เมื่อวันที่ 19 ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ตนได้เยี่ยมให้กำลังใจศึกษานิเทศก์ซึ่งทำหน้าที่ผู้นำเครือข่ายท้องถิ่น (Local Network: LN) และครูที่ทำหน้าที่วิทยากรท้องถิ่น (Local Trainer : LT) โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยประเทศไทย ระดับปฐมวัย ที่เข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการกิจกรรมสร้างความตระหนักและความรู้ ทักษะเชื่อมโยงกับสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวทางการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ESD : Education for Sustainable Development) ระดับปฐมวัย ภาคกลาง ณ โรงแรมบางกอกพาเลซ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักบริหารงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา (สบว.) สพฐ. ได้จัดการอบรมดังกล่าวขึ้น เพื่อพัฒนา LN และ LT ทั่วประเทศจำนวน 550 คน โดยแบ่งการอบรมตามภูมิภาคต่างๆ จำนวน 4 ภูมิภาค เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ และ LN/LT ทั้งหมดจะนำความรู้จากการอบรมครั้งนี้ไปต่อยอดขยายผลให้กับครูผู้สอนระดับปฐมวัยในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่รับผิดชอบ ซึ่งมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการจำนวน 29,605 โรงเรียน มีนักเรียนระดับปฐมวัยเข้าร่วมกว่า 871,500 คน ทั่วประเทศ
สำหรับการอบรมเชิงปฏิบัติการกิจกรรมสร้างความตระหนักและความรู้ ทักษะเชื่อมโยงกับสังคม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวทางการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Education for Sustainable Development : ESD) เพื่อตอบสนองแนวทาง 17 ข้อของ UN Sustainable Development Goals (SDGs) เป็นการเชื่อมโยงและประยุกต์มิติการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ มาปรับให้เหมาะสมกับเด็กปฐมวัยซึ่งดัดแปลงเป็นสามเหลี่ยมของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Triangle) ประกอบด้วยสามด้าน แต่ละด้านมีความสัมพันธ์ต้องรักษาสมดุลกัน ได้แก่ ด้านสังคม (Society) ด้านเศรษฐกิจ (Economy) และด้านสิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศ (Environment/Ecology) จึงมีการบริหารจัดการและกำหนดกระบวนการ แนวคิดให้สอดคล้องกับเป้าหมายและสิ่งที่สำคัญคือ การพัฒนาคุณสมบัติครูผู้สอนที่สะท้อนออกมาเป็นค่านิยมที่แสดงออกในภาคปฏิบัติ (Practiced values) ดังนั้น ครูจะทำหน้าที่ทั้งเป็นผู้เอื้ออำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ของเด็ก (Facilitators) และเป็นต้นแบบ (Role models) ผ่านหัวข้อการอบรม จำนวน 4 หัวข้อ ได้แก่ 1. ค้นพบความหลากหลายของพืช 2. น้ำล้างสิ่งสกปรก 3. การสำรวจวัสดุ และ 4. ความร้อนเป็นพลังงานรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นการสร้างความตระหนักในการใช้อย่างคุ้มค่า นำกลับมาใช้ใหม่ ดูแลและอนุรักษ์ เพื่อความยั่งยืนผ่านกิจกรรมการเรียนรู้
รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า การปลูกฝังนักเรียนระดับปฐมวัยมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นช่วงวัยแห่งการเรียนรู้ การแสวงหาความสนใจและเป็นช่วงวัยแห่งการสร้างทักษะกระบวนการต่างๆ อย่างดียิ่ง ดังนั้น เด็กๆที่ได้รับการฝึกให้มีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ รู้จักการตั้งคำถาม การสังเกตุ การรวบรวมข้อมูลและการสำรวจตรวจสอบอย่างเป็นระบบเพื่อหาคำตอบด้วยตัวเองจะนำไปสู่โครงงานที่มีคุณภาพในระดับสูงต่อไป
การบ่มเพาะผ่านกระบวนการจัดการเรียนรู้ตามโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย และที่สำคัญการอบรมครั้งนี้ได้เริ่มปลูกฝังและบ่มเพาะ รวมทั้งให้เด็กๆ ได้ตระหนักถึงการใช้ความรู้และทักษะเพื่อเชื่อมโยงกับสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามแนวทางการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ ESD เป็นการสร้างเยาวชนไทยที่พร้อมกับโลกอนาคต สามารถดำรงอยู่ในสังคมและเป็นพลเมืองโลกอย่างผาสุกได้อย่างแน่นอน.
“เด็กปฐมวัยจะเกิดทักษะ การคิดเป็นระบบ คิดวิเคราะห์ คิดเชื่อมโยง รวมทั้งมีเหตุมีผล ซึ่งจะเป็นผู้ใหญ่ที่ดีต่อไปนั้น ต้องเริ่มจากการได้รับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีความหมาย คุณค่า ที่โรงเรียนซึ่งต้องอาศัยศึกษานิเทศก์ซึ่งทำหน้าที่ผู้นำเครือข่ายท้องถิ่น (Local Network: LN) และครูที่ทำหน้าที่วิทยากรท้องถิ่น (Local Trainer : LT) โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยประเทศไทย ระดับปฐมวัย ที่ผ่านการอบรมครั้งนี้ทุกคน ได้ร่วมกันขยายผลความรู้ไปสู่ครูผู้สอนปฐมวัยทุกคน เพื่อให้สามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ Active Learning ทั้ง 4 หัวข้อให้กับนักเรียนปฐมวัยทุกคน อย่างจริงจังและเกิดผลสำเร็จ ทั้งหัวข้อค้นพบความหลากหลายของพืช น้ำล้างสิ่งสกปรก การสำรวจวัสดุ และความร้อนเป็นพลังงานรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้นักเรียนเข้าใจธรรมชาติรอบตัว เห็นคุณค่าและร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อมรอบตัวนักเรียน ส่งผลให้สังคมน่าอยู่เต็มไปด้วยธรรมชาติ ทั้งนี้ สพฐ. ต้องขอขอบคุณทีมวิทยากรหลักโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กลุ่มบริษัท บี.กริม ที่ให้การสนับสนุนและร่วมเป็นวิทยากรในครั้งนี้ด้วย” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
สพฐ.สร้างผู้นำเครือข่ายและวิทยากรท้องถิ่นพัฒนาเด็กปฐมวัย 29,605 โรงเรียน ผ่านโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยอย่างยั่งยืน
ที่มา ; เดลินิวส์ 20 พฤษภาคม 2566
สาระสำคัญ
โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยประเทศไทย
- เป้าหมายกลุ่มนักเรียนระดับปฐมวัย และนักเรียนระดับประถมศึกษา โรงเรียนสังกัด สพฐ.
- เป้าหมายเชิงคุณภาพที่เกิดกับผู้เรียน ให้มีทักษะการคิด ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เช่น รู้จักการตั้งคำถาม การสังเกตุ การรวบรวมข้อมูลและการสำรวจตรวจสอบ
ศัพท์สำคัญ
1. กลุ่มขับเคลื่อน สพฐ.เพื่อสู่เป้าหมาย ได้แก่
1) ศึกษานิเทศก์ซึ่งทำหน้าที่ผู้นำเครือข่ายท้องถิ่น (Local Network: LN) และ
2) ครูที่ทำหน้าที่วิทยากรท้องถิ่น (Local Trainer : LT)
2. แนวทางและเป้าหมายระดับสากล
-เป้าหมายการพัฒนาที่ยังยืน UN Sustainable Development Goals (SDGs)
-แนวทางการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ESD : Education for Sustainable Development)
-สามเหลี่ยมของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Triangle) อันประกอบด้วยสามด้าน แต่ละด้านมีความสัมพันธ์ต้องรักษาสมดุลกัน ได้แก่
1) ด้านสังคม (Society)
2) ด้านเศรษฐกิจ (Economy) และ
3) ด้านสิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศ (Environment/Ecology)