เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สกศ.ได้เปิดให้มีการประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ฉบับที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2566
โดย สกศ.จะรวบรวมความคิดเห็นเป็นข้อมูลสำคัญประกอบการพิจารณาเสนอร่างกฎหมายต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) และกระบวนการนิติบัญญัติ อย่างไรก็ตาม การยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ถือเป็นงานหลักที่ สกศ.ต้องเร่งดำเนินการ เพราะเป็นนโยบายของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ และที่สำคัญเรื่องนี้ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่ต้องทำให้แล้วเสร็จ แต่ไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาในรัฐบาลที่ผ่านมา ทำให้กฎหมายฉบับดังกล่าวตกไปโดยอัตโนมัติ
นายอรรถพลกล่าวต่อว่า เมื่อมีรัฐบาลใหม่จึงต้องเร่งดำเนินการ โดย สกศ.เลือกที่จะหยิบร่างฉบับที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วมาเปิดรับฟังความคิดเห็นใหม่อีกครั้ง เพราะหากเริ่มนับหนึ่งใหม่ คณะกรรมการกฤษฎีกาก็ต้องใช้เวลาพิจารณาอีกกว่า 1 ปี และกว่าจะวิพากษ์เสร็จก็ทำกฎหมายไม่มีความทันสมัย และอาจเสร็จไม่ทัน 4 ปีในรัฐบาลนี้ แน่นอนว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับเดิมยังมีจุดอ่อน และเสียงคัดค้านในบางเรื่อง
ดังนั้น การจัดทำร่างกฎหมายครั้งนี้จะแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ ร่างพ.ร.บ.การศึกษา จะเน้นเรื่องจะทำอย่างไรให้ผู้เรียนมีคุณภาพ สอดคล้องกับสถานการณ์โลก ส่วนเรื่องของคนและสิทธิประโยชน์ที่ยังเป็นข้อขัดแย้งก็ให้ไปอยู่ในร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. …
“เท่าที่ดูมีประมาณ 14 มาตรา ที่ยังมีข้อวิพากษ์ สกศ.จะนำตัวอย่างการจัดการศึกษาของประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร ฟินแลนด์ และประเทศในยุโรปมาเปรียบเทียบกับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน รวมถึงจะนำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมาร่วมพิจารณา เรื่องทั้งหมดจะต้องตกตะกอน จากนั้นจะเปิดให้ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา มาร่วมกันวิพากษ์เพื่อหาข้อสรุปก่อนปรับแก้รายละเอียด เสนอให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.พิจารณา ก่อนเสนอเข้า ครม.เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ” นายอรรถพลระบุ
นายอรรถพลกล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันข้อห่วงใยของ สกศ.คือเรื่องการเมือง จึงทำงานควบคู่กับคณะกรรมมาธิการ (กมธ.) การศึกษา และอยากให้เกิดการมีส่วนร่วมของพรรคต่างๆ มากขึ้น ผมจึงเข้าร่วมเป็นเลขานุการของ กมธ.ด้านการศึกษาเพื่อให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงและนำแนวทางของแต่ละพรรคมาร่วมพิจารณา เมื่อกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่รัฐสภาก็เชื่อว่าร่างของ กมธ.การศึกษาที่เกิดขึ้นกับร่างที่ ครม.ส่งไปจะมีความสอดคล้องกัน ลดความแตกแยกทางความคิด ทำให้การพิจารณากฎหมายเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
เลขาธิการ สกศ.กล่าวต่อว่า คาดว่าจะสามารถสรุปผลการประชาพิจารณ์ได้ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ก่อนเสนอให้ ครม.พิจารณา จากนั้นจะเสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาอีกครั้ง คาดว่าใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน เพราะเคยพิจารณาไปแล้วครั้งหนึ่ง ก่อนเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในการเปิดสมัยประชุม แต่ยังมีตัวแปรสำคัญ และเป็นข้อห่วงใยอีกเรื่องคือสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ต้องร่วมพิจารณาด้วยจะหมดวาระในเดือนพฤษภาคม 2567 ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะใช้เวลามาดน้อยแค่ไหน ถึงจะมี ส.ว.ชุดใหม่ ก็อาจเป็นตัวแปรแทรกซ้อน ที่ทำให้กฎหมายมีความล่าช้า ถ้าจัดให้มีการเลือกตั้งก็คาดว่าจะได้ ส.ว.ปลายปี 2567 เสนอเข้ากระบวนการนิติบัญญัติในปี 2568 วิพากษ์วิจารณ์ และเสนอให้รัฐสภาพิจารณา คาดว่าจะประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ได้ภายในปี 2569
ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566
เกี่ยวข้องกัน
“เสมา 2” เผย นายกฯเร่งเดินร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติพ.ศ. …
เมื่อวันที่ 7 พ.ย. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบรายชื่อกรรมการในคณะกรรมการสภาการศึกษา (กกศ.) จำนวน 1 ราย ซึ่งเป็นตัวแทนขององค์กรศาสนาที่ได้ลาออกไปโดยเงื่อนไขของข้อตกลงที่ทำในองค์ประกอบของกรรมการจะมีตัวแทนขององค์กรศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาซิกข์ โดยทั้งสามศาสนาทำข้อตกลงร่วมกันว่าจะผลัดกันเป็นตัวแทนกรรมการในคณะกรรมการสภาการศึกษา ซึ่งตัวแทนของศาสนาซิกข์ดำรงตำแหน่งมาครบวาระ 1 ปีแล้วจึงแจ้งทำหนังสือลาออก ดังนั้นที่ประชุมจึงมติเห็นชอบ นางกัมเลซ มันจันดา ซึ่งเป็นตัวแทนของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เป็นกรรมการแทน ส่วนร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ยังไม่ได้มีนำเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณา ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเป็นอย่างมาก และย้ำว่าจะต้องเร่งดำเนินการเรื่องนี้ให้เสร็จสิ้น พร้อมกับการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อให้กฎหมายการศึกษาเป็นที่ยอมรับ เพราะรัฐบาลคาดหวังว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษาที่สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังได้ย้ำให้ทุกส่วนราชการและทุกกระทรวง โดยเฉพาะการจัดทำโครงการต่างๆ ของภาครัฐจะต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างหรือการเปิดประมูลราคาแล้วจะต้องเร่งดำเนินการโดยเร็ว ต้องไม่ทำให้เกิดความล่าช้าของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เนื่องจากจะส่งผลกระทบให้ภาครัฐเสียประโยชน์ โดยในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ตนจะมากำชับให้การดำเนินโครงการต่างๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โปร่งใสและตรวจสอบได้
รมช.ศึกษาธิการ เผย นายกรัฐมนตรี เร่งเดินร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ... ย้ำทุกกระทรวงจัดซื้อจัดจ้างต้องโปร่งใส
ที่มา ; เดลินิวส์ 7 พฤศจิกายน 2566
เกี่ยวข้องกัน
ขอเชิญร่วมรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ....
ด้วยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบกฎหมายว่าด้วยการศึกษาเเห่งชาติ ประกอบกับมติที่ประชุมสภาการศึกษา ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 ได้มอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาดำเนินการรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ฉบับที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว เรื่องเสร็จที่ 660/2564 เพื่อให้สอดคล้องกับเเนวทางการดำเนินการตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญเเห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ก่อนที่จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จึงขอเชิญชวนประชาชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ร่วมเเสดงความคิดเห็นต่อหลักการเเละสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ฉบับที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว เรื่องเสร็จที่ 660/2564 อันจะเป็นข้อมูลสำคัญประกอบการพิจารณาในกระบวนการเสนอร่างกฎหมาย เเละเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาการศึกษาของประเทศต่อไป
ฐานคิดของการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ....
1. ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ดำเนินการโดยคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา มุ่งประสงค์ให้สอดรับกับประเด็นการปฏิรูปการศึกษาที่กำหนดไว้ในตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 258 จ. โดยสรุป 4 เรื่อง ได้แก่ 1) การพัฒนาเด็กปฐมวัย 2) การจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา 3) การคัดกรอง ผลิต พัฒนาครูและคณาจารย์ให้มีจิตวิญญาณของความเป็นครู 4) การจัดการเรียนการสอนและโครงสร้างที่เอื้ออำนวยให้เกิดการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงเป็นกฎหมายแม่บททางการศึกษาตามเป้าหมายการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา 4 เรื่อง ได้แก่ 1) ยกระดับคุณภาพการศึกษา 2) ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 3) การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน 4) ปรับปรุงระบบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร เพิ่มความคล่องตัวในการรองรับความหลากหลายของการจัดการศึกษา และเสริมสร้างธรรมาภิบาลในระบบ เพื่อมุ่งหวังที่จะยกระดับและผ่าวิกฤตทางการศึกษาให้ตอบสนองสภาพการณ์ต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป
2. การดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ได้คงหลักการพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่สำคัญต่างๆ อาทิ หลักการกระจายอำนาจทางการศึกษา หลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการจัดการศึกษา หลักการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและตลอดชีวิต และเพิ่มกลไกที่เป็นการเสริมจุดแข็งในกฎหมายให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับสถานการณ์การพัฒนาผู้เรียนในปัจจุบัน เน้นกลไกการสนับสนุนที่เอื้อให้สถานศึกษาสามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีอิสระและมีคุณภาพ ความยืดหยุ่นของระบบการศึกษาที่ตอบสนองเป้าหมายการเรียนของผู้เรียนในทุกช่วงวัย เน้นการสร้างกลไกการบริหารทรัพยากรเพื่อการศึกษาให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุดในเชิงนโยบายและจุดถ่วงดุลย์เพื่อการสร้างธรรมาภิบาลในระบบการศึกษา และการเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้เรียนทุกช่วงวัย โดยสรุปดังนี้
(1) ด้านการจัดการเรียนการสอน
· เป้าหมายการจัดการศึกษาเน้นให้ผู้เรียนมีสมรรถนะที่เติบโตตามช่วงวัย สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในสภาพการณ์ของโลกที่ผันผวนและไม่อาจคาดเดาได้ หรือคาดเดาได้ยาก
· สถานศึกษาสามารถบริหารและจัดการศึกษาได้อย่างที่มีความเป็นอิสระคล่องตัว โดยการเพิ่มอำนาจในกับคณะกรรมการสถานศึกษา การบริหารการใช้ทรัพยากรร่วมกันของสถานศึกษา การบริหารทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดความคุ้มค่าโดยให้มีการคำนวณเงินขั้นต้นที่ทำให้สถานศึกษาสามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ วิธีการจัดการเรียนการสอนที่เน้นการเรียนรู้ในสถานการณ์จริงหรือการเรียนรู้เชิงรุก ทางเลือกที่หลากหลายของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มุ่งต่อสมรรถนะตามช่วงวัยและบริบทของสถานศึกษา การใช้เทคโนโลยีทางการศึกษา อำนาจในการปฏิเสธในการดำเนินการตามโครงการที่ทำให้กระทบการจัดเรียนการสอน แผนการเรียนที่หลากหลายเพื่อให้ผู้เรียนสามารถรู้จักตนเองและสามารถเลือกเรียนได้ตามความถนัดและความสนใจ
· ปรับเปลี่ยนบทบาทของครู เป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ ระบบการผลิตครูที่เน้นการทำให้ครูเกิดสมรรถนะและสามารถจัดการเรียนการสอนในเชิงสมรรถนะ
· กลไกการช่วยเหลือทางวิชาการแก่ครูและสถานศึกษา คือ มีสถาบันพัฒนาหลักสูตรทางการศึกษาแห่งชาติ แทนกรมวิชาการเดิมที่ถูกยุบเลิกไป
(2) ความยืดหยุ่นของระบบการศึกษา ทำให้เกิดความยืดหยุ่นของระบบทางการศึกษาที่ประสานสอดคล้องกับการเรียนรู้อย่างมีเป้าหมายของผู้เรียน (purposeful) เช่น ระบบสะสมหน่วยกิต การเทียบเคียง การเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน
(3) วางนโยบายในเรื่องการอาชีวศึกษาให้มีความชัดเจน เพื่อให้ผู้เรียนเรียนดีมีความสุขไปสู่เป้าหมายของการสร้างงานสร้างอาชีพหรือการมีงานทำในตลาดแรงงาน รวมถึงการเป็นผู้ประกอบกิจการ
(4) กำหนดกลไกในการบริหารทรัพยากรทางการศึกษาเชิงนโยบายให้เกิดความคุ้มค่าและจุดถ่วงดุลเพื่อเกิดธรรมาภิบาลในระบบการศึกษา โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ กลไกในการจัดทำ ติดตาม ประเมินผล และปรับปรุงแผนการศึกษาแห่งชาติ และให้คนในจังหวัดที่มีความสนใจด้านการศึกษาได้รวมตัวกันในการทำกิจกรรมด้านการศึกษาร่วมกับหน่วยงานของรัฐ และตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานรัฐให้มีความโปร่งใส
(5) ให้ความสำคัญต่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและตลอดชีวิตของผู้เรียนในทุกช่วงวัย โดยกำหนดหน้าที่ บทบาทของหน่วยงานของรัฐและสถานศึกษาให้เป็นแหล่งเรียนรู้และส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ของผู้เรียนทุกช่วงวัย
(6) ไม่มีการกำหนดเรื่องโครงสร้างไว้ในร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ทำให้โครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 และแก้ไขเพิ่มเติม และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 19/2560 ลงวันที่ 3 เมษายน 2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค
โปรดให้ข้อเสนอเเนะเพิ่มเติม ในประเด็นที่ท่านสนใจ หรือต้องการเห็นในร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... (ถ้ามี)
ร่วมตอบแบบรับฟังความคิดเห็นได้ที่: https://shorturl.at/hvzE2
ที่มา ; สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
เเสดงความคิดเห็นในสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ...
โปรดเเสดงความคิดเห็นโดยระบุเลือก "เห็นด้วย "หรือ "ไม่เห็นด้วย " ในหลักการเเละสาระสำคัญรายหมวดของร่างกฎหมายฉบับนี้ ทั้งนี้ ท่านสามารถอ่านสรุปสาระสำคัญซึ่งเป็นจุดเน้นของเเต่ละหมวดได้ก่อนเเสดงความคิดเห็น
จุดเน้น หมวด 1 วัตถุประสงค์และเป้าหมายของการจัดการศึกษา
√ การจัดการศึกษาเน้นการจัดการศึกษาที่มุ่งให้ผู้เรียนมีความรู้และสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ในชีวิตประจำวันและการทำงานได้อย่างบูรณาการกัน หรือที่เรียกว่า “สมรรถนะที่เติบโตช่วงวัย” และกำหนดรายละเอียดในแต่ละช่วงวัยเป็น ๗ ช่วงวัยตั้งแต่แรกเกิดจนถึงการศึกษาต่อในระดับที่สูงกว่าการศึกษาขั้นพื้นฐาน ช่วงที่มีความเปลี่ยนแปลงชัดเจน คือ ช่วงวัยที่สี่ (เทียบได้รับระดับประถมศึกษา) เริ่มต้นในการสร้างความรู้ทางวิชาการ และเริ่มหาลู่ทางในการประกอบอาชีพ ช่วงวัยที่ห้า (เทียบได้รับมัธยมศึกษาตอนต้น) ต้องรู้จักตนเองสามารถเลือกเส้นทางการศึกษาต่อหรือเส้นทางอาชีพและการทำงานได้ (มาตรา 7, มาตรา 8)
√ เพิ่มสิทธิและหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการศึกษา เช่น จัดการศึกษาระดับปฐมวัย ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถสนับสนุนทรัพยากรในการจัดการศึกษา (เดิมถูกจำกัดโดยสตง. ปัจจุบันจะส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาได้มากขึ้น (มาตรา 11 (4), มาตรา 12)
√ กำหนดหลักการพื้นฐานในการบริหารและจัดการของสถานศึกษาของรัฐให้มีความชัดเจน โดยเน้นถึงความอิสระคล่องตัว การสนับสนุนทรัพยากรของที่จำเป็นต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา สิทธิปฏิเสธในการดำเนินโครงการจากส่วนกลางที่เป็นการเพิ่มภาระหรือกระทบต่อคุณภาพการศึกษาที่จะจัดให้ผู้เรียนมีสมรรถนะตามช่วงวัย (มาตรา 14)
√ กำหนดหลักประกันของเงินเดือน ค่าตอบแทน เงินหรือสิทธิประโยชน์ของครูโรงเรียนเอกชนให้สอดคล้องกับครูสถานศึกษาของรัฐ (มาตรา 16)
√ กำหนดให้มีการรองรับการรวมตัวของเอกชนที่มีความสนใจในการศึกษาของแต่ละจังหวัด (มาตรา 18) เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลและร่วมการทำงานด้านการศึกษากับภาครัฐ
จุดเน้น หมวด 2 สถานศึกษา
√ กำหนดหลักการเรื่องสภาพแวดล้อมทางการศึกษา เพื่อให้สถานศึกษาของรัฐสามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ เช่น สภาพและสิ่งแวดล้อมและสภาวะที่ปลอดภัย อุปกรณ์ ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่พอเพียง การให้สถานศึกษาของรัฐสามารถใช้หรือแลกเปลี่ยนอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีหรือห้องปฏิบัติการได้ (มาตรา 20)
√ กำหนดให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อกำหนดมาตรฐานขั้นต้นของงบประมาณที่พอเพียงแก่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้สถานศึกษา (มาตรา 26)
√ กำหนดให้มีระเบียบว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างเป็นพิเศษสำหรับการใช้เงินรายได้ของสถานศึกษา (มาตรา 29)
จุดเน้น หมวด 3 ครูเเละบุคลากรทางการศึกษาอื่นที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา
√ กำหนดหน้าที่ของครู จากการสอนเป็นผู้เอื้ออำนวย (facilitator) ให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะตามช่วงวัย (มาตรา 32)
√ เน้นการหล่อหลอมการผลิตครูในรูปแบบสมรรถนะ (มาตรา 38) จึงกำหนดคุณลักษณะทั่วไปของครู และคุณลักษณะเฉพาะของครูในแต่ละช่วงวัยของผู้เรียน (มาตรา 34, มาตรา 37)
√ เน้นให้ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ (ครู ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา และศึกษานิเทศก์) ต้องรับการพัฒนาตามรอบระยะเวลาและอย่างต่อเนื่อง (มาตรา 39, มาตรา 42, มาตรา 43)
√ กระบวนการที่มีความรับผิดรับชอบต่อผลลัพธ์ทางการศึกษาต่อผู้เรียน จึงกำหนดให้มีระบบการติดตามและประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปฏิบัติหน้าที่ของครู ผู้บริหารสถานศึกษา/รอง ผู้บริหารการศึกษา/รอง และบุคลากรทางการศึกษาแบบครอบคลุมทั้งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ข้อมูลข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และชุมชน (มาตรา 44)
จุดเน้น หมวด 4 การจัดการศึกษา
√ ปรับระบบการศึกษาตามเป้าหมายของผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีเป้าหมาย (purposeful) ได้แก่ การศึกษาเพื่อคุณวุฒิตามระดับ การศึกษาเพื่อการพัฒนาตนเอง การศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต (มาตรา 47)
√ ปรับระบบการศึกษาให้มีความยืดหยุ่นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เรียนและโลกในยุคปัจจุบัน โดยให้มีระบบการเทียบเคียงหรือเทียบโอนผลการเรียน รวมทั้งการสะสมหน่วยการเรียน (มาตรา 55)
√ จัดตั้งสถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้ เพื่อเป็นหน่วยของรัฐที่จัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนเชิงสมรรถนะตามเป้าหมายการจัดการศึกษาตามช่วงวัยของผู้เรียน (มาตรา 57, มาตรา 58)
√ กำหนดให้มีแผนการเรียนที่หลากหลายเพื่อให้ผู้เรียนสามารถค้นพบความต้องการและความถนัดในการเรียนต่อขั้นสูงหรือทักษะวิชาชีพขั้นสูงในสาขาต่าง ๆ (มาตรา 62)
√ กำหนดให้มีกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นการส่งเสริมการเรียนรู้เชิงรุก (มาตรา 64)
จุดเน้น หมวด 5 หน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ
√ กำหนดให้การจัดระเบียบบริหารของกระทรวงศึกษาธิการต้องเอื้อต่อการจัดการศึกษาแต่ละช่วงวัยให้มีการบูรณาการกัน (การศึกษาขั้นพื้นฐานสายสามัญ การศึกษาขั้นพื้นฐานสายอาชีพ) และทำให้สถานศึกษามีความเป็นอิสระในการบริหารและจัดการศึกษา (มาตรา 69)
√ ให้กระทรวงศึกษาให้ความสำคัญกับการพัฒนาการจัดการศึกษาสายอาชีพ (มาตรา 71 - มาตรา 73) ตอบสนองต่อการมีงานทำในลักษณะที่เป็นเจ้าของกิจการและตอบสนองความต้องการของภาคแรงงาน
√ ให้หลักการในการบริหารจัดการข้อมูลทางการศึกษาขนาดใหญ่ (big data) เพื่อเป็นฐานในการกำหนดนโยบายและบริหารทรัพยากรทางการศึกษาให้มีความคุ้มค่า (มาตรา 77)
จุดเน้น หมวด 6 แผนการศึกษาเเห่งชาติและทรัพยากรเพื่อการศึกษา
√ กำหนดหลักการในการสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ และกำหนดกระบวนการในการกำกับ ติดตามตรวจสอบการดำเนินการ ความสำเร็จ ประเมินผลของแผนการศึกษาแห่งชาติ โดยเน้นการใช้กระบวนการทางเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (มาตรา 79 - มาตรา 87)
จุดเน้น หมวด 7 คณะกรรมการนโยบายการศึกษาเเห่งชาติ
√ ให้มีคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ เพื่อยกระดับให้เรื่องการศึกษาเป็นเรื่องระดับชาติ โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อบูรณาการดำเนินงานด้านการศึกษาที่มีอยู่ในกระทรวงต่าง ๆ ตั้งแต่ในเรื่องการกำหนดนโยบาย แผนการศึกษาแห่งชาติ งบประมาณด้านการศึกษา อัตรากำลัง และกฎหมายที่เกี่ยวกับการศึกษา (มาตรา 88 - มาตรา 96)
เกี่ยวข้องกัน
ชง ‘บิ๊กอุ้ม’ เคาะร่างพ.ร.บ.การศึกษา หลังฟังความเห็น-เสนอเพิ่ม7ประเด็น เน้นพัฒนาครู-จัดงบทุกสังกัดเท่าเทียม
นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) เปิดเผยว่า ตามที่ สกศ.ได้เปิดให้มีการประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ฉบับที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน ที่ผ่านมานั้น ขณะนี้ได้สรุปผลการรับฟังความคิดเห็นเรียนร้อยแล้ว และได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ รับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง
ทั้งนี้ ภาพรวมเห็นด้วยในหลักการกับร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับดังกล่าว โดยสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้นมีข้อเสนอใน 7 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่1 สมรรถนะตามช่วงวัย ควรกำหนดให้มีความยืดหยุ่น เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการจัดการศึกษาของผู้เรียนในแต่ละช่วงวัย
ประเด็นที่ 2 องค์ประกอบและวิธีการได้มาของคณะกรรมการสถานศึกษา เพื่อให้สามารถตอบโจทย์หลักการกระจายอำนาจและสร้างความเป็นนิติบุคคลให้สถานศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องพิจารณาถึงความแตกต่างของสถานศึกษาร่วมด้วย
ประเด็นที่ 3 แนวทางการผลิตและพัฒนาวิชาชีพครู ควรส่งเสริมบุคลากรที่จบวิชาชีพครูโดยตรงเพื่อนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาผู้เรียนที่เน้นสมรรถนะของผู้เรียนได้เป็นสำคัญ นอกจากนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องศึกษาแนวทางความร่วมมือ ในกระบวนการผลิตครูที่มีคุณภาพ ระหว่างสถานศึกษา และสถาบันผลิตและพัฒนาครู
ประเด็นที่ 4 บทบาทการสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ควรส่งเสริมหน่วยงานที่ร่วมจัดการศึกษาในเขตพื้นที่ ทั้งของภาครัฐ เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีมาตรฐานที่เท่าเทียมทั้งในเรื่องสิทธิประโยชน์ การเงินและงบประมาณ การบริหารงานบุคคล เพื่อนำไปสู่แนวทางการพัฒนาคุณภาพ การจัดการศึกษาร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายอรรถพล กล่าวต่อว่า
ประเด็นที่ 5 องค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ควรกำหนดองค์ประกอบที่มีผู้แทนจากผู้ที่เกี่ยวข้องทางการศึกษาอย่างครอบคลุม โดยเฉพาะในส่วนผู้แทนจากผู้ประกอบวิชาชีพครู ผู้แทนสถานบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานในสถานศึกษาโดยตรง เนื่องด้วยกลไกการดำเนินงานของคณะกรรมการดังกล่าว มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการบริหารการจัดทรัพยาการเพื่อการศึกษา และเป็นผู้กำกับนโยบายภาพรวมด้านการศึกษา ฉะนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสามารถนำอุปสรรคและสภาพปัญหาในทางปฏิบัติจากผู้ปฏิบัติจริงที่เกิดขึ้นมาสู่การกำหนดนโยบายการศึกษาของประเทศเพื่อแก้ปัญหา การส่งเสริม สนับสนุน การพัฒนาการศึกษาได้อย่างตรงจุด
ประเด็นที่ 6 กลไกความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ควรให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านงบประมาณสถานศึกษา กำหนดงบประมาณขั้นต้น และเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ที่จะสามารถนำมาเป็นแนวทางที่สำคัญในการสร้างโอกาสการเข้าถึงระบบการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนในทุกช่วงวัยและทุกสังกัดสถานศึกษา และ
ประเด็นที่ 7 ความปลอดภัยในสถานศึกษา ควรกำหนดมาตรการในการปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อที่จะสามารถนำหลักการและนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้ ซึ่งประเด็นดังกล่าวถือเป็นปัญหาที่พบได้มากในปัจจุบัน อันจะส่งผลสำคัญต่อความเชื่อมั่นในการเข้ารับการศึกษาของผู้เรียน และผู้ปกครอง
“สกศ. จะนำข้อเสนอทั้ง 7 ประเด็นดังกล่าว เสนอให้พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พิจารณา ประกอบร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ภายในเดือนธันวาคม 2566 หากรัฐมนตรีว่าการศธ. ให้ความเห็นชอบ คาดว่าจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ภายในเดือนมกราคม 2567 เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ในเดือนกุมภาพันธ์ -มิถุยายน 2567 แต่การพิจารณาร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ อาจจะเกิดความล่าช้าไปบ้าง เนื่องจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดปัจจุบันจะหมดวาระวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 หากได้ส.ว.ชุดใหม่แล้ว ก็คาดว่า จะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ในวาระที่1 ในเดือนกันยายน 2567 และประกาศใช้กฎหมายอย่างเป็นทางการได้ในช่วงกลางปี 2568 ” นายอรรถพล กล่าว
ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 4 ธันวาคม 2566