เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ที่ศูนย์สอบมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ นางอมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา เปิดเผยว่า คุรุสภาจัดทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ด้านความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ ตามมาตรฐานวิชาชีพครู รายวิชาครู ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2566 รอบที่ 2 ทั้งนี้ การทดสอบเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี โดยการจัดการทดสอบด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้เข้ารับการทดสอบในการทำข้อสอบได้โดยง่าย ผ่านโปรแกรมและระบบการทดสอบที่มีความทันสมัยเช่นเดียวกันกับข้อสอบของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ผ่านระบบออนไลน์ สามารถเลือกใช้เมนูต่างๆ โดยเลือกคำตอบได้สะดวก ง่ายต่อการใช้งาน ก่อให้เกิดความสะดวกในการทำข้อสอบ รวมถึงการดำเนินการตรวจข้อสอบเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ถูกต้อง และแม่นยำ อีกทั้ง ข้อสอบก็เป็นไปตามมาตรฐานการทดสอบ ดำเนินการภายใต้หลักธรรมาภิบาล
เลขาธิการคุรุสภากล่าวต่อว่า สำหรับข้อสอบที่ใช้เป็นข้อสอบวัดเชิงสถานการณ์ (Situation-Based Testing) ซึ่งเป็นข้อสอบเชิงบูรณาการความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะที่เป็นองค์รวม แสดงถึงการแสดงออกของสมรรถนะตามวิชาชีพครูตามขอบเขตสถานการณ์การทำงานของครู นอกจากนี้ ทางสนามสอบต่างๆ ได้จัดสิ่งอำนวยความสะดวกในการเข้าสอบให้อย่างเหมาะสมกับผู้เข้าสอบทุกคน
“การทดสอบในรอบที่ 1 และรอบที่ 2 นี้ มีจำนวนผู้เข้ารับการทดสอบทั้งสิ้น จำนวน 8,587 คน โดยในรอบที่ 1 ที่ผ่านมา มีผู้เข้ารับการทดสอบทั้งสิ้น 4,288 คน และสำหรับรอบที่ 2 มีจำนวนผู้เข้ารับการทดสอบทั้งสิ้น จำนวน 4,299 คน จำแนกผู้มีสิทธิเข้าสอบตามสนามสอบ ได้แก่
· สนามสอบกรุงเทพฯ จำนวน 1,017 คน
· จังหวัดจันทบุรี จำนวน 616 คน
· จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 738 คน
· จังหวัดลำปาง จำนวน 442 คน
· จังหวัดขอนแก่น จำนวน 363 คน
· จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 127 คน
· จังหวัดจังหวัดสุราษฎ์ธานี จำนวน 602 คน และ
· จังหวัดสงขลา 394 คน
“ส่วนการทดสอบในรอบที่ 3 และรอบที่ 4 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-26 พฤศจิกายน ใน 8 ศูนย์สอบทั่วประเทศเช่นเดียวกันกับในครั้งนี้ และเมื่อเสร็จสิ้นการทดสอบแล้ว จะประกาศผลสอบในวันที่ 15 มกราคม 2567 ผ่านทางเว็บไซต์ https://ksp66.thaijobjob.com และผ่านระบบ KSP Self-Service ของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา โดยตรวจสอบและพิมพ์ผลการทดสอบเป็นรายบุคคล ในรายวิชาที่เข้าทดสอบผ่านช่องทางออนไลน์ได้ด้วยตนเอง” นางอมลวรรณกล่าว
อนึ่ง คุรุสภาแจ้งข้อปฏิบัติในการเข้ารับการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ด้านความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ ตามมาตรฐานวิชาชีพครูตามมาตรฐานวิชาชีพครู รายวิชาครู ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2566 ดังนี้
ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2566
เกี่ยวข้องกัน
ผู้สมัคร รวมกลุ่มร้อง สอบตั๋วครู ได้คะแนนผิดปกติ จี้ คุรุสภา แจง-ตรวจข้อสอบใหม่
ูเตรียมสอบใบประกอบวิชาชีพครู
โดยมีสรุปได้ว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายนี้ เป็นบุคลากรทางการศึกษาอย่แล้ว เข้าสอบ เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อสอบเสร็จแล้ว กลับพบสอบไม่ผ่าน และได้คะแนนเพียง 17 คะแนนเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก และพบว่ามีอีกหลายคนที่สอบผ่าน “ระบบอิเล็กทรอนิกส์” ได้คะแนนสอบน้อยเช่นกัน
และเมื่อเทียบกับผู้ที่สอบผ่าน “กระดาษ” ทั้งที่สอบชุดเดียวกัน แต่คะแนน กลับต่างกันมาก ทำให้เกิดความสงสัยว่า คุรุสภาจะมีการตรวจคะแนนผู้เข้าสอบผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ผิดพลาดหรือไม่ โดยได้รวมกลุ่มในแอพพ์ไลน์ และให้ผู้ที่คิดว่าไม่ได้รับความเป้นธรรม หรือคะแนนสอบผิดปกติเข้ามากรอก เพื่อรวบรวมผู้เสียหาย เรียกร้องกับทางคุรุสภต่อไป
ทั้งนี้มีเนื้อหาอย่างละเอียดว่า “สวัสดีครับทุกคน สำหรับคนที่ถอดใจเรื่องคะแนนสอบที่ประกาศแล้วเลื่อนผ่านไปได้เลยครับ ส่วนคนที่ยังไม่ถอดใจ อยากให้ลองอ่านดูนะครับ
จากการประกาศผลการสอบใบประกอบรอบปี 2566 ทั้งครั้งที่ 1และครั้งที่ 2 ที่ผ่านมา จะแยกประเด็นได้ดังนี้นะครับ
1.มีผู้ผ่านการสอบน้อยมากคิดเป็นประมาณ 20% ของผู้สมัครสอบ ซึ่งข้อนี้ผมยังมองว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะในประเทศเราก็มีการสอบที่มีคนผ่านน้อยๆแบบนี้ เช่น การสอบ กพ. ปีล่าสุดก็ผ่านแค่ประมาณ 5% ของผู้สมัครหลายแสนคน
2.ในการสอบรอบที่ 2 ผมลงสอบด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ไว้ครับ และครั้งนี้ผมได้ไปสอบครับ แน่นอนครับในเรื่องการเตรียมตัวสอบผมไม่ได้เตรียมอะไรมาก ด้วยความที่ต้องทำงานประจำ(เป็นบุคลากรทางการศึกษา)อยู่แล้ว และด้วยความที่เรียนคณะศึกษาศาสตร์มา ประกอบกับการเข้ากลุ่มติวเล็กน้อย ก็มีความมั่นใจพอตัวครับว่า “ถึงไม่ผ่านรอบนี้” คะแนนก็ต้อง “เกือบผ่าน” ซึ่งหลังจากการสอบ
3.พอประกาศผลสอบออกมา แน่นอนครับ “ผมไม่ผ่าน” ไม่มีชื่อผมในการประกาศครับ ตอนที่หาชื่อไม่เจอครั้งแรกผมรู้สึกเฟลครับ ผิดหวังในตัวเองเล็กน้อย แต่ก็พยายามทำใจครับ จนกระทั่ง ได้ดูคะแนนสอบผ่านระบบ KSP ผมช็อกกับภาพที่เห็นครับ ผมเห็นตัวเลข “17” ขึ้นมาที่หน้าจอปิดท้ายด้วยคำว่า “ไม่ผ่าน” สิ่งที่ผมทำคือการนั่งไล่ดูเพจคุรุสภา ดูคอมเมนต์ต่างๆว่าเป็นยังไงกันบ้าง
จนน้องสาวผมแท็กสิ่งนึงมาให้ครับ คือกระทู้พูดคุยกันของกลุ่มติวกลุ่มนึง ที่มีประเด็นเรื่องเกณฑ์การสอบ ว่าเกณฑ์ระบุไว้ว่า 60% ผ่าน ทำไม “บางคนคะแนนแค่50กว่าๆถึงขึ้นว่าผ่าน” และมีชื่อในประกาศด้วย ในขณะที่ “คนอื่นที่คะแนนเท่ากัน” ขึ้นว่าไม่ผ่าน ซึ่งในภายหลังก็มีข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการจากหลายๆแหล่งและหลายเพจติวบอกว่าอาจจะมีการปรับเกณฑ์คะแนนการผ่าน ทำให้คนที่สอบรอบ1และรอบ2 ใช้คะแนนไม่เท่ากัน ซึ่งส่วนนี้ก็คือ 1ประเด็นครับว่าคุรุสภาใช้มาตรฐานอะไรในการตัดสิน
4.การที่ผมและหลายๆคนไปสังเกตุว่าคะแนนของคนที่สอบตกนั้น อยู่ที่ 10-26 คะแนน แทบจะ 100% ของคนสอบตก มันทำให้เกิดข้อสงสัยว่า หรือจริงๆมันไม่ใช่คะแนนที่ถูกต้อง เพราะมีคนจำนวณมากที่ได้คะแนนช่วงนี้ และทุกคนพูดเหมือนกันว่าเตรียมตัวมาสอบเป็นอย่างดี ซึ่งทุกคนพูดเหมือนกันว่า ไม่มีทางได้คะแนนต่ำเท่านี้แน่นอน ถึงจะตกจริงๆก็มั่นใจว่าเกิน 30-40 คะแนนแน่ๆ
อะไรที่แปลกกว่านั้นรู้ไหมครับ ลองฟังเงื่อนไขนี้นะครับ
คนที่สอบด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ + เป็นคนที่สอบในรอบที่ 2 (ส่วนนี้ที่อ้างอิงรอบที่2เพราะรอบที่1ผมไม่ได้ไปสอบครับ) แทบจะไม่มีใครได้คะแนนช่วง 30-40 เลย (ผมใช้คำว่าแทบนะครับไม่ใช่ทั้งหมด) คือจะมีคนแค่2ประเภท คือ
1.ผ่านแบบ 50กว่า60คะแนน
2.ตกแบบ ต่ำกว่า30คะแนนลงมา
อันนี้คิดว่าปกติไหมครับ
แล้วถ้าประกอบกับการที่ข้อสอบแบบอิเล็กทรอนิกส์มีหลายชุด (อันนี้รวมในกรณีที่สลับหมายเลขข้อแต่โจทย์กับชช้อยเหมือนเดิมด้วยนะครับ)
มันทำให้คิดได้ว่าที่คะแนนการสอบของคนจำนวนมากออกมาแพทเทินแบบนี้เป็นเพราะ “เกิดข้อผิดพลาดในการตรวจข้อสอบทำให้เฉลยไม่ตรงกับชุดที่สอบ” หรือไม่
ที่ออกมาโพสแบบนี้ไม่ได้จะบอกว่าคนที่สอบผ่านคนที่มีรายชื่อ ไม่สมควรสอบผ่านครับ ผมเชื่อว่านั่นคือคนที่สอบผ่านในชุดที่ถูกตรวจด้วยเฉลยที่ตรงกับคู่มันครับ
แต่อยากให้คุรุสภาหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับรู้ปัญหาว่ามันอาจจะมีเคสแบบนี้เกิดขึ้นจริงๆนะ สิ่งที่อยากเรียกร้องคืออยากให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูเรื่องนี้หน่อยครับ ช่วยตรวจสอบให้ความกระจ่างทีว่าสิ่งที่ผมและหลายๆคนคิดนั้นมันไม่จริง เป็นแค่ทฤษฎีสมคบคิดของคนสอบตก เป็นแค่เรื่องแต่งของคนขี้แพ้
เพราะถ้ามันจริงขึ้นมา ก็ต้องมีคนรับผิดชอบเรื่องนี้ครับ
ล่าสุด ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายดังกล่าว ได้รวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง กว่า 1,500 คน ที่ได้สอบในครั้งนี้ พร้อมกับทำกราฟเปรียบเทียบ
โดยได้ทำการแยกกราฟคะแนน โดยแยกช่วงคะแนนแต่ละคะแนน และร้อยละของกลุ่มคนที่ได้คะแนนนั้นๆ พร้อมแยกประเภทว่าคนที่สอบผ่านกระดาษ กับคนที่สอบ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์(ที่เป็นปัญหาอยู่) มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนขนาดไหน
ทั้งๆที่ข้อสอบก็น่าจะเป็นชุดเดียวกันแท้ๆ แต่กราฟที่ได้รับจากการรวบรวมข้อมูลกลับแตกต่างกันอย่างชัดเจนครับ
โดยสีส้มคือกลุ่มคะแนนของคนที่สอบแบบใช้กระดาษครับ
ส่วนสีฟ้า คือกลุ่มคะแนนของคนที่สอบโดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ครับ
ทีนี้ทุกท่านพอจะเห็นภาพไหมครับ ว่ามันต่างกันแบบผิดปกติมากๆขนาดไหน ?
แล้วยังคิดอยู่ไหมครับว่า เป็นเพราะคนที่สอบอ่อนเองรึป่าวเลยตกกันเยอะ ทั้งๆที่ข้อสอบก็เหมือนกันแต่คนสอบกระดาษล้วนผ่านและมีคะแนนที่สูงกว่า 30 คะแนนแทบทุกคน แต่คนสอบผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์นั้น มีคะแนนเฉลี่ยที่ต่ำมากๆ แทบจะนับหัวได้เลยว่าใครที่สอบผ่านโดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์บ้าง
มันผิดปกติจริงๆครับ และเราต้องการพลังของท่านในการช่วยเรารวบรวมข้อมูลเพื่อนำส่งไปให้ผู้ใหญ่และผู้มีอำนาจได้รับรู้
พร้อมกับได้สร้างกลุ่ม Line Openchat เพื่อเรียกร้องสิทธิให้กับคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการสอบใบประกอบวิชาชีพครูประจำปี 2566 ที่มีคะแนนน้อยผิดปกติ ลิ้งค์ และแนบลิ้งค์สำหรับการร้องเรียน เพื่อรวบรวมผู้เสียหายเช่นกัน ลิ้งค์
หลังจากที่โพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ไปไม่นาน มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก พร้อมกับเรียกร้องให้คุรุสภา เข้ามาชี้แจงโดยด่วน เพื่อมอบความเป็นธรรม และความโปร่งใส ให้ผู้เข้าสอบทุกคน
ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 18 มกราคม 2567
เกี่ยวข้องกัน
คุรุสภา แจงเกณฑ์ให้คะแนน สอบตั๋วครู หลังเจอโวย ได้คะแนนต่ำ ยัน ได้มาตรฐาน
เมื่อวันที่ 18 มกราคม นางอมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา เปิดเผยว่า ตามที่คุรุสภาประกาศผลการทดสอบ และประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ซึ่งได้มีการจัดสอบด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นครั้งแรก ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม 2566 ล่าสุด คุรุสภา มีผู้เข้าสอบรวม 42,474 คน และสอบผ่าน 11,127 คน ซึ่งมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์การให้คะแนน โดยคุรุสภากำหนดเกณฑ์ผ่านไว้ที่ 60% แต่ผู้เข้าสอบที่ได้คะแนน 55 และ 57 สอบผ่านนั้น
การสอบครั้งนี้ ใช้ข้อสอบใหม่ ซึ่งจะวัดสมรรถนะผู้เข้าสอบ โดยได้มีการประชาสัมพันธ์ไปยังมหาวิทยาลัย เตรียมการแจ้งนักศึกษา ว่าการสอบครั้งนี้จะเน้นวัดสถานการณ์ 100% อย่าไรก็ตาม การสอบครั้งนี้มีผู้สอบผ่านเพียง 22% จากจำนวนผู้เข้าสอบทั้งหมด ซึ่งถือว่าน้อย โดยคุรุสภาเปิดให้ผู้สมัครเข้ามาดูคะแนนสอบได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปด้วย
ด้าน นายมนตรี แย้มกสิกร ที่ปรึกษาคุรุสภา กล่าวว่า การทำข้อสอบจะเน้นมาตรฐานวิชาชีพ เกี่ยวกับศาสตร์การสอน จิตวิทยา หลักสูตรและการสอน การวัดและประเมินผล เรื่องการใช้สื่อ ฯลฯ เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการจัดการศึกษาของประเทศ ที่ครูรุ่นใหม่จะต้องจัดการเรียนการสอนที่เป็นฐานสมรรถนะ ดังนั้นตัวครูเองก็จะต้องถูกวัดด้วยฐานสมรรถนะ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะสะท้อนถึงศักยภาพที่ครูจะต้องแสดงถึงความสามารถในการออกแบบ วิเคราะห์ วิธีการสอนและการแก้ปัญหาต่างๆ ได้
ดังนั้น ข้อสอบจึงเน้นเรื่องสถานการณ์ให้ผู้ที่เข้าสอนใช้ความรู้ไปวิเคราะห์ แก้ปัญหาในการเรียนการสอนตามหลักวิชาชีพ เพื่อให้ได้ผลดีที่สุด ตรงนี้คือเป้าหมายเพื่อจะยกระดับคุณภาพครูให้สามารถแก้ปัญหาเด็ก ในบริบทพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย ข้อสอบฐานสมรรถนะมีการประชาสัมพันธ์ล่วงหน้า ซึ่งทุกคนสามารถเข้าไปดูได้
นายพฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ ประธานอนุกรรมการอำนวยการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู กล่าวว่า สำหรับเกณฑ์ตัดสิน ยังเป็นเกณฑ์ 60% เช่นเดียวกันการสอบครั้งแรก แต่ให้คำนึงถึงความคลาดเคลื่อนมาตรฐานของการทดสอบ เพราะข้อสอบแต่ละชุด จะมีคะแนนสูงสุดต่ำสุดและคะแนนเฉลี่ยไม่เท่ากัน โดยทางคุรุสภาพยายามทำให้ข้อสอบทุกชุดมีมาตรฐานเดียวกัน แต่ในทางวิชาการ ก็จะมีความยากง่าย หรือที่เรียกว่า ความคลาดเคลื่อนมาตรฐานของคุณภาพข้อสอบต่างกันเล็กน้อย โดยการสอบแต่ละรอบจะใช้ข้อสอบคนละชุดกัน แม้จะเป็น Blueprint หรือพิมพ์เขียว เดียวกัน แต่คำถามก็ต้องต่างกัน เพื่อไม่ให้ข้อสอบรั่ว
เพราะฉะนั้น เกณฑ์ที่ใช้ตัดสิน จึงไม่ใช่ที่ 60% พอดี แต่จะมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน หรือที่เรียกว่า Standard Error of Measurement (SEM) ซึ่งค่า SEM ซึ่งทำให้การให้คะแนนมีความยืดหยุ่นอยู่ที่ 1-2 SEM หรือประมาณ 1-5 คะแนน และความยืดหยุ่นของข้อสอบแต่ละชุดก็ไม่เท่ากัน
ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่สอบผ่านจึงไม่ใช้ผู้ที่สอบได้ 60% เท่านั้น แต่ผู้ที่ได้คะแนน 57% หรือ 55% สอบผ่านด้วย โดยในอนาคตทางคุรุสภา ก็อยากเห็นการตัดสินผลสอบที่ 60% อย่างแท้จริง แต่ช่วงนี้ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงข้อสอบ จึงต้องยอมรับความคลาดเคลื่อนเพื่อประโยชน์ของผู้เข้าสอบ
ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 18 มกราคม 2567
เกี่ยวข้องกัน
คุรุสภาประกาศรายชื่อผู้ผ่านเกณฑ์การทดสอบขอใบประกอบวิชาครู ครั้งที่ 1 -2567
ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า ตามที่คุรุสภาได้จัดการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ด้านความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ ตามมาตรฐานวิชาชีพครู รายวิชาครู ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ และระบบกระดาษ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2567 จำนวน 6 รอบ ระหว่างวันที่ 17 – 18 กุมภาพันธ์ 2567 และกำหนดให้ประกาศผลการทดสอบแลtประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครูฯ ในวันศุกร์ที่ 29 มีนาคม 2567 นั้น
บัดนี้ คณะอนุกรรมการอำนวยการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครูเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ในการประชุมครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม 2567 และคณะกรรมการคุรุสภา ในการประชุม ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันศุกร์ที่ 29 มีนาคม 2567 ได้มีมติรับรองและเห็นชอบผลการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ด้านความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ ตามมาตรฐานวิชาชีพครู รายวิชาครู ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2567 เรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่ามีผู้ผ่านเกณฑ์การทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครูฯ จำนวน 8,229 คน
สำหรับ ผู้ผ่านเกณฑ์การทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครูฯ สามารถใช้ผลการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครูฯ เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้ภายใน 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ประกาศผลการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครูฯ หากเกินกำหนด ถือว่าผลการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครูฯ นั้นสิ้นสุดลง ต้องเข้ารับการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครูฯ ใหม่ และหากข้อเท็จจริงปรากฏภายหลังว่า ผู้ผ่านเกณฑ์การทดสอบและประเมินฯ ผู้ใดเป็นผู้ขาดคุณสมบัติ หรือผลการทดสอบและประเมินฯ ไม่ถูกต้อง คณะอนุกรรมการอำนวยการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครูเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการคุรุสภา สามารถยกเลิกผลการทดสอบและประเมินฯ ของผู้นั้นได้ และการพิจารณาตัดสินของคณะกรรมการคุรุสภาถือเป็นที่สิ้นสุด ผู้เข้ารับการทดสอบสามารถพิมพ์ผลการทดสอบของตนเองผ่านระบบ KSP self-Service ของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ได้ที่ https://selfservice.ksp.or.th
คุรุสภาประกาศรายชื่อผู้ผ่านเกณฑ์การทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ด้านความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ ตามมาตรฐานวิชาชีพครู รายวิชาครู ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2567
ตรวจสอบรายชื่อ >>>
ที่มา ; สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา