เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 18 กรกฎาคม ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพนักเรียน นักศึกษาและคนทุกช่วงวัย ระหว่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดยมี พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. และนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รง.) ผู้บริหาร ศธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมพิธี.
นายอนุทินกล่าวว่า การพัฒนาทุนมนุษย์และยกระดับศักยภาพบุคลากรของประเทศในทุกมิติเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วยกำลังคนที่มีคุณภาพ มีทักษะและความเชี่ยวชาญ นำไปสู่การเพิ่มรายได้ในระดับครัวเรือน และนำพาประเทศก้าวข้ามพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางในที่สุด โดยสิ่งสำคัญ คือ ต้องสร้างกลไกในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศอย่างเป็นระบบและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานอย่างแท้จริง ในฐานะรองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการ มท. ที่กำกับดูแล 4 กระทรวงหลัก ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนากำลังคนของประเทศทั้งระบบในทุกช่วงวัย คือ มท. ศธ. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ รง. รวมทั้งอีก 1 องค์การมหาชน คือสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพด้วยนั้น หมายถึงการกำกับได้ดูภาพรวมทั้งหมด ของการพัฒนาทุนมนุษย์ ของประเทศ เชื่อมโยงโลกของการศึกษาสู่โลกของการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ที่สามารถลดภาระด้านเวลาและค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองและสถานประกอบการตลอดจนกลุ่มอาชีพอิสระต่างๆ ได้ ด้วยการเตรียมคนให้พร้อมกับการทำงานในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
นายอนุทินกล่าวต่อว่า นโยบายของรัฐบาลเน้นการสร้างโอกาสและความก้าวหน้าในเส้นทางอาชีพ ส่งเสริมการพัฒนาสมรรถนะให้กับนักเรียน นักศึกษา และกำลังคนทุกช่วงวัย ผ่านการพัฒนาทักษะอาชีพ การฝึกอบรม ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ส่งเสริมการสะสมประสบการณ์ทางอาชีพทั้งในระหว่างเรียนและการทำงานเพื่อให้เป็นกำลังคนสมรรถนะสูงจากที่คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของ ศธ. มีการส่งเสริมการจัดการศึกษา พัฒนาทักษะทางอาชีพและส่งเสริมการมีงานทำ โดยเน้น พัฒนาทักษะอาชีพให้แก่นักเรียน นักศึกษา และกำลังคนทุกช่วงวัยให้เป็นกำลังคนคุณภาพสูง มีงานทำ มีรายได้ มีความมั่นคงในอาชีพ มีคุณภาพชีวิตที่ดีเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วยการส่งเสริมให้มี Skill Certificate โดยต้องอาศัยการเชื่อมโยงกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานและสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ
“ทั้ง 2 หน่วยงานนี้ มีมิติในการดำเนินงานที่ส่งเสริม สนับสนุนและบูรณาการร่วมกัน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายให้นักเรียน นักศึกษาในสังกัด สอศ.สามารถได้รับรอง Skill Certificate ควบคู่ไปกับคุณวุฒิทางการศึกษา รวมไปถึงสนับสนุนให้มีการใช้งานและเชื่อมโยงข้อมูลภายใต้แพลตฟอร์มอัจฉริยะในการบริหารจัดการข้อมูลกำลังคนและการพัฒนา เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศไทย (E-Workforce Ecosystem : EWE) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สามารถช่วยให้มีการสั่งสมประสบการณ์ การฝึกอาชีพและการเรียนรู้ได้อย่างเป็นระบบเก็บเป็นเครดิตทักษะได้ ไม่ใช่ฝึกอาชีพหรือผ่านหลักสูตร รับวุฒิบัตรแล้วก็จบไปแต่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ บ่งบอกถึงระดับความรู้ความสามารถของตนเองได้ต่อไป” นายอนุทินกล่าว
พล.ต.อ.เพิ่มพูนกล่าวว่า การลงนามครั้งนี้สอดคล้องกับนโยบายของ ศธ. ที่มีเป้าหมายการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต เน้นให้นักเรียน นักศึกษา มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำหรือ Learn to Earn มีการดำเนินงานธนาคารหน่วยกิตหรือเครดิตระดับอาชีวศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเทียบโอนหน่วยกิต สะสมประสบการณ์ที่เกิดจากการฝึกปฏิบัติจริง เป็นกำลังคนที่มีคุณภาพสูง มีสมรรถนะ เป็นไปตามมาตรฐาน ฝีมือแรงงานแห่งชาติ มาตรฐานอาชีพ และรองรับวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศ ยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก
นายพิพัฒน์กล่าวว่า รง.ร่วมกับ ศธ.จัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานในสาขาอาชีพต่างๆ เช่น ช่างเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ ช่างเชื่อมแม็ก พนักงานการใช้คอมพิวเตอร์ (ประมวลผลคำ) รวมจำนวน 332 แห่งและจัดตั้งศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถ จำนวน 17 แห่ง จำนวน 2 สาขาได้แก่ ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร และช่างเครื่องปรับอากาศ ในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก และร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพส่งเสริมให้ผู้ผ่านการฝึกอบรม และผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติให้ได้รับการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพตามความต้องการของแต่ละบุคคลและการเชื่อมโยงข้อมูลผู้ผ่านการพัฒนาฝีมือแรงงานผ่านระบบ อี เวิร์กฟอร์ซ อีโคซิสเต็ม (E-Workforce Ecosystem : EWE)
“การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ถือว่ามีเป้าหมายและกลไกในการ บูรณาการภารกิจร่วมกัน ระหว่าง รง.กับ ศธ. และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งทั้งสามหน่วยงานจะร่วมกันพัฒนาศักยภาพ นักเรียน นักศึกษา และกำลังคนทุกช่วงวัย ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ทันต่ออุตสาหกรรมและเทคโนโลยีในอนาคต สนับสนุนให้มีการจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน และศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถ สนับสนุนการแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติไปจนถึงระดับนานาชาติการเทียบโอนหน่วยกิตเข้าสู่ระบบธนาคารหน่วยกิต เพื่อแรงงานจะได้วุฒิการศึกษาที่สูงขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีงานทำ และมีรายได้ที่สูงขึ้นรวมทั้งสนับสนุนการเชื่อมโยงข้อมูลภายใต้แพลตฟอร์มอัจฉริยะในการบริหารจัดการ ข้อมูลด้านกำลังคน และการพัฒนาสมรรถนะเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศไทย เพื่อใช้ในการผลิตและพัฒนากำลังคนให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน” นายพิพัฒน์กล่าว
‘ศธ.-ก.แรงงาน’ พัฒนาทักษะน.ร.-แรงงานทุกช่วงวัย สร้างความก้าวหน้าเส้นทางอาชีพ นำพาประเทศพ้นกับดักรายได้ปานกลาง
ที่มา ; มติชนออนไลน์
เกี่ยวข้องกัน
สอศ.นำร่องใช้ ‘ชุดทักษะที่จำเป็น’ จัดการเรียนการสอน
เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงและสร้างความเข้าใจแนวทางการนำร่องชุดทักษะที่จำเป็น (Essential Skills Set) สำหรับเด็กและเยาวชนไทย โดยมี นายนิรุตต์ บุตรแสนลี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา และบุคลากรในสังกัด สอศ. เข้าร่วม ณ ห้องประชุมเดซี่ โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น
เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการ กอศ. กล่าวว่า โครงการนำร่องชุดทักษะที่จำเป็น(Essential Skills Set) สำหรับเด็กและเยาวชนไทย เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา โดยมีสถานศึกษานำร่องที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 10 แห่ง สอศ. ถือเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ดำเนินการในการนำชุดทักษะที่จำเป็น สำหรับเด็กและเยาวชนไทย มาบูรณาการเข้ากับหลักสูตรการจัดการศึกษาของหน่วยงานซึ่งการประชุมในวันนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจและกำหนดแนวทางการดำเนินงานให้กับผู้บริหารสถานศึกษา ครูและบุคลากรอาชีวศึกษา มุ่งเน้นการบูรณาการการใช้ชุดทักษะที่จำเป็นในการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาส่งเสริมผู้เรียนอาชีวศึกษาให้มีชุดทักษะที่จำเป็นโดยเน้นทักษะพื้นฐาน (Basics Skills) เพื่อตอบโจทย์ความสามารถในการแข่งขันในตลาดแรงงาน สามารถพัฒนาแนวทาง วิธีการ กระบวนการ สื่อการเรียนการสอนหรือรูปแบบการจัดการเรียนรู้ ภายใต้การใช้ชุดทักษะที่จำเป็น ตลอดจนเพื่อให้สถานศึกษาเป็นต้นแบบ และขยายผลการนำร่องโครงการไปยังสถานศึกษาอาชีวศึกษาอื่นๆ ในอนาคต
ด้าน นายนิรุตต์ บุตรแสนลี ผู้อำนวยการ สวพ. กล่าวว่า เพื่อขับเคลื่อนการนำร่องชุดทักษะที่จำเป็น ประกอบด้วย 2 กลุ่มทักษะ ได้แก่
· ชุดทักษะขั้นพื้นฐาน (Basics Skills Set) เช่น ความฉลาดรู้ การคำนวณ ความฉลาดรู้ทางสังคม – วัฒนธรรมฯ
· ชุดทักษะขั้นสูง (advanced Skills Set) เช่น เรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติและกรอบความคิดแบบเติบโต ความฉลาดรู้ด้านเทคโนโลยีและการสื่อสารฯ
ซึ่งระยะแรกจะเน้นการนำชุดทักษะขั้นพื้นฐานไปบูรณาการเข้ากับหลักสูตรการจัดการศึกษาของสถานศึกษานำร่อง สังกัด สอศ. จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยพณิชยการเชตุพน วิทยาลัยอาชีวศึกษาธนบุรี วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ วิทยาลัยเทคนิคแพร่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย วิทยาลัยการอาชีพไชยา วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี วิทยาลัยเทคนิคหนองคาย วิทยาลัยเทคนิคนครโคราช และวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัตน์
โดยในการจัดการประชุมครั้งนี้ เป็นกิจกรรมที่ 1 ของโครงการ ซึ่งสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษาร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคนครโคราช ได้ดำเนินการจัดประชุม ให้แก่สถานศึกษานำร่อง ทั้ง 10 แห่ง โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 1 ภาคการศึกษา ประกอบด้วย 4 กิจกรรม ได้แก่
· กิจกรรมที่ 1 การประชุมชี้แจงและสร้างความเข้าใจแนวทางการนำร่องชุดทักษะที่จำเป็น (Essential Skills Set) สำหรับเด็กและเยาวชนไทย
· กิจกรรมที่ 2 การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม สื่อการเรียนการสอน และรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการนำร่องชุดทักษะที่จำเป็น (EssentialSkills Set) สำหรับเด็กและเยาวชนไทยของสถานศึกษา
· กิจกรรมที่ 3 การติดตามผลการดำเนินงานและกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการให้บรรลุเป้าหมาย และ
· กิจกรรมที่ 4 การนำเสนอการวิจัยและนวัตกรรม สื่อการเรียนการสอน และรูปแบบการจัดการเรียนรู้จากการนำร่องชุดทักษะจำเป็น (Essential Skills Set) สำหรับเด็กและเยาวชนไทย ของสถานศึกษานำร่อง
ที่มา : วันอังคาร ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2567