ไปใช้ โดยไม่ตรวจสอบความถูกต้อง ความเหมาะสม หรือใช้ทั้งๆ ที่ไม่สามารถอ้างอิงข้อมูลหรือแสดงแหล่งที่มาได้ 

3. อย่าพิมพ์ข้อมูลสำคัญ ข้อมูลความลับของหน่วยงานลงไป (Restricted/Confidential) ไม่ควรใช้ในการป้อนข้อมูลสำคัญ ข้อมูลที่เป็นความลับ ข้อมูลที่มีความอ่อนไหว และข้อมูลที่จำกัดการเข้าถึงขององค์กรลงไป 

4. อย่าสอบถามหรือให้ข้อมูลที่ผิดจริยธรรม (Ethics) ไม่ควรใช้ในการสอบถามหรือให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับเรื่องที่ผิดจริยธรรม ศีลธรรม และขัดต่อวัฒนธรรมอันดีของสังคม 

5. อย่าสอบถามหรือให้ข้อมูลในเรื่องที่ผิดกฎหมาย (Regulation) ไม่ควรใช้ในการสอบถามหรือให้ข้อมูล ตลอดจนนำไปใช้เพื่อการหลอกลวง ฉ้อโกง และสิ่งที่ผิดกฎหมาย    

เมื่อรู้แล้วว่าควรใช้งาน ChatGPT อย่างไร อะไร ควร-ไม่ควร ก็สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางกันได้ เพื่อให้การใช้งานเทคโนโลยีนี้ ก่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด 

ที่มา ; เดลินิวส์ 15 เมษายน 2566

ข่าวเกี่ยวกัน

GPT-4 ปัญญาประดิษฐ์เปลี่ยนโลกมาถึงแล้ว

ประเด็นใหญ่ที่สุดที่แทบทุกคนในวงการเทคโนโลยีกำลังตั้งตัวตั้งสติรับมือในระยะนี้ ไม่มีอะไรจะเกินกว่าการเปิดตัวของ GPT-4 

เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2566 โดยบริษัท OpenAI https://openai.com/product/gpt-4 ซึ่ง GPT-4 คือเครื่องมือสมองกลสารพัดประโยชน์ ที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยอดเยี่ยม ด้วยความรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์

การปฏิวัติของปัญญาประดิษฐ์ครั้งนี้ เป็นสิ่งซึ่งเราอาจเข้าใจยากในระยะแรก หรือบางท่านอาจจะไม่ได้ยินเรื่องนี้เลย และอาจคิดว่าเป็นเรื่องการโฆษณาชวนเชื่อเกินจริง และเดี๋ยวก็คงผ่านไปเมื่อมีของเล่นใหม่ออกมาล่อใจอีก อีกทั้งคงจะไม่เกี่ยวข้องหรือกระทบกระเทือนกับการกินอยู่ของเรา  

แต่ผมขอเชิญชวนให้ท่านผู้อ่านให้ความสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ เพราะนี่คือการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ที่สุดของมนุษย์โลก เราทุกคนไม่มีทางเลี่ยง และต้องเตรียมตัวเตรียมใจปรับตัว พร้อมรับมือกับโลกใหม่ พฤติกรรมใหม่ของมนุษย์ ไม่มีโอกาสย้อนกลับไปในอดีตอีก และการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้จะเกินกว่าจินตนาการของเรา

GPT-4 และสมองกลของอีกหลายบริษัท ที่กำลังพัฒนาและทดลองในสนามจริงกับผู้บริโภคบางส่วนในระยะนี้ มีความสามารถในการคำนวณ ค้นคว้า วิเคราะห์ วิจัยและจัดข้อมูลเป็นคำตอบแบบเขียนเป็นรายงาน เขียนโค้ดซอฟต์แวร์ บันทึกเสียง หรือวิดีโอ โดยสมบูรณ์ ด้วยสมรรถนะที่เกือบเท่ามนุษย์ และในบางกรณีทำได้ดีและเก่งกว่ามนุษย์ 

ปัญญาประดิษฐ์ระดับนี้กำลังสร้างความประหลาดใจให้ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย เพราะขีดความสามารถของการเรียนรู้และปรับปรุงตัวเพิ่มทวีคูณโดยปริมาณของข้อมูล ความละเอียดลึกซึ้งซับซ้อน และวิธีการประมวลความคิดเพื่อสรุปคำตอบนั้น มหัศจรรย์เกินกว่าที่เราเคยผ่านมาก่อน และยังไม่รู้ว่าจะพัฒนาไปไกลอีกแค่ไหน

ระบบของปัญญาประดิษฐ์แบบ GPT-4นี้ แตกต่างจากคอมพิวเตอร์หรือเครื่องมือสื่อสารที่เราใช้อยู่ปัจจุบัน ซึ่งทำตามคำสั่งของเรานั้น แต่ GPT-4 มีระดับมันสมองที่สามารถสื่อสารตอบโต้กับเรา  และพัฒนาขีดความสามารถเฉพาะเจาะจงที่ตัวเรา จะเรียนรู้และจำว่าเราชอบอะไร และเดาว่าต่อไปเราจะคิดอย่างไร สรุปคือในที่สุดก็จะรู้จักเราดีกว่าเรารู้จักตนเอง พัฒนาไปพร้อมกับเรา และจะแซงเราไปในที่สุด

GPT-4 กำลังรวบรวมข้อมูลที่มีอยู่ในโลกดิจิตัลในปัจจุบันเข้าระบบ ทั้งคำสนทนา รูปภาพ วิดีโอส่วนตัวของแต่ละคน หนังสือทุกเล่มในโลก เพลงที่อัดเสียง ภาพยนตร์ทุกเรื่อง บทวิจัยค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ทุกชิ้น ศิลปกรรม บทกวี คำปราศรัยทางการเมือง การสอนของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยทุกแห่ง รวมทั้งซอฟต์แวร์โค้ดต่างๆ

ตัวอย่างของการใช้งานซึ่งกำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันเช่น ภายในไม่กี่นาทีหลังจากได้รับคำสั่ง ปัญญาประดิษฐ์จะส่งผลงานค้นคว้าทำรายงานนักศึกษา ค้นคว้ากฎหมายเตรียมข้อมูลให้ทนายความ วินิจฉัยโรคช่วยเหลือแพทย์และพยาบาล ทำเว็บไซต์เพื่อขายสินค้าพิเศษ ออกแบบสินค้าเฉพาะเจาะจงต่อตลาด วางแผนการทหาร แต่งเพลง วาดเขียน สร้างภาพยนตร์ คิดคำนวณการเดินทางไปในอวกาศ และเขียนบทความในสื่อมวลชนต่างๆ เป็นต้น

ขณะที่เรากำลังดีใจกับ'คุณอนันต์'ของปัญญาประดิษฐ์ ภาคเอกชนและภาครัฐหลายกลุ่มโดยเฉพาะในอเมริกาและยุโรปกำลังรณรงค์เรียกร้องให้รีบตั้งกติกาและกฎหมายควบคุมไม่ให้มี'โทษมหันต์'

ประเด็นที่หลายคนเป็นห่วงก็คือแหล่งที่มาของข้อมูล ได้มาถูกต้องหรือไม่ ใครเป็นผู้ใช้เครื่องมือนี้ เป็นตัวจริงที่สามารถอ้างอิงได้หรือไม่ หรือเป็นตัวปลอมมิจฉาชีพซึ่งแอบแฝงเข้ามา และจะมีวิธีใดที่ผู้บริโภคทั่วไปจะสามารถแยกความจริงจากความเท็จ ฯลฯ 

ปัจจุบันบริษัทปัญญาประดิษฐ์ระดับนี้ทั้งหลายกำลังทดลองโดยการปล่อยซอฟต์แวร์แบบ raw models ให้ผู้ที่มีความสนใจเรื่องซอฟต์แวร์ทั่วโลกทดลองใช้ โดยไม่มีขอบเขตจำกัด และมีตัวอย่างว่ามีการออกคำสั่งให้ปัญญาประดิษฐ์ค้นคว้าไวรัสไข้หวัดนกที่อันตรายที่สุดตั้งแต่ ค.ศ. 1918 หรือแนะนำการวางระเบิดอาคารสำคัญ เป็นต้น สิ่งท้าทายคือทำอย่างไรจะไม่ให้ผู้ก่อการร้ายใช้เครื่องมือนี้ในทางทำลาย

เศรษฐกิจ การเมือง และผู้บริโภคกำลังพ่ายแพ้ต่อบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งทุ่มทุนมหาศาลศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคแต่ละคน และนำข้อมูลมาใช้ในการหว่านล้อมจูงใจให้ตัดสินใจซื้อขายสินค้า จ่ายเงิน ทำสัญญา หรือลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง โดยที่ผู้บริโภคนั้นไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกอิทธิพลมาครอบงำอยู่ 

GPT-4 หรือระบบคล้ายกันอาจถูกนำเข้ามาใช้แล้วในสังคมไทยโดยที่เรายังไม่รู้ตัว ข้อมูลการสนทนา ภาพถ่าย วิดีโอ ต่างๆทั้งส่วนตัวและของกลุ่ม ในโซเชียลมีเดียยอดนิยมต่างๆนั้น อาจถูกนำไปใช้เพื่อจูงใจเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองแล้ว 

ระยะนี้เป็นฤดูเลือกตั้ง ผลของการหยั่งเสียงความนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองนั้น บางส่วนอาจจะทำโดยมนุษย์เหมือนที่เคยทำมา แต่บางส่วนอาจจะมีการใช้ปัญญาประดิษฐ์แล้ว การแบ่งปันข้อมูลในกลุ่ม LINE, Facebook, instagram, etc. ทั้งคำชมและคำตำหนิ ให้หลงใหลหรือเกลียดชังนักการเมืองหรือพรรคการเมืองในการเลือกตั้งครั้งนี้ อาจจะถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกที่มีปัญญาประดิษฐ์เป็นตัวแปรที่สำคัญ 

ภูมิรัฐศาสตร์ของไทยสำคัญมากต่อความเข้มแข็งและความอยู่รอดของมหาอำนาจ อเมริกาและจีนกำลังแข่งขันทางการค้า ความมั่นคงและการพัฒนาเทคโนโลยี  มีส่วนได้เสียกับผลการเลือกตั้งของไทยครั้งนี้ จึงไม่ประหลาดใจว่า มีเทคโนโลยีบางอย่างและทรัพยากรจากต่างประเทศเข้ามาแทรกซึมกับจิตวิทยามวลชน ซึ่งเราเห็นตัวอย่างแล้วจากการเลือกตั้งของแทบทุกประเทศ 

สิ่งที่มีค่าที่สุดในระบอบประชาธิปไตยคือ 'หนึ่งคนมีหนึ่งเสียงเท่าเทียมกัน' ในคูหาเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค.นี้ เราทุกคนมีความรับผิดชอบและมีหน้าที่พลเมืองที่จะต้องช่วยกันตัดสินอนาคตของประเทศ อย่าพลาดโอกาสนี้ และขอให้ใช้วิจารณญาณของท่านล้วนๆ 

การเลือกตั้งครั้งนี้อาจจะเป็นครั้งสุดท้ายที่เรา(มนุษย์)เป็นผู้กำหนดอนาคตของเราเอง และจากวันนี้จนถึงวันเลือกตั้ง กรุณาให้ความสนใจเป็นพิเศษกับการแบ่งปันข้อมูลในโซเชียลมีเดีย ที่อาจจะเป็นการชักจูงจากปัญญาประดิษฐ์ครับ

บทความโดย By กฤษฎา บุญเรือง 

ที่มา ; กรุงเทพธุรกิจ 01 พ.ค. 2566

เกี่ยวข้องกัน

รวม 5 ทริก ChatGPT ใช้ให้เป็น เล่นให้ถูก 

ChatGPT คืออะไร?
         
ChatGPT เป็นเครื่องมือประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing) ที่ขับเคลื่อนด้วย AI กล่าวอย่างง่ายคือ ChatGPT เป็น AI ที่เชี่ยวชาญด้านภาษาเป็นพิเศษ และเข้าใจภาษามนุษย์ รวมถึงตอบสนองตามสิ่งที่มนุษย์ต้องการได้ อย่างไรก็ดี ChatGPT ยังมีข้อจำกัดบางประการ เช่น การคำนวณทางคณิตศาสตร์ขั้นสูง การดึงข้อมูลบางส่วนที่อาจไม่อัปเดต ดังนั้น ผู้ใช้จึงควรทำความเข้าใจถึงความสามารถและขีดจำกัด รวมถึงวิธีการใช้ ChatGPT อย่างมีประสิทธิภาพด้วย 

1. ตั้งคำถาม/คำสั่งต้องชัดเจน
          ลองจินตนาการให้มีคนมาถามเราว่า “อะไรเอ่ยบินได้?” เราคงมีคำตอบในใจตั้งแต่นกถึงเครื่องบิน เช่นกันกับ ChatGPT หากเราตั้งคำถามไว้กว้างมากเกินไปอาจทำให้เราไม่ได้คำตอบที่เราต้องการ ดังนั้น เราจึงควรตั้งคำถามที่เติมรายละเอียดเข้าไปให้มากเท่าที่ทำได้ แล้ว ChatGPT จะให้คำตอบที่เราต้องการ
          ตัวอย่างคำถาม/คำสั่งที่ไม่ควรใช้: “สัตว์ปีกที่บินได้คืออะไร?” หรือ “จงเขียนเรียงความ”
          ตัวอย่างคำถาม/คำสั่งที่ควรใช้: “สัตว์ปีกมีวิวัฒนาการมาอย่างไร?” หรือ “จงเขียนเรียงความหัวข้อ บ้านของฉัน ความยาวไม่เกิน 8 บรรทัด”
 

2. ใช้น้อง (ChatGPT) ต้องอดทน
          ChatGPT เหมือนเด็กอัจฉริยะคนหนึ่ง แม้ว่าจะคิดไวและคิดได้แทบทุกเรื่องบนโลกใบนี้ แต่ ChatGPT ก็ต้องใช้เวลาในการประมวลผล เนื่องจาก ChatGPT เป็น AI แบบ Limited Memory ทำให้เมื่อได้รับคำถามหรือคำสั่งจากผู้ใช้แล้วจึงประมวลผลด้วยข้อมูลขนาดมหาศาลที่เก็บไว้ นอกจากการประมวลผลแล้ว ChatGPT ต้องใช้เวลาอีกส่วนหนึ่งเพื่อกลั่นกรองให้คำตอบหรือผลลัพธ์เป็นไปตามที่ผู้ใช้กรอกมามากที่สุด ดังนั้นสิ่งนี้เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ผู้ใช้ควรกรอกคำสั่งหรือคำถามให้ละเอียด เพื่อประหยัดเวลาตนเองและช่วยให้ ChatGPT ทำงานง่ายขึ้นด้วย
 

3. ใช้พี่ (ChatGPT) ปิ๊งไอเดีย
          ความสามารถของ ChatGPT ไม่ได้มีเพียงแค่ตอบคำถามกับทำตามคำสั่งเท่านั้น เรายังสามารถโยนโจทย์คำถามปลายเปิดให้ ChatGPT ได้โยนไอเดียกลับมาหาเรา เนื่องจาก ChatGPT สามารถตอบคำถามเดิมกี่รอบก็ได้ ดังนั้น เราก็จะได้ไอเดียที่แตกต่างกันและน่าสนใจมากขึ้น บางที ChatGPT อาจจะจุดประกายไอเดียอะไรบางอย่างให้เราก็ได้ ให้เพื่อนครูเล่น ChatGPT ด้วยคำสั่ง “Create an integrated classroom activity in mathematics class to promote emotional intelligence” (จงสร้างกิจกรรมชั้นเรียนแบบบูรณาการในรายวิชาคณิตศาสตร์เพื่อส่งเสริมความฉลาดทางอารมณ์) หรือลองปรับเป็นวิชาอื่น ๆ ก็อาจพบไอเดียที่น่าสนใจจาก AI ตัวนี้
 

4. หาคำสั่งที่ชอบ เพื่อให้ได้คำตอบที่ใช่
          เนื่องด้วย ChatGPT เป็นแบบ AI แบบ Limited Memory ดังนั้นเราจึงต้องพยายามหาประโยคสนทนากับ ChatGPT สำหรับสั่ง/ถาม หรือ Prompt ให้เหมาะสมกับคำตอบที่เราต้องการ โดยเราสามารถหา Prompt ได้ 2 แบบ แบบแรกคือการหา 
Prompt ด้วยตัวเองผ่านการทดลองแบบลองผิดลองถูก เมื่อเราทดลองใช้ Prompt สัก 2 – 3 ครั้งแล้วเห็นว่า ChatGPT ให้คำตอบที่เราต้องการ เราก็สามารถนำ Prompt นี้ไปใช้ได้ ส่วนแบบที่ 2 คือการนำ Prompt สำเร็จรูปจากผู้ใช้คนอื่นที่ผ่านการทดลองมาใช้ได้เหมือนกัน เพราะเป็นคำสั่งชุดเดียวกัน ย่อมให้คำตอบเบื้องต้นคล้ายกัน ทั้งนี้ ผู้ใช้ควรตรวจสอบคำตอบหรือข้อมูลที่ได้จาก ChatGPT ให้ทุกครั้ง เพื่อกลั่นกรองอีกขั้นหนึ่ง 

5. ใช้คนเดียวไม่สนุก ชวนเพื่อนลุกมาใช้ด้วย
          ในเมื่อ AI เป็นของใหม่ ทันสมัย และมีประโยชน์ขนาดนี้ คงดีไม่น้อยหากครูผู้ใช้จะชักชวนเพื่อนครูเข้าสู่วงการ AI ด้วยเหมือนกัน เพื่อก่อให้เกิดชุมชน 
ครู 4.0” ภายในโรงเรียน จุดมุ่งหมายของชุมชน “ครู 4.0” คือการสร้างห้องเรียนที่ทันสมัยเพื่อนักเรียนที่ทันสมัยด้วยครูที่ทันสมัย และเมื่อโรงเรียนใช้ AI หรือเทคโนโลยีสำหรับการจัดการเรียนรู้ในระยะยาวแล้วก็จะเกิดเป็นสมรรถนะด้านการใช้เทคโนโลยีที่ฝังรากลึกในผู้บริหาร ครู และนักเรียน ดังนั้น การเปิดวงสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ AI และเทคโนโลยีจึงถือเป็นการขับเคลื่อนให้การเรียนการสอนภายในโรงเรียนเข้าสู่ยุค “ครู 4.0” และ “โรงเรียน 4.0” อย่างแท้จริง
          AI เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์แก่วงการศึกษาอย่างมาก อนาคตการศึกษาไทยจึงฝากความหวังกับผู้นำทางการศึกษาทั้งในระดับผู้บริหารและครูผู้ปฏิบัติงาน ในการเป็นผู้บุกเบิกนำ AI เข้ามาปรับใช้กับการศึกษาไทยอย่างจริงจัง เพื่อขับเคลื่อนให้การศึกษาไทยยังคงทันสมัยและก้าวทันโลกต่อไป
 

แหล่งอ้างอิง
Hspray. (2023). 6 Tips and Tricks for using ChatGPT. Sprint. 
https://thesprintgroup.com/blog/6-tips-and-tricks-for-using-chatgpt/

Peridot. (2023). ChatGPT คืออะไร? ใช้งานอย่างไร? วิธีป้อนคำสั่ง? มาดูกันเถอะ. Designil. 
https://www.designil.com/chatgpt/#withi_kar_pxn_kha_sang_Prompt_kab_ChatGPT_hi_kheiyn_bthkhwam

 

ทีมา ; EDUCA

ความเห็นของผู้ชม

 แสดงความคิดเห็น