ค้นหา

คดีทุจริตครุภัณฑ์ไทยเข้มแข็ง ผิดอย่างไร ใครโดนบ้าง

"...ในการจัดซื้อครั้งที่ 1 ไม่ปรากฏพยานหลักฐานการขายเอกสารประกวดราคา ไม่มีหลักฐานการยื่นซองและรับซองประกวดราคา คณะกรรมการประกวดราคามิได้ทำหน้าที่พิจารณาผลการประกวดราคา การจัดซื้อครั้งที่ 1และครั้งที่ 2 ได้จัดซื้อครุภัณฑ์บางรายการโดยใช้คุณลักษณะเฉพาะที่ยกเลิกแล้วมาดำเนินการจัดซื้อ..." 

กรณีสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอข่าวในช่วงเดือน มิ.ย.2566 ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้ความผิด นางสาวนริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และพวก ในคดีโครงการจัดซื้อครุภัณฑ์ภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 ไทยเข้มแข็ง (SP.2)ประจำปีงบประมาณ 2553-2555 ในยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยข้อกล่าวหาในส่วน นางสาวนริศรา ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเสียงเอกฉันท์ชี้มูลความผิด  

สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันจาก นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. ไปแล้วว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด นางสาวนริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และพวก ในคดีโครงการจัดซื้อครุภัณฑ์ภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 ไทยเข้มแข็ง (SP.2) ประจำปีงบประมาณ 2553-2555 จริง เรื่องอยู่ระหว่างรอส่งสำนวนไต่สวน พยานเอกสารหลักฐานต่างๆ ให้ อัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อฟ้องร้องคดีตามขั้นตอนทางกฎหมาย 

เมื่อถามว่า ผู้ถูกกล่าวหารายอื่นที่ถูกชี้มูลด้วยมีจำนวนมากถึงหลักร้อยคนหรือไม่   นายนิวัติไชย ตอบว่า "น่าจะถึง"

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมายังไม่ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับพฤติการณ์การกระทำความผิดในคดีนี้ต่อสาธารณชน 

ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลรายละเอียดมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดของนางสาวนริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ และพวก เป็นทางการแล้ว มีรายละเอียดดังต่อไปนี้ 

 

@ พฤติการณ์การกระทำความผิด

ในสำนวนการไต่สวนคดีนี้ ของป.ป.ช. ระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้ดำเนินการจัดซื้อครุภัณฑ์การศึกษาเพื่อจัดส่งให้กับวิทยาลัยในสังกัด จำนวน 150 วิทยาลัย ภายใต้โครงการแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ ไทยเข้มแข็ง โดยจัดซื้อด้วยวิธีประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) จำนวน 3 ครั้ง ตามประกาศประกวดราคา ครั้งที่ 1 ลงวันที่ 10 กันยายน 2553 และ 13 กันยายน 2553 (เพิ่มเติม) จำนวน 22 สัญญา ครั้งที่ 2 ลงวันที่ 18 เมษายน 2554 จำนวน 13 สัญญา และครั้งที่ 3 ลงวันที่ 18 เมษายน 2554 จำนวน 4 สัญญา รวม 39 สัญญา วงเงินรวม 1,683,677,328 บาท

โดยนางสาวศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาในขณะนั้น ได้พิจารณาเห็นชอบกระบวนการประกวดราคา อนุมัติผลการดำเนินงานประกาศประกวดราคา และประกาศรายชื่อผู้ชนะการเสนอราคา

นางสาวนริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น และนางสาวศศิธารา พิชัยชาญ ณรงค์ ได้พิจารณาอนุมัติวงเงินการจัดซื้อ และนางสาวศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ และนายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาในขณะนั้น ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายครุภัณฑ์และอนุมัติเบิกจ่ายเงิน

ทั้ง ๆ ที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า

ในการจัดซื้อครั้งที่ 1 ไม่ปรากฏพยานหลักฐานการขายเอกสารประกวดราคา ไม่มีหลักฐานการยื่นซองและรับซองประกวดราคา คณะกรรมการประกวดราคามิได้ทำหน้าที่พิจารณาผลการประกวดราคา 

การจัดซื้อครั้งที่ 1และครั้งที่ 2 ได้จัดซื้อครุภัณฑ์บางรายการโดยใช้คุณลักษณะเฉพาะที่ยกเลิกแล้วมาดำเนินการจัดซื้อ

การจัดซื้อครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 มีการกระทำโดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมโดยผู้เสนอราคาบางรายมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน และผู้ขายส่งมอบพัสดุไม่ถูกต้องตามสัญญา และในการจัดซื้อทั้ง 3 ครั้ง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้อนุมัติให้เบิกจ่ายค่าครุภัณฑ์ดังกล่าว โดยไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการตรวจรับแต่ละกลุ่มได้ไปปฏิบัติหน้าที่ตรวจรับครุภัณฑ์ของแต่ละสัญญา ณ วิทยาลัยที่ได้รับจัดสรร

 

@ มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.

คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว มีมติว่า  

1. การกระทำของ นางสาวนริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 และมาตรา 12 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172)

2. การกระทำของนางสาวศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ และนายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 และมาตรา 12 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561มาตรา 172) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง

3. การกระทำของนายภูมิพิชญ์ วโรดมรุจิรานนท์ ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ นายสราวุธ ผึ่งประเสริฐ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ นายวีระชัยไตรศักดิ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคนครราชสีมา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอำนวยการนางสาวเพ็ญลักษณ์ ล้วนสุธรรม หัวหน้าส่วนการคลังและพัสดุ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง มีมูลความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 และมาตรา 157 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี ่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง แล้วแต่กรณี

4. การกระทำของคณะกรรมการประกวดราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 และมาตรา 157 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 และมาตรา 12 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เติมมาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง หรือการกระทำของกรรมการประกวดราคาฯ บางราย ไม่มีมูลความผิดทางอาญา ให้ข้อกล่าวหาตกไป หรือถึงแก่ความตายแล้ว จึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบ หรือให้ส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยไปตามหน้าที่และอำนาจตามพฤติการณ์แต่ละกรณี

5. การกระทำของคณะกรรมการตรวจรับ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 มาตรา 157 และมาตรา 162 (1) (4) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) แต่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (1) (4) ได้ขาดอายุความแล้วสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) จึงให้ยุติการดำเนินคดีอาญาในความผิดฐานนี้ และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง หรือให้ข้อกล่าวหาตกไปตามพฤติการณ์แต่ละกรณี

6. การกระทำของกลุ่มเอกชนผู้เสนอราคาและผู้ให้บริการตลาดกลาง มีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิด หรือให้ข้อกล่าวหาตกไป หรือสิ้นสภาพนิติบุคคล หรือถึงแก่ความตายแล้ว จึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบ ตามพฤติการณ์แต่ละกรณี

ส่วนการกระทำของนายสุทธิชัย จันทร์อารักษ์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานว่าได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป

ทั้งนี้ ภายหลังการประชุมลงมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าว ได้มีการส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 76 และมาตรา 91 (1) และให้มีการส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อพิจารณาโทษทางวินัย หรือดำเนินการทางวินัย ตามฐานความผิดดังกล่าวตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณีต่อไป

รวมไปถึงการแจ้งผู้บังคับบัญชาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และให้แจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนิติบุคคลที่กระทำความผิด ให้กรมบัญชีกลางดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไปด้วย 

อนึ่งเกี่ยวกับคดีนี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานว่าไปแล้วว่า ในชั้นคณะกรรมการไต่สวนมีการสรุปเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. จำนวนมากกว่า 190 ราย ซึ่งมีทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ และเอกชน อย่างไรก็ดี ในรายชื่อผู้ถูกกล่าวหาคดีนี้ ไม่มีชื่อ นายสุชาติ ตันเจริญ ร่วมอยู่ด้วย เนื่องจากชื่อ นายสุชาติ ถูกตีตกไปตั้งแต่ยังไม่ได้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนแล้ว  

ขณะที่ในการรับเรื่องไต่สวนคดีนี้เป็นทางการ ป.ป.ช. ระบุข้อกล่าวหาว่า มีการร่วมกันกำหนดวงเงินงบประมาณให้กับสถานศึกษา โดยมีเงื่อนไขหัก 1% ของงบประมาณที่ได้รับ สถานศึกษาใดยอมรับจะได้รับการจัดสรรงบตั้งแต่ 30 ล้านบาท จนถึง 99 ล้านบาท หากไม่ยอมรับเงื่อนไขจะได้รับการจัดสรรเพียง 3 แสนบาท จนถึง 2 ล้านบาท ทำการติดต่อพ่อค้าให้เข้ามาตกลงเรื่องการจ่ายเงินเปอร์เซ็นต์ รวม 30%โดยเม็ดเงินทั้งหมดจะรวบรวมนำส่งให้กับผู้ถูกกล่าวหาบางราย  

อย่างไรก็ดี การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สิ้นสุด ผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกชี้มูลความผิดยังมีสิทธิ์ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลได้อีก 

ในท้ายที่สุด บทสรุปการต่อสู้คดีนี้ ในชั้นศาลจะออกมาเป็นอย่างไร คอยติดตามดูกันต่อไป  

ที่มา ; สำนักข่าวอิสรา วันพฤหัสบดี ที่ 18 กรกฎาคม 2567