ค้นหา

‘Critical Thinking’ สิ่งที่คนไทยควรจะมีแต่ก็ไม่มี

ไม่ใช่แค่เด็ก แต่เป็นคนไทยทุกช่วงวัยที่ขาดทักษะความคิดแบบ 'Critical Thinking' หรือทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ การประเมินต่อสิ่งที่รับรู้มาว่าถูกต้องน่าเชื่อถือหรือไม่ เพราะคนทุกยุคไม่เคยถูกสอนให้คิด วิเคราะห์ แต่ถูกบังคับให้ฟังและเชื่อ ส่งผลคนไทยภูมิคุ้มกันการถูกหลอกต่ำ 

ความน่าเป็นห่วงของสังคมไทย ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของเศรษฐกิจ ปากท้อง ค่าครองชีพ หรือความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินในการใช้ชีวิตให้ผ่านไปแต่ละวัน ซึ่งปัจจุบันแทบจะไม่เอื้อต่อความสามารถในการก้าวผ่านความยากลำบากไปอย่างราบรื่นได้เลย 

แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าคือ ระดับการพัฒนาทางความคิดและการศึกษาของคนไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดความเจริญของผู้คน ซึ่งที่ผ่านมาไม่ว่าจะย้อนกลับไป 10 ปี 20 ปี 30 ปี หรือ 50 ปี คนไทยก็ยังคงได้ยินวลีที่กล่าวว่า “การศึกษาไทยน่ากังวล คุณภาพประชากรไทยน่าเป็นห่วง หรือเด็กไทยน่าเป็นหัวง” วนซ้ำๆ แบบที่ไม่รู้ว่าจะสามารถหยุดวงจรเหล่านี้ได้เมื่อไหร่ 

และนี่คือจุดเริ่มต้นที่สำคัญของปัญหาสังคมในระดับชาติ ที่ส่งผลกระทบต่อระดับการพัฒนาประเทศ พัฒนาคุณภาพประชากร เพราะมันคือรากฐานของการเดินหน้าหรือถอยหลังของประเทศ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่กำลังพูดถึงกันบ่อยๆ ในช่วงหลังๆ จากปัญหาการถูกหลอกซ้ำๆ ไม่ว่าจะเป็นเฟคนิวส์ การถูกหลอกให้ลงทุน แชร์ลูกโซ่ หรือการกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งสาเหตุเกิดจากการขาดทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ หรือ 'Critical Thinking' ในการประเมินต่อสิ่งที่รับรู้มาว่าสิ่งเหล่านั้นถูกต้องน่าเชื่อถือหรือไม่ ก่อนจะตัดสินใจ ปักใจ มั่นในว่านั่นคือชุดข้อมูลที่คู่ควรแก่การเชื่อ 

แต่ถ้าหากขาดการคิดวิเคราะห์ไม่เป็น หรือใช้วิจารณญาณประกอบการตัดสินใจไม่ได้ ปัญหาย่อมตามมาแน่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อต้องใช้ชีวิตบนโลกที่มีภัยรอบตัวที่พร้อมจะเข้ามาฉกฉวยผลประโยชน์จากความไม่รู้เท่าทันของคน 

‘Critical Thinking’ สิ่งที่คนไทยควรจะมีแต่ก็ไม่มี 

จากข้อมูลของการประชุม World Economic Forum (WEF) 2012-2013 พบว่า การจัดอันดับการศึกษาของไทยรั้งท้ายอาเซียน ผลการจัดอันดับที่ว่ายังชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าคนไทยส่วนมากยังคิดไม่เป็น และขาดทักษะสำคัญในการดำรงชีวิต คือ ขาดการคิดวิเคราะห์ 

ในขณะที่อีกหลายปีต่อมา World Economic Forum (WEF) 2019 ก็มีการจัดอันดับความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก จากเด็กและเยาวชนของ 141 ประเทศ ผลการจัดอันดับ พบว่าความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยนั้นลดลง จากอันดับที่ 38 ลงไปสู่อันดับที่ 40 โดยปัจจัยหนึ่งที่ฉุดอันดับของประเทศไทยตกลงมา มาจากคะแนนด้านการเรียนการสอนของไทยที่มีการฝึก Critical Thinking พบว่าต่ำที่สุด ได้คะแนนเพียง 37 คะแนนเท่านั้น จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน 

