เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารศธ. ว่า สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)รายงานความคืบหน้า การพัฒนาระบบการประเมินประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ ปิซ่า โดยสสวท.มีมติเห็นชอบแนวทางการปรับปรุงและจัดทำแบบฝึก จากต้นร่างข้อสอบที่ได้จากการอบรมเชิงปฏิบัติการ ส่งให้โรงเรียนต้นสังกัดนำไปฝึกกับนักเรียนชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 3 ม.4 และ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.)1ในภาคเรียนที่ 1/2568 ส่วนสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้มีการเตรียมความพร้อมในการนำข้อสอบปิซ่าผ่านการเตรียมความพร้อมการสอบครูผู้ช่วย รวมไปถึงการนำข้อสอบปิซ่ามาเชื่อมโยงกับหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือเกณฑ์ PA อีกด้วย
พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับการขับเคลื่อนนโยบาย Thailand Zero Dropout ของรัฐบาล โดยได้มีการมอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.) จัดทำข้อมูลนักเรียนหลุดออกจากระบบของวันที่ 10 มิถุนายน มาร่วมวิเคราะห์กับข้อมูลของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ขณะเดียวกัน สป.ได้จัดทำเว็ปไซต์ https://exchange.moe.go.th เพื่อติดตามและอัพเดตข้อมูลเด็กวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษาเป็นรายบุคคลแบบเรียลไทม์ โดยทุกหน่วยงานสามารถนำเข้าข้อมูล เชื่อมโยงการติดตามเด็กตกหล่น กับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) และ กสศ. เพื่ออัพเดตข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด
“ทั้งนี้สกร. ได้รายงานว่าเด็กและเยาวชนอายุ 6-18 ปี ที่หลุดออกจากระบบการศึกษาภาคบังคับมีจำนวนทั้งสิ้น 394,039 คน แบ่งเป็นเด็กสัญชาติไทย 190,934 คน และเด็กต่างชาติ 203,105 คน โดยศธ.ให้ความสำคัญในการดึงเด็กสัญชาติไทยกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาให้ครบถ้วน ในขณะที่สำหรับเด็กต่างชาติ ศธ.จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อให้เด็กกลุ่มนี้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา เนื่องจากตามกฎหมาย ศธ.ไม่มีอำนาจบังคับให้เด็กกลุ่มนี้กลับมาเรียนได้ จึงต้องทำให้เด็กเกิดความสมัครใจและประสงค์กลับเข้ามาเรียน”พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าว
พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ในที่ประชุม สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.) ยังรายงานผลการประเมินคุณภาพสถานศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 3,025 โรงเรียน ซึ่งเป็นการเริ่มต้นที่ดีของการประเมิน และตั้งเป้าให้มีสถานศึกษาที่ได้รับการประเมินเพิ่มเป็น 50,000 โรงเรียน
ที่มา ; มติชนออนไลน์
เกี่ยวข้องกัน
ศธ.เร่งพัฒนาครู-ผู้บริหารโรงเรียน มีความรู้เกี่ยวกับข้อสอบ PISA ไปปรับการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ
พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 38/2567 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ และออนไลน์ผ่านระบบ Zoom meeting ว่าได้มีการติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA ของ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้รายงานผลการอบรมเชิงปฏิบัติการสร้างและพัฒนาข้อสอบวัดความฉลาดรู้ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ระดับ ม.ต้น (ออนไลน์) โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 15,445 คน จากทุกสังกัด (สพฐ. สช. สอศ. อว. สถ. กทม. และอื่นๆ) ทั้งนี้ ส่วนใหญ่อบรมผ่านช่องทาง YouTube Live และ Facebook Live รับชมย้อนหลังผ่าน YouTube และมีผู้สนใจเข้ารับอบรมผ่าน Zoom meeting กว่า 1,652 คน ตามลำดับ และจะขยายผลไปกว่า 2 หมื่นคนไปจนถึง 1 แสนคน รวมถึงให้ครูและผู้บริหารโรงเรียน ผอ.เขตพื้นที่ฯให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อสอบ PISA เพื่อวัดเด็กได้หลายๆ อย่างแล้วนำความรู้ไปปรับการเรียนการสอนให้มีคุณภาพมากขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของเราให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ จากการฝึกอบรมมีข้อเสนอแนะจากผู้เข้ารับอบรม เช่น 1.เห็นด้วยกับการจัดอบรมในช่วงปิดภาคเรียน 2.ต้องการให้มีการอบรมต่อเนื่อง 3.ต้องการให้จัดการเรียนรู้ที่เน้นความฉลาดรู้ในโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัยด้วย 4.เปิดประสบการณ์การออกข้อสอบ เกณฑ์การให้คะแนน 5.มีความมั่นใจเพิ่มขึ้นแนวทางการทำข้อสอบที่ถูกต้อง และสอดคล้องกับแนวข้อสอบ PISA 6.กิจกรรมแลกเปลี่ยนวิพากษ์ข้อสอบ เป็นสิ่งที่ดี 7.ควรเพิ่มเวลาในการออกข้อสอบมากขึ้นก่อนมาเข้ารับการอบรม
“ซึ่งจากการอบรมก็เป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับคุณครู ก็เป็นเรื่องน่ายินดี ที่คุณครูของเรามีความตื่นตัว มีความสนุก อยากที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆก็ถือเป็นมิติการศึกษาที่ดี ที่คุณครูเราเปิดใจกว้าง ก็เชื่อว่าเมื่อคุณครูรับสิ่งใหม่ๆเข้าไปก็จะนำไปถ่ายทอดให้กับนักเรียนได้รับสิ่งใหม่ๆ ต่อไป”
อย่างไรก็ตาม สพฐ.เตรียมแผนการอบรมผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารโรงเรียน และครู พร้อมคัดกรองและจัดกลุ่มผู้ผ่านการอบรมเพื่อพัฒนาสร้างข้อสอบต่อเนื่องในทุกรายวิชาและทุกระดับ โดยมีเป้าหมายสร้างการคิดวิเคราะห์ทั้งชั้นเรียน ทั้งในกลุ่มผู้บริหาร ครู และกลุ่มที่ผ่านการอบรมเพื่อขยายผลต่อไป
“ในส่วนของการขยายผลการดำเนินงาน PISA มอบให้ สพฐ. เป็นเจ้าภาพดำเนินการ พร้อมประสานการทำงานกับ สสวท. อย่างต่อเนื่อง และให้เชิญผู้ตรวจราชการกระทวงศึกษาธิการศึกษาธิการจังหวัด ศึกษานิเทศก์ เข้ามามีส่วนร่วม พร้อมรายงานผลมายังปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้ เพื่อทำเรื่องการอบรมพัฒนาความฉลาดรู้เป็นโมเดลนำร่องขยายการดำเนินงานสู่ศึกษาธิการจังหวัด ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา และผู้อำนวยการโรงเรียน เพื่อให้เกิดความกระตือรือร้นและสร้างความต่อเนื่องเพื่อเราจะได้ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานไปด้วยกันครบทุกภาคส่วน” รมว.ศธ. กล่าว
ที่มา ; แนวหน้า วันอังคาร ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567