ค้นหา

ชู ”คอนเน็กซ์ อีดี” โครงการระดับชาติต้องไปต่อ

เมื่อวันที่ 12 พ.ค. กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมกับ มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์ อีดี (CONNEXT ED) จัดการประชุมสามัญประจำปี 2566 ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการศึกษาไทย โดยมี พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี และประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์มูลนิธิฯ พร้อมด้วย นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิฯ ตลอดจนคณะผู้บริหารจากภาคเอกชน และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เข้าร่วมหารือ 

โดย นางสาวตรีนุช กล่าวว่า โครงการสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี ต่อยอดมาจากโครงการโรงเรียนประชารัฐ ในปี 2559 ซึ่งเกิดจากการผนึกกำลังของ 3 ภาคส่วนหลัก ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน จำนวน 43 องค์กรเอกชนชั้นนำของไทย ซึ่งตนขอขอบคุณ พลเอก ดาว์พงษ์ ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์มูลนิธิฯ และองค์กรภาคเอกชน ที่ได้ร่วมทุ่มเทพลังกาย พลังใจ รวมพลังกับภาครัฐ ขับเคลื่อนและยกระดับคุณภาพการศึกษา ช่วยให้การศึกษาไทยก้าวหน้า อย่างรอบด้าน ทั่วถึง ครอบคลุม ทุกกลุ่มคน ทุกพื้นที่ อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น และในโอกาสนี้ ขอร่วมแสดงความยินดีกับมูลนิธิฯ ที่ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ จากคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี รางวัล “ค่าของแผ่นดิน” ประเภท โครงการด้านการส่งเสริมและพัฒนาการศึกษา ซึ่งเป็นรางวัลที่ยกย่องเชิดชูเกียรติ เป็นขวัญกำลังใจแก่หน่วยงานที่ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ และเป็นต้นแบบแห่งการสร้างสรรค์ความดี 

นางสาวตรีนุช กล่าวต่อไปว่า การดำเนินงานของโครงการ Connext ED ถือเป็นตัวอย่างโครงการระดับชาติที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ของคำว่า “การมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของทุกภาคส่วน” ซึ่งความร่วมมือดังกล่าว ช่วยให้เกิดห้องเรียนคุณภาพ โรงเรียนคุณภาพทุกพื้นที่และเป็นสถานศึกษาที่ปลอดภัย เด็กไทยทุกคนได้รับโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพ เสมอภาค เท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ เด็กทุกคนได้เรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ 

รมว.ศธ. กล่าวอีกว่า ในปีที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการ ได้ผลักดันการดำเนินงานต่างๆ ของโครงการอย่างเต็มกำลัง ได้แก่ การพัฒนาระบบการเก็บข้อมูลพื้นฐาน ที่นำไปสู่การวางแผนการยกระดับคุณภาพการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ หรือ School Management System (SMS) และ ระบบ School Grading ซึ่ง ปัจจุบัน โรงเรียน Connext ED ทั้ง 5,567 แห่ง ได้ใช้ระบบนี้แล้ว และ สพฐ. ได้ตั้งคณะทำงานศึกษาและวางแผนการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างฐานข้อมูลของ สพฐ. กับระบบ SMS ให้เป็นฐานข้อมูลที่เป็นเอกภาพในอนาคต, มีการเติมเต็มอุปกรณ์ ICT Notebook for Education โดยมีเป้าหมายที่จะสนับสนุนให้นักเรียนยากจนพิเศษ 1.6 ล้านคน เข้าถึงอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนรู้ นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุน ICT Talent หรือ ผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ในการเข้าไปสร้างความมั่นใจในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการสอนให้แก่ครู โดยมี ICT talent จาก สพฐ. 1,526 คน และจากภาคเอกชน อีก 200 คน ร่วมดูแลโรงเรียน Connext ED กว่า 4,100 โรงเรียนทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีการเติมเต็มทักษะการสอนแก่ครู เช่น เทคนิคการสอนแบบ Active Learning ทักษะการโค้ชชิ่ง ทักษะด้านภาษาอังกฤษ ทักษะในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะ Digital skill ซึ่งเป็นอีกองค์ความรู้ที่ครูได้รับจากการดำเนินโครงการนี้ 

จากความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของโครงการนี้ กระทรวงศึกษาธิการ โดย สพฐ. จึงได้ถอดบทเรียน เป็นโมเดลการพัฒนาโรงเรียน Connext ED ที่เป็นผลความร่วมมือระหว่างภาครัฐและองค์กรภาคเอกชนต่างๆ รวมทั้งสิ้น 17 โมเดล และจะนำโมเดลความร่วมมือนี้ ไปขยายผล ประยุกต์ใช้กับโรงเรียนอื่นๆ ต่อไป ทั้งนี้ ในนามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ขอให้ทุกท่านมั่นใจว่า โครงการที่สร้างโอกาสการเรียนรู้แก่เด็กไทยทุกคน ยกระดับคุณภาพการศึกษาได้อย่างเห็นผลชัดเจน เช่น โครงการ Connext ED นี้ จะได้รับการสานต่อ ต่อไป” นางสาวตรีนุช กล่าว 

ที่มา ; มติชนออนไลน์ 12 พฤษภาคม 2566

เกี่ยวข้องกัน

มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี เดินหน้าขับเคลื่อนการศึกษาไทย 

มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี จัดการประชุมสามัญ ประจำปี 2566 คณะกรรมการมูลนิธิฯ เป็นปีที่ 4 ในรูปแบบออนไลน์ นำโดย องคมนตรี พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ในฐานะประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ พร้อมด้วยคณะที่ปรึกษาและผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐ โดยนางสาวตรีนุช เทียนทอง  รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ภาคประชาสังคม และนายศุภชัย เจียรวนนท์  ประธานกรรมการมูลนิธิฯ และประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ตลอดจนซีอีโอ คณะผู้บริหารจาก 12 องค์กรผู้ร่วมก่อตั้ง และคณะทำงานมูลนิธิฯ เพื่อสานต่อภารกิจ ร่วมหารือและวางแผนงาน เดินหน้าความร่วมมือที่เข้มแข็งจากทุกภาคส่วน ในการร่วมยกระดับการจัดการการศึกษาในโรงเรียนคอนเน็กซ์อีดีที่อยู่ในสังกัด สพฐ. จำนวน 5,570 แห่ง ทั่วประเทศ 

โดยมีผลการดำเนินงานสำคัญและความคืบหน้าตาม 5 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่

1.การเปิดเผยข้อมูลโรงเรียนสู่สาธารณะอย่างโปร่งใส (Transparency)

·      พัฒนาระบบเก็บข้อมูล (School Management System) และขยายผลการใช้งานสู่โรงเรียนคอนเน็กซ์อีดีทั่วประเทศครบ 100% แล้ว

·      ตั้งเป้าหมายให้โรงเรียนมีผลการประเมินคุณภาพโรงเรียน (School Grading) ในระดับดี (Good) ขึ้นไป เพิ่มจาก 78% ในปีที่ผ่านมา เป็น 90% ของจำนวนโรงเรียนคอนเน็กซ์อีดีทั้งหมด 

 

2.กลไกตลาดและวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม (Market Mechanisms)

·      ได้ดำเนินการตามนโยบายโครงการผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (ICT Talent) ซึ่งภาครัฐให้การสนับสนุนเพิ่มขึ้นปีละ 500 คน ทำให้ปัจจุบันมี ICT Talent ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐรวม 2,000 คน ดูแล 4,100 โรงเรียนทั่วประเทศ

·      การระดมทุนโครงการ “คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กเพื่อการศึกษา” (Notebook for Education) ระยะที่ 3 มียอดบริจาคมาแล้วกว่า 45 ล้านบาท ผ่าน connexted.org

·      มีจำนวนผู้นำรุ่นใหม่ (School Partner) ตั้งแต่ปีแรกรวม 1,567 คน ซึ่งจากผลสำรวจพบว่า 93% ของเหล่า School Partner สามารถนำความรู้มาปรับใช้ในการทำงานและการดำเนินชีวิตได้ในระดับดีถึงดีมาก โดยตั้งเป้าจะเพิ่มองค์กรพันธมิตรเพื่อดูแลโรงเรียนให้ครบ 5,570 แห่งทั่วประเทศ 

 

3.การพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน (High Quality Principals & Teachers)

·      พัฒนาบุคลากรทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดอบรมครูมาแล้วกว่า 60,000 คน เสริมแกร่งทักษะในด้านต่างๆ อาทิ ทักษะในศตวรรษที่ 21 การ Coaching การเป็น Facilitator ภาษาอังกฤษทักษะดิจิทัลและความรู้ด้านจิตวิทยา 

 

4.เด็กเป็นศูนย์กลาง เสริมสร้างคุณธรรมและความมั่นใจ (Child Centric & Curriculum)

·      พัฒนาระบบสมุดพกดิจิทัล (Student Report Card) พร้อมหารือภาครัฐเพื่อเชื่อมระบบและขยายผลการใช้งานสู่ 30,000 โรงเรียนภายใต้ สพฐ. ทั่วประเทศ

·      ปัจจุบันนำร่องศูนย์การเรียนรู้ชุมชน (Learning Center) ใน 27 โรงเรียนทั่วประเทศ และล่าสุด ภาครัฐเห็นชอบนำนโยบายดังกล่าวไปขยายผลในทุกโรงเรียนทั่วประเทศ

·      ส่งมอบชุดความรู้นวัตกรรมคุณธรรมคอนเน็กซ์อีดี (CONNEXT ED Moral Innovation) แก่ภาครัฐ พร้อมเดินหน้าขยายผลต่อเนื่อง 

 

5.การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของสถานศึกษา (Digital Infrastructures)

·      ภาครัฐสนับสนุนงบประมาณ จำนวน 5 ล้านบาท จัดทำ “โครงการวิจัยและพัฒนารูปแบบการอบรม ออกแบบการจัดการเรียนรู้ PCARE เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการใช้ Digital Device Based Learning (DDBL) ในการจัดการเรียนรู้เชิงรุก” ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เพื่อดำเนินการจัดอบรมคุณครูในโรงเรียนที่ได้รับคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก 

ทั้งนี้ เป็นที่น่ายินดีที่ล่าสุด คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มอบรางวัล ค่าของแผ่นดิน” ประเภทโครงการส่งเสริมและพัฒนาการศึกษา ให้แก่มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี ซึ่งเป็น 1 ใน 54 ผลงานที่ได้รับรางวัลจากการส่งเข้าประกวดรวม 847 ผลงาน ตอกย้ำความร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วน ที่ได้สร้างผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมและการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จ จนเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง และในโอกาสนี้ ยังได้แนะนำ 3 เครือข่ายพันธมิตรใหม่ ได้แก่ บจ. เอ็ดดูเคชั่น อีซี่ (ไทยแลนด์) บจ. ฟู้ดแพชชั่น และสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ทำให้ปัจจุบัน มูลนิธิฯ ขยายเครือข่ายความร่วมมือรวมเป็น 50 องค์กร 

สำหรับองค์กรที่สนใจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี เพื่อร่วมขับเคลื่อนการศึกษาไทย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่คณะทำงานมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี โทร. 02-8581881-2 หรืออีเมล: Partners.connexted@truecorp.co.th ทั้งนี้ สามารถติดตามข่าวสารและกิจกรรมของมูลนิธิฯ ได้ที่ connexted.org 

 

ข้อมูล FB connexted.org 

ที่มา ; ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 16 พฤษภาคม 2566

ความเห็นของผู้ชม

 แสดงความคิดเห็น