จริงอยู่ที่ว่าคะแนนต่าง ๆ ที่คนไทยจำเป็นต้องเข้าสอบเพื่อวัดระดับนั้น ไม่สามารถวัดความสามารถที่แท้จริงของเด็กไทยได้ แต่มันก็แสดงให้เห็นว่าการศึกษาไทยเป็นอย่างไร ถึงทำให้ผลคะแนนและระดับของเด็กไทยต่ำขนาดนี้ และอีกคำถามที่ดูเหมือนจะยาวไกล แต่จริง ๆ แล้วไม่เลย คือ เด็กไทยจะมีทักษะและความพร้อมในการก้าวเข้าสู่วัยทำงานในอนาคตได้ดีเพียงใด 

ที่สำคัญจาก การศึกษาขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development : OECD) โดยเป็นข้อมูลที่เผยความสามารถในการรับมือกับเฟกนิวส์และข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จ ของเด็กอายุ 15 ปี จาก 77 ประเทศทั่วโลก พบว่าเด็กไทยมีศักยภาพในการกรองข่าวปลอมต่ำมาก รั้งท้ายอยู่ในลำดับที่ 76 จาก 77 ประเทศ 

หรือเอาที่ใกล้ตัวที่สุด คือการที่เราจะเห็นเด็กไทยส่วนน้อยเท่านั้นที่เริ่มตั้งคำถามกับบางสิ่งบางอย่างที่มีอยู่ ในขณะที่หลายคนยังติดอยู่กับการเชื่อตามผู้ใหญ่ ซึ่งสิ่งที่ผู้ใหญ่เชื่อก็ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องและอธิบายด้วยหลักการและเหตุผลไม่ได้ เป็นเพียงการเชื่อต่อๆ กันมารุ่นสู่รุ่น หลายคนเชื่อตามกระแส ทั้งที่ไม่รู้ว่ากระแสข้อมูลที่รับรู้มานั้นเท็จจริงเป็นอย่างไร 

แม้แต่การแสดงความคิดเห็นตามโซเชียลมีเดียของคนไทยหลายคนก็ดูเหมือนไม่มีการคิดก่อนโพสต์ หรือไม่ไตร่ตรองอะไรมาก่อนเลย ทั้งที่ทุกวันนี้การเข้าถึงข้อมูลหลาย ๆ ด้านนั้นสามารถทำได้อย่างง่ายดาย 

นอกจากนี้ Critical Thinking ยังเป็นหนึ่งใน 4 ทักษะ (4Cs) แห่งศตวรรษที่ 21 อีกด้วย ซึ่งประกอบด้วยอีก 3 ทักษะสำคัญ คือ Critical Thinking Communication (ทักษะสื่อสาร) Collaboration (ทักษะการทำงานร่วมกัน) และ Creativity (ทักษะความคิดสร้างสรรค์) 

การรับข้อมูลด้านเดียวแล้วเชื่อเลยทันที เป็นเรื่องที่อันตรายมากในสังคมปัจจุบัน เนื่องจากมันสามารถนำไปสู่ความขัดแย้งที่ไม่สามารถพูดคุย ชี้แจง หรือตกลงได้ด้วยเหตุผล การอยู่ในโลกแคบ ๆ แบบนี้ไม่ได้เพียงแต่กระทบกับการทำงาน แต่ยังกระทบกับการใช้ชีวิตในชีวิตประจำวันด้วยเช่นกัน 

ทักษะ Critical Thinking จะทำให้เรารู้สึก “เอ๊ะ” อยู่เสมอเมื่อได้รับข้อมูล การที่เราสงสัยและไม่เชื่อเลยในทันที ทำให้เราพยายามหาคำตอบในมุมอื่น โดยการตั้งคำถามว่าจะเป็นอื่นที่ต่างจากนี้ได้ไหม หรือจะมีข้อมูลอื่นมาค้านหรือไม่ มองให้กว้างกว่าสิ่งที่รู้มา เพื่อนำมาใช้ประกอบกับการตัดสินใจ อย่างไรก็ดี การตั้งคำถามนี้ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะสร้างความขัดแย้งใด ๆ เพียงแต่เพื่อให้ได้ข้อมูลมากพอให้ประกอบการตัดสินใจ เมื่อตัดสินใจแล้ว จะพูดได้ว่าสิ่งที่เราเชื่อมาจากข้อมูล หลักการ หรือแนวคิดอะไร ไม่ยึดติดอยู่กับความเชื่อเดิม ๆ ที่เราเชื่อเพราะเราอยากจะเชื่อ 

Critical Thinking กลายเป็นทักษะสำคัญสำหรับการทำงานในปัจจุบัน เพราะส่งผลต่อความสามารถทางการแข่งขันของไทย ซึ่งปัจจุบันยิ่งถอยหลังลดลง เพราะการคิดแบบมีวิจารณญาณเป็นหนึ่งทักษะที่คนรุ่นใหม่และองค์กรธุรกิจสมัยใหม่เชื่อว่าเป็นสิ่งจำเป็นของคนยุคนี้ 

Foundation for Young Australians เปิดเผยผลสำรวจเงื่อนไขการรับสมัครงาน 4.2 ล้านตำแหน่ง ระหว่างปี 2012-2015 พบว่า บัณฑิตจบใหม่ในออสเตรเลียถูกคาดหวังจากตลาดแรงงานให้มีทักษะ Critical Thinking เพิ่มขึ้น โดยในปี 2015 เพิ่มขึ้นจากปี 2012 ถึง 158% ตลาดให้ความสำคัญกับ Critical Thinking มากแค่ไหน คำถามนี้ตอบได้จากค่าจ้างที่ภาคธุรกิจยินดีจ่ายเพิ่มให้แก่พนักงานที่มี Critical Thinking ว่าเพิ่มขึ้นจากค่าจ้างปกติเท่าไร 

ผลสำรวจพบว่านายจ้างยินดีจ่ายค่าจ้างให้เพิ่มถึง 7,745 ดอลลาร์ออสเตรเลียนสำหรับแรงงานที่มีทักษะ Critical Thinking ซึ่งสูงกว่าค่าจ้างสำหรับทักษะความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) หรือทักษะความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) เสียอีก เรียกได้ว่า ทักษะ Critical Thinking เป็นแต้มต่อให้ช่วยหางานในยุคนี้ และช่วยให้ได้ค่าจ้างสูงกว่าทั่วไปมากทีเดียว.

แต่ดูเหมือน Critical Thinking จะเป็นทักษะที่หายไปของคนทั้งโลก จากรายงาน 2019 State of the Workplace ทักษะ Critical Thinking เป็นทักษะ Soft Skill ที่นายจ้างเห็นว่าผู้สมัครงานในยุคปัจจุบันขาดแคลนมากสุด 

อย่างไรก็ตาม คนไทยทุกช่วงวัยจำนวนมากขาด Critical Thinking ข้อจำกัดหลักมีอย่างน้อย 3 ประการ คือ

1. ระบบการศึกษาของไทยไม่เน้นให้ผู้เรียนตั้งคำถาม แต่ถูกฝึกให้เชื่อและจำมากกว่าคิดวิเคราะห์ ดังนั้นจึงไม่ถูกฝึกการลำดับเหตุผล

2. สังคมไทยไม่ใช่สังคมแห่งการค้นคว้า เพราะ Critical Thinking ไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากปราศจากการค้นคว้าข้อมูลในเชิงลึกและการฟังที่มีคุณภาพ ครอบครัวไทยส่วนใหญ่ทุกยุคทุกสมัยไม่ได้ปลูกฝังให้สามารถตั้งคำถามจากสิ่งที่สงสัย และการตอบคำถามมีคุณภาพ เพราะมักมองว่าการถามในสิ่งที่แตกต่างไปจากความเชื่อดั้งเดิมเป็นเรื่องไร้สาระ นอกกรอบ นอกคอก ผู้ใหญ่มักตัดจบความไม่รู้ของตัวเองด้วยการปัดรำคาญ ซึ่งนี่เป็นต้นตอหลักด้านหนึ่งที่ทำให้คนไทยไม่กล้าแสดงความเห็นที่นอกกรอบ เพราะจะถูกมองว่าไม่เคารพผู้ใหญ่

3. สังคมการทำงาน ในการทำงาน เจ้านายส่วนใหญ่ชอบให้ลูกน้องเชื่อฟัง มากกว่าเสนอข้อคิดเห็นที่แตกต่าง การประชุมไม่ใช่การเข้ามาระดมสมองเพื่อทำงาน แต่เป็นการเรียกมารวมตัวกันเพื่อสั่งให้ทำพร้อมๆ กันเท่านั้น ดังนั้นกรอบความคิดในการทำงานจึงเดินหน้าไปด้วยการถูกสั่งให้ฟังและทำตาม แต่ไม่ใช่การทำงานร่วมกันเป็นทีมโดยการระดมทักษะที่แตกต่างกันเพื่อทำงานให้บรรลุไปพร้อมๆ กัน 

ฉะนั้น เมื่อ Critical Thinking ของคนไทยคือทักษะที่เหมือนจะมีแต่ก็ไม่มี กลายเป็นทักษะสำคัญสำหรับการใช้ชีวิตในทุกมิติ ทั้งการเรียน การทำงาน การเผชิญหน้ากับสถานการณ์รอบตัวประจำวัน ในขณะที่คนไทยมีทักษะด้านนี้ต่ำลงเรื่อย ๆ ที่ส่งต่อมาจากคนรุ่นก่อนหน้า ดังนั้นการที่คนไทยจะมีภูมิคุ้มกันทางความคิดที่ถูกหลอกให้เชื่อโดยไม่ไตร่ตรองอย่างรอบคอบ หรือถูกหว่านล้อมแล้วจนไม่สามารถพาตัวเองออกจากสถานการณ์ที่คับขันได้ จึงเป็นการชี้ให้เห็นว่า คนไทยนั้นมีความอ่อนแอทางความคิดสูง และติดกับดักได้ง่ายกว่าที่ควรจะเป็นนั่นเอง 

ที่มา ; FB Reporter Journey 

เกี่ยวข้องกัน

ทำไมเด็กไทยออกจากกรอบความคิดไม่ได้?

การศึกษาไทยยังคงเน้นการบังคับให้เชื่อ ฟัง และทำตาม มากกว่าสอนให้คิด วิเคราะห์ และตั้งคำถาม ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่เด็กไทยไม่สามารถออกจากกรอบความคิดได้ เมื่อพวกเขาไม่เคยถูกสนับสนุนให้คิดนอกกรอบ ทักษะที่สำคัญอย่าง ‘Critical Thinking’ จึงกลายเป็นสิ่งที่ขาดหายไป เด็ก ๆ ไม่ได้รับการกระตุ้นให้ตั้งคำถามหรือประเมินข้อมูลที่พวกเขาได้รับ 

ระบบที่ไม่ให้พื้นที่สำหรับความคิดสร้างสรรค์

ระบบการศึกษาที่มักจะมุ่งเน้นแต่การสอบและการจำ ทำให้เด็ก ๆ ขาดการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ พวกเขาได้รับเพียงชุดคำตอบสำเร็จรูปและถูกคาดหวังให้ทำตามมาตรฐานที่วางไว้

การไม่สามารถออกจากกรอบความคิดที่จำกัดนี้ ส่งผลให้เด็กไทยไม่สามารถปรับตัวในโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วได้ พวกเขาขาดทักษะการแก้ปัญหาและการคิดวิเคราะห์ ซึ่งจำเป็นต่อการใช้ชีวิตในสังคมปัจจุบัน 

ทักษะที่จำเป็น แต่ไม่ได้รับการพัฒนา

ทักษะ ‘Critical Thinking’ คือการตั้งคำถาม การวิเคราะห์ และการประเมินข้อมูล เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งมากขึ้น แต่ในระบบที่มักเน้นให้ทำตามโดยไม่มีเหตุผลรองรับ ทำให้ทักษะนี้ถูกละเลย ความท้าทายคือการสร้างสังคมที่เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้วิธีคิดเอง มากกว่ารับข้อมูลโดยไม่ตั้งข้อสงสัย 

อนาคตต้องคิดนอกกรอบ

การจะเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เริ่มต้นได้จากการให้เด็ก ๆ มีพื้นที่ในการทดลอง ล้มเหลว และเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง เพราะหากเราไม่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้คิดวิเคราะห์ด้วยตนเอง อนาคตของเด็กไทยก็จะยังคงติดอยู่ในกรอบเดิม 

เราเชื่อว่าการพัฒนาเด็กให้มีความคิดสร้างสรรค์และทักษะการคิดวิเคราะห์เป็นสิ่งสำคัญ เราจะพาเด็ก ๆ ออกนอกกรอบเดิม ๆ โดยเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ลองผิดลองถูก ได้ตั้งคำถาม ได้วิเคราะห์สิ่งที่พบเจอในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่แค่เรียนรู้ผ่านการฟังหรือทำตามเท่านั้น แต่เป็นการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำและคิดค้นด้วยตนเอง เราให้ความสำคัญกับการปลูกฝังทักษะเหล่านี้ตั้งแต่พื้นฐาน เพราะเรามองเห็นว่าทักษะการคิดนอกกรอบจะเป็นกุญแจสำคัญสำหรับอนาคตของพวกเขาในโลกที่ไม่หยุดนิ่ง 

ที่มา ; FB Heyday Club 

เกี่ยวข้องกัน

น่าห่วง เด็กไทยไม่ค่อยมี Critical Thinking วิกฤติช่วงวัยทำงาน

ช่วงที่ผ่านมา หลาย ๆ คนคงน่าจะเคยได้ยินคำพูดในทำนองที่ว่า “เด็กไทยน่าเป็นห่วง” หรือ “การศึกษาไทยน่าเป็นห่วง” กันมาบ้าง ฟังดูเผิน ๆ แล้ว ผู้ใหญ่บางคนอาจดูว่ามันไม่ใช่ปัญหาที่น่ากังวลอะไร แต่ถ้าคุณกำลังคิดเช่นนั้น คุณกำลังเข้าใจผิด! เพราะนี่คือปัญหาระดับชาติ! ที่สำคัญ มันมีผลต่ออนาคตของประเทศชาติมากด้วย เพราะต้องไม่ลืมว่าเด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า เด็กในวันนี้คืออนาคตของชาติ หากพวกเขายังคิดวิเคราะห์ไม่เป็น หรือใช้วิจารณญาณประกอบการตัดสินใจไม่ได้ ปัญหาย่อมตามมาแน่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพวกเขาเข้าสู่โลกของการทำงาน และเป็นส่วนหนึ่งของระบบแรงงาน

 

เด็กไทยยังขาด Critical Thinking

จากข้อมูลของการประชุม World Economic Forum (WEF) 2012-2013 พบว่าการจัดอันดับการศึกษาของไทยรั้งท้ายอาเซียน ผลการจัดอันดับที่ว่ายังชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเด็กไทยส่วนมากยังคิดไม่เป็น และขาดทักษะสำคัญในการดำรงชีวิต คือ ขาดการคิดวิเคราะห์ 

ในขณะที่อีกหลายปีต่อมา World Economic Forum (WEF) 2019 ก็มีการจัดอันดับความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก จากเด็กและเยาวชนของ 141 ประเทศ ผลการจัดอันดับ พบว่าความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยนั้นลดลง จากอันดับที่ 38 ลงไปสู่อันดับที่ 40 โดยปัจจัยหนึ่งที่ฉุดอันดับของประเทศไทยตกลงมา มาจากคะแนนด้านการเรียนการสอนของไทยที่มีการฝึก Critical Thinking พบว่าต่ำที่สุด ได้คะแนนเพียง 37 คะแนนเท่านั้น จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน

จริงอยู่ที่ว่าคะแนนต่าง ๆ ที่เด็กไทยจำเป็นต้องเข้าสอบเพื่อวัดระดับนั้น ไม่สามารถวัดความสามารถที่แท้จริงของเด็กไทยได้ แต่มันก็แสดงให้เห็นว่าการศึกษาไทยเป็นอย่างไร ถึงทำให้ผลคะแนนและระดับของเด็กไทยต่ำขนาดนี้ และอีกคำถามที่ดูเหมือนจะยาวไกล แต่จริง ๆ แล้วไม่เลย คือ เด็กไทยจะมีทักษะและความพร้อมในการก้าวเข้าสู่วัยทำงานในอนาคตได้ดีเพียงใด 

ที่สำคัญจาก การศึกษาขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development : OECD) โดยเป็นข้อมูลที่เผยความสามารถในการรับมือกับเฟกนิวส์และข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จ ของเด็กอายุ 15 ปี จาก 77 ประเทศทั่วโลก พบว่าเด็กไทยมีศักยภาพในการกรองข่าวปลอมต่ำมาก รั้งท้ายอยู่ในลำดับที่ 76 จาก 77 ประเทศ

หรือเอาที่ใกล้ตัวที่สุด คือการที่เราจะเห็นเด็กไทยส่วนน้อยเท่านั้นที่เริ่มตั้งคำถามกับบางสิ่งบางอย่างที่มีอยู่ ในขณะที่หลายคนยังติดอยู่กับการเชื่อตามผู้ใหญ่ หลายคนเชื่อตามกระแสของเขา ทั้งที่ไม่รู้ว่าเขาคือใคร การแสดงความคิดเห็นตามโซเชียลมีเดียของเด็กหลายคนก็ดูเหมือนไม่มีการคิดก่อนโพสต์ หรือไม่ไตร่ตรองอะไรมาก่อนเลย ทั้งที่ทุกวันนี้การเข้าถึงข้อมูลหลาย ๆ ด้านนั้นสามารถทำได้อย่างง่ายดาย 

เด็กไทยที่คิดได้เองจริง ๆ ก็มี แต่ที่ตามน้ำตามกระแสสังคมและดูเหมือนจะคิดไม่ได้ก็มีอยู่มาก หากอยากรู้ว่าเด็กคนนั้น ๆ คิดเองได้จริงหรือเหมือนจะคิดได้เพราะตามกระแสสังคมที่มีคนเริ่มออกมาแสดงจุดยืน ต้องพูดคุยกับเด็กคนนั้นตรง ๆ ให้เข้าถึงทัศนคติ วิธีคิด หลักการ และการใช้เหตุใช้ผลในการพิจารณาข้อมูลของเด็กคนนั้น ถ้าเด็กคิดได้จริง เขาจะมีข้อมูลที่ศึกษามาเป็นอย่างดี และมีหลักการในการพูดคุย แต่ถ้าแค่ตามกระแสสังคม เขาจะพูดหรืออ้างแต่อะไรที่ดูเลื่อนลอย ที่สำคัญ พวกเขาจะมีคำพูดที่แสดงให้เห็นว่าแค่เชื่อตามคนอื่น ๆ ที่เป็นเทรนด์ในขณะนี้ 

ข้อมูลเท่านี้ก็มากพอที่จะทำให้เราเห็นปรากฏการณ์ที่น่ากังวล ตรงที่เด็กและเยาวชนไทยอาจกำลังตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอมโดยสมบูรณ์ เพราะเด็กไทยรับมือกับข่าวปลอมได้ค่อนข้างแย่ มีจำนวนไม่น้อยที่เชื่อง่ายโดยไม่ไตร่ตรอง เชื่ออย่างไม่มีเหตุผล เชื่อเพราะมีคนเชื่อเยอะ และไม่ตรวจสอบข้อมูลอะไรเลย ทั้งยังขาดวิจารณญาณในการแยกแยะ ขาดความสามารถในการประเมินความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล ขาดทักษะในการตรวจสอบข้อมูลด้วยตนเอง ก็จะอยู่ลำบากในโลกที่มีแต่ข่าวปลอมเต็มไปหมดแบบนี้

 

เปิดโลกที่แคบให้กว้างขึ้น

Critical Thinking คือ ทักษะในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ มีความสามารถในการตั้งคำถามต่อสิ่งที่เราได้รับมาว่าถูกต้องหรือน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน และนอกจากนี้ Critical Thinking ยังเป็นหนึ่งใน 4 ทักษะ (4Cs) แห่งศตวรรษที่ 21 อีกด้วย ซึ่งประกอบด้วยอีก 3 ทักษะสำคัญ คือ Critical Thinking Communication (ทักษะสื่อสาร) Collaboration (ทักษะการทำงานร่วมกัน) และ Creativity (ทักษะความคิดสร้างสรรค์)

การรับข้อมูลด้านเดียวแล้วเชื่อเลยทันที เป็นเรื่องที่อันตรายมากในสังคมปัจจุบัน เนื่องจากมันสามารถนำไปสู่ความขัดแย้งที่ไม่สามารถพูดคุย ชี้แจง หรือตกลงได้ด้วยเหตุผล การอยู่ในโลกแคบ ๆ แบบนี้ไม่ได้เพียงแต่กระทบกับการทำงาน แต่ยังกระทบกับการใช้ชีวิตในชีวิตประจำวันด้วยเช่นกัน 

ทักษะ Critical Thinking จะทำให้เรารู้สึก “เอ๊ะ” อยู่เสมอเมื่อได้รับข้อมูล การที่เราสงสัยและไม่เชื่อเลยในทันที ทำให้เราพยายามหาคำตอบในมุมอื่น โดยการตั้งคำถามว่าจะเป็นอื่นที่ต่างจากนี้ได้ไหม หรือจะมีข้อมูลอื่นมาค้านหรือไม่ มองให้กว้างกว่าสิ่งที่รู้มา เพื่อนำมาใช้ประกอบกับการตัดสินใจ อย่างไรก็ดี การตั้งคำถามนี้ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะสร้างความขัดแย้งใด ๆ เพียงแต่เพื่อให้ได้ข้อมูลมากพอให้ประกอบการตัดