ค้นหา

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ ต้อง ‘ปฏิวัติ’ การศึกษาไทย

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้สัมภาษณ์ “มติชน”ถึงความคืบหน้าการดำเนินการตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” หลังเข้ารับตำแหน่งกว่า 9 เดือน 

ความคืบหน้าการดำเนินการตามนโยบายต่าง ๆ

นโยบายหลักของ ศธ.คือ เรียนดี มีความสุข การจะมีความสุข ทำได้หลายอย่าง แต่ในวันนี้ต้องเริ่มจากลดภาระครู นักเรียน และผู้ปกครอง ในส่วนการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ทำไปแล้วหลายเรื่อง เช่น การประกาศใช้หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือเกณฑ์ PA (9/2564) ซึ่งใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วม ทำให้การประเมินรวดเร็วขึ้น จากเดิมใช้เวลาพิจารณานาน ซึ่งนานที่สุด 3 ปี เหลือไม่เกิน 3 เดือน และเร็วที่สุด 17 วัน ลดช่องว่างไม่ให้มีการแสวงหาประโยชน์ รวมทั้ง ลดค่าใช้จ่ายในการผลิต และทำเอกสาร ซึ่งเดิมมีค่าใช้จ่ายกว่า 20,000 บาทต่อคน”

 

การแก้ไขปัญหาหนี้สินครู มีแนวโน้มที่ดีหรือไม่?

ถือว่าเป็นไปในทิศทางที่ดี มีการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่มีนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.เป็นประธาน เพิ่มความเข้มข้นในมาตรการต่างๆ เช่น การทำหนังสือกำชับหลักเกณฑ์การหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้เงินกู้ของบุคลากรในสังกัด โดยต้องมีเงินเดือนคงเหลือสุทธิหลังจากหักชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 เพื่อให้บุคลากรในสังกัดมีเงินเพียงพอต่อการดำรงชีวิต  

 ขณะที่สถานีแก้หนี้ครู มีแนวโน้มที่ดี มีครูมาลงทะเบียนมากขึ้น จัดอบรมเรื่องการเงินให้กับครู และบันทึกวิดีโอ เพื่อนำมาเผยแพร่ให้ครูที่ไม่มีโอกาสเข้าอบรมได้ดูย้อนหลัง รวมถึง นำไปใช้ในการเรียนการสอน เพื่อปลูกฝังเรื่องวินัยทางการเงินให้นักเรียน มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ 14 หน่วยงาน ประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ได้แก่ ขอความร่วมมือสหกรณ์ออมทรัพย์ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามเป้าหมาย ร้อยละ 4.75 และขยายเวลาผ่อนชำระหนี้ไปจนถึงอายุ 75 ปี จากสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 20 แห่ง ธนาคารออมสิน ให้กู้เงินสินเชื่อวงเงิน 2,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2.88 ต่อปี กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกาญจนบุรี ซึ่งเป็นสหกรณ์ แห่งแรกที่ใช้มาตรการรวมหนี้ พบว่า แก้ไขหนี้ให้สมาชิก จำนวน 13,258 ราย รวมถึง เสนอแก้ไขกฎหมาย ไม่ให้ครูที่มีหนี้สินจนล้มละลาย เป็นสาเหตุให้ต้องออกจากราชการ ซึ่งอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น”

 

นโยบายลดภาระครู มีเรื่องใดที่เป็นรูปธรรม

เห็นเป็นรูปธรรมหลายเรื่อง เช่น การย้ายครูและบุคลากรทางการศึกษา มีการดำเนินการที่ดีมาก ส่วนหนึ่งเพราะจัดทำระบบ Teacher Matching System (TMS) หรือระบบจับคู่ครูคืนถิ่น ซึ่งมีผลตอบรับที่ดี และอยู่ระหว่างเปิดให้ขอย้ายในรอบ 2 ซึ่งรอบนี้ปรับปรุงให้ลงข้อมูลในการขอย้ายได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เว้นวันหยุดราชการ เพิ่มความสะดวกสบายให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษา นอกจากนี้ ยังได้ขยายการดำเนินไปยังสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) และสำนักงานปลัด ศธ.ด้วย  

ส่วนการยกเลิกการอยู่เวรของครูนั้น มาจากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งมีครูผู้หญิงอยู่ 2-3 คน แต่ต้องเข้าเวรเฝ้าโรงเรียนตอนกลางคืน ทำให้เกิดความคิดที่ว่า ความสำคัญของชีวิต และร่างกาย สำคัญกว่าทรัพย์สิน จึงเสนอให้ยกเลิกการอยู่เวรของครู และจ้างนักการภารโรงเพิ่ม โดยได้ให้แนวทางว่านักการภารโรง เป็นเหมือน ‘แก้วสารพัดนึก’ คือโรงเรียนอยากให้เป็นอะไร ก็เป็นได้ อยากให้เป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) ช่างไฟ หรือช่างซ่อมแซมสิ่งต่างๆ ก็เป็นได้ ที่สำคัญ เป็นการสร้างงานให้กับคนอีกว่า 13,000 อัตรา 

สำหรับการลดภาระนักเรียน และผู้ปกครอง มีนโยบายเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา หรือ Anywhere Anytime ซึ่งอยู่ระหว่างการเสนอแปรญัตติของบจัดทำแพลตฟอร์มเพิ่มเติม หลังถูกตัดไปจำนวนมาก โดยนโยบาย Anywhere Anytime แบ่งเป็น ระดับกระทรวง และระดับสถานศึกษา ในระดับสถานศึกษาเคย ได้พูดคุยกับโรงเรียนต่างๆ เช่น โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ให้ทำสื่อการสอนออนไลน์ อัดคลิปวิดีโอในชั้นเรียน และใส่ไว้ในแพลตฟอร์มออนไลน์ของโรงเรียน หากนักเรียนไม่เข้าใจบทเรียน ก็สามารถกลับมาดูเพื่อทบทวนได้อีกครั้ง หากได้เรียนรู้ซ้ำๆ จะเข้าใจได้มากขึ้น ถ้าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลััย ทำสำเร็จ อยากให้ถ่ายทอดวิธีการนี้ไปยังโรงเรียนทั่วประเทศ โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง เพื่อให้เด็กที่อยากเข้าเรียนในโรงเรียนเหล่านี้ มีโอกาสเรียนหลักสูตรของโรงเรียนที่ตัวเองอยากเรียน เชื่อว่าจะส่งผลให้ตั้งใจเรียน และมีผลการเรียนที่ดีขึ้นได้ 

ส่วนการประเมินผลนั้น มีความพยายามพูดคุยมาตลอด ส่วนตัวมองว่าการมีตัวชี้วัดมาก เป็นสิ่งที่ดี การศึกษาที่ผ่านมามุ่งไปที่มิติด้านความเป็นเลิศ แต่ต้องมองการศึกษามิติใหม่ คือการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต ฉะนั้น ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษาที่มีมาตรฐาน การวัดผลจึงจะมาดูที่โรงเรียน ว่ามีคุณภาพมากน้อยแค่ไหน โดยจะดูจากอัตราการแข่งขัน ถ้าสามารถรับนักเรียนได้เพิ่มมากขึ้น ถือว่าสถานศึกษานั้นมีคุณภาพที่ดีขึ้น ในทางกลับกัน ถ้าโรงเรียนขนาดใหญ่ รับเด็กได้น้อยลง ถือว่าคุณภาพด้อยลง นี่เป็นวิธีการวัดคุณภาพของรัฐมนตรีว่าการ ศธ. 

การวัดคุณภาพ จะดูว่าเด็กที่เข้ามาเรียนนั้น หากรับเข้ามา 100 คน เรียนจบได้ทั้งหมด 100 คนหรือไม่ หากไม่สามารถทำให้เด็กจบทั้งหมด 100 คนได้ แสดงว่าสถานศึกษา มีคุณภาพที่ด้อยลง อย่างเช่น สายอาชีวะที่รับเด็กเข้ามาเรียนจำนวนมาก แต่เรียนจบออกไปเพียงร้อยละ 50-75 จึงได้มอบหมายให้ไปปรับเรื่องนี้ เพราะถือว่าเป็นความสูญเปล่าทางการศึกษา”

 

การกำหนดให้เด็กต้องจบทั้งหมด 100% จะทำให้โรงเรียนปล่อยเกรดหรือไม่?

การทำเรื่องนี้ ไม่ได้ดูแค่เรียนจบหรือไม่เท่านั้น แต่ต้องติดตามไปด้วยว่า เมื่อจบแล้วสามารถเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย หรือจบออกไปมีงานทำหรือไม่ เป็นการวัดคุณภาพของสถานศึกษา ในส่วนนี้จะไปสอดคล้องกับการแก้ปัญหาเด็กออกกลางคัน เช่น ถ้ามีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ จะต้องประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาช่วยเหลือ  

การศึกษาในปัจจุบัน ต้องให้เด็กเรียนรู้ตัวเอง ว่าต้องการอะไร การศึกษาในอดีตที่ผ่านมาผิดพลาดมาก อย่างเด็กบางคนเรียนจบวิศวกรรมศาสตร์ แต่กลับไปขายก๋วยเตี๋ยว เพราะเป็นธุรกิจของที่บ้าน ดังนั้น ควรจะต้องสื่อสารก่อน ว่าจริงๆ แล้วเด็กต้องการอะไร ถ้าอยากกลับไปช่วยที่บ้านทำธุรกิจร้านอาหาร ก็ให้ไปเรียนสายอาชีวะ เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเปล่าทั้งด้านงบประมาณ และโอกาสของคนที่ต้องการเรียนในคณะ/สาขานั้น เพื่อนำความรู้ไปใช้ในการทำงานจริงๆ โดยที่ผ่านมาได้เน้นย้ำเรื่องของการแนะแนว หากเด็กบอกว่าไม่ได้ต้องการเป็นเลิศในด้านการศึกษา แต่ต้องการเป็นเลิศในด้านการอาชีพ เช่น อยากจะทำธุรกิจร้านอาหาร จะต้องอบรมเด็กในเรื่องนั้นๆ 

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายเรื่องการสอบเทียบ มอบให้ สกร.และสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ ทั้งนี้ สกร.จะดูแลในเรื่องของการสอบเทียบอยู่แล้ว สำหรับมิติที่เพิ่มเติมเข้ามา จะต้องกลับไปเรื่องของนโยบาย Anywhere Anytime ถ้าโรงเรียนต่างๆ ผลิตสื่อการเรียนการสอนออนไลน์ได้ตามนโยบายนี้จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า หากเด็กที่เรียนนอกระบบ สามารถจบหลักสูตรที่ปรับใหม่ของโรงเรียนตามนโยบาย Anywhere Anytime แล้วมาสอบเทียบกับโรงเรียนที่ออกแบบหลักสูตร ให้ถือว่าจบโรงเรียนนั้นๆ จริง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาข้อกฎหมายว่าทำได้หรือไม่ ยกตัวอย่าง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ที่สามารถเรียนออนไลน์ สอบวัดผล และได้วุฒิการศึกษาตามสาขาที่เรียนได้ หากมิตินี้เกิดขึ้นจริง ถือเป็นเรื่องดี เด็กได้เรียนในโรงเรียนที่อยากเรียน”

 

การยกระดับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ? 

อาจต้องเริ่มจากผู้ปกครอง ซึ่งถือเป็นครูที่ดีที่สุดของลูก ทั้งฟัง พูด อ่าน เขียน ไล่ตั้งแต่ระดับอนุบาล ต่อไปถ้าเด็กจะพูดภาษาไทยคำ อังกฤษคำ ก็ไม่เป็นอะไร ถือเป็นการปลูกฝังเรื่องภาษา เด็กรุ่นใหม่จะต้องเรียนภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และเทคโนโลยี ทั้งหมด 3 ภาษา ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาตนเองในอนาคต”

 

สรุปการทำงานในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมา พอใจหรือไม่?

เกือบ 1 ปี ที่เข้ามาบริหาร ศธ.พอใจมาก โดยเฉพาะทีมงาน ศธ.ที่ช่วยกันขับเคลื่อนทุกๆ ด้าน ในอดีตทุกหน่วยงานอาจจะแยกกันทำหน้าที่ของตัวเอง แต่วันนี้ ศธ.คือครอบครัว ทุกๆ หน่วยงานทำงานร่วมกัน มีการประชุมประสานภารกิจทุกเช้าวันพุธ เพราะเชื่อในหลักธรรมที่ว่า ‘วิสาสา ปรมา ญาติ’ ความคุ้นเคย เป็นญาติอย่างยิ่ง จึงพยายามสร้างความคุ้นเคยกับทุกหน่วยงานในสังกัด ดังนั้น อย่างน้อยต้องมีการพูดคุยกัน 1 วันต่อสัปดาห์”

 

กำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จในการทำงานหรือไม่?

ทุกนโยบาย หรือโครงการที่สร้างขึ้น ไม่ได้กำหนดตัวชี้วัด หรือ KPI เพราะการมี KPI อาจสร้างแรงกดดันให้คนทำงานจนไม่มีความสุข แต่มีเกณฑ์วัดความเหมาะสมอยู่ในใจ อยากให้คนทำงาน แข่งขันกับตัวเอง ดูจากพัฒนาการว่าดีขึ้น หรือด้อยลง หากด้อยลงก็ต้องมาหาสาเหตุ เพื่อวางแนวทางในการช่วยเหลือต่อไป”

 

มีเรื่องใดบ้างที่อยากปรับปรุง? 

คงต้องยอมรับว่า การลดความเหลื่อมล้ำ ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ขณะนี้ต้องรองบประมาณปี 2568 เพื่อนำมาขับเคลื่อนนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งนโยบาย Anywhere Anytime การซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นให้นักเรียน นำร่องในกลุ่มมัธยมปลาย เพราะกลุ่มเด็กเล็กยังต้องการให้ครูดูแลใกล้ชิด สร้างความอบอุ่น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็กทุกคน  

การศึกษาไทยต้องปฏิวัติ การค่อยๆ เปลี่ยนแปลงอาจจะไม่ใช่เรื่องดีทั้งหมด บางเรื่องที่เปลี่ยนแปลงได้ทันที ก็ต้องทำทันที ตามสโลแกนที่ว่า ‘ทำดี ทำได้ ทำทันที’ อย่าไปรอ อย่างเรื่องกฎหมายปฏิรูป หากรู้ว่าอะไรที่ทำได้ ให้ทำไปก่อน ไม่ต้องรอปรับโครงสร้าง เช่น เรื่องหลักสูตรต่างๆ เป็นต้น วันนี้การศึกษาเปรียบเสมือนโควิด หากมีวัคซีนที่เห็นว่าดีแล้ว ให้ฉีดเลย ไม่ใช่ต้องมารออีก 3 ปี กว่าวัคซีนจะได้รับการยืนยัน ถึงวันนั้น อาจไม่มีใครรอด ต้องฉีดเลย เพื่อรักษาชีวิตคนส่วนใหญ่เอาไว้ การศึกษาเช่นเดียวกัน ทุกวันนี้ต้องปฏิวัติ อะไรที่รู้ว่าดี และสามารถลงมือทำได้ ให้ทำทันที เพื่อแก้ปัญหาที่มีให้หมดไปก่อน การบริหาร ศธ.มีความท้าทาย และสนุก ผมพยายามทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุด” 

ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 12 กรกฎาคม 2567