ค้นหา

คุรุสภาชูความสำเร็จปั้นแม่พิมพ์ “โครงการทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น”

สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา 24 สิงหาคม 2566 ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา และ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ลงนามความร่วมมือ (MOU) บันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อดำเนินการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู บุคลากรทางการศึกษา และร่วมขับเคลื่อนสถาบันต้นแบบในการผลิตและพัฒนาครู ระหว่างสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กับ กสศ. โดยมีผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ผู้บริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ และสื่อมวลชน ร่วมเป็นสักขีพยาน 

เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นการร่วมมือสนับสนุนการศึกษา วิจัย ค้นคว้าแนวทางในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศไทย ออกแบบและปรับปรุงแผนการผลิตและพัฒนาครูแนวใหม่ครอบคลุมการพัฒนากลุ่มเป้าหมายเพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่ผู้เรียน โดยมีสถาบันต้นแบบในการผลิตและพัฒนาครู พัฒนาและสร้างเสริมทักษะวิชาชีพครูตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับอุดมศึกษาให้ตรงกับความต้องการ และเพื่อร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการสนับสนุน ส่งเสริม และปรับปรุงการผลิตและพัฒนาครูของประเทศ ขอบคุณ กสศ.ที่ร่วมวางแผนและกำหนดกลยุทธ์การดำเนินงานเพื่อส่งเสริมและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีศักยภาพ มีคุณธรรมจริยธรรม และมีจิตวิญญาณความเป็นครูตามกลุ่มเป้าหมายที่กำหนด 

ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า กสศ.มีพันธกิจในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครูและโรงเรียน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา มีโครงการทุนครูรัก(ษ์) ถิ่น ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) และ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกลได้เป็นครูรุ่นใหม่ ด้วยวิธีการวิจัยเชิงปฏิบัติการในลักษณะของโซเชี่ยลแล๊บ (SOCIAL LAB) ปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดการเรียนการสอนของคณะครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์ และการพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลเพื่อให้ครูรุ่นใหม่เป็น “ครูนักพัฒนา” หรือ “ครูนวัตกรชุมชน” เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา และลดปัญหาการขาดแคลนครูอย่างยั่งยืน 

ปัจจุบันได้สร้างโอกาสให้นักเรียนด้อยโอกาสที่มีฐานะยากจนที่สุดของประเทศ ให้เข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเพื่อกลับไปสร้างโอกาสให้นักเรียนและโรงเรียนในชุมชนบ้านเกิดตนเอง โดยกระจายตัวทำงานครอบคลุมทั่วประเทศ และปี 2567 นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 1 จำนวน 327 อัตรา จะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่าความร่วมมือของภาคีด้านการศึกษา จะเป็นต้นแบบในการผลิตและพัฒนาครูในโครงการของรัฐในระยะต่อไปได้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการลงนามความร่วมมือกันในครั้งนี้จะสร้างประโยชน์ในอนาคต ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ลดปัญหา การโยกย้ายการขาดแคลนครูในพื้นที่โรงเรียนห่างไกล และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพโรงเรียนและเป็นต้นแบบการผลิตและพัฒนาครูรุ่นใหม่ต่อไป 

ภายในงานมีเวทีเสวนาแลกเปลี่ยน หัวข้อ “โจทย์ที่ท้าทายและก้าวต่อไปของครูรัก(ษ์)ถิ่น สู่การขยายผลทั่วประเทศ” โดย ผศ.ดร.พลรพี ทุมมาพันธ์ รองเลขาธิการคุรุสภา, ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กสศ., อาจารย์อรทัย แซ่จง โรงเรียนบ้านเยาะ จ.ยะลา, อาจารย์กัญญาภัค เฮงพลอย โรงเรียนบ้านขุนแปะ จ.เชียงใหม่, นางสาวชญาดา เจริญวิวัฒน์กุล นักศึกษาทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่น 1 มรภ.เชียงใหม่ และ นายอานัส นิหลง นักศึกษาทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่น 1 มรภ.ยะลา ร่วมเสวนา 

ที่มา ; ศธ 360 องศา

ความเห็นของผู้ชม

 แสดงความคิดเห็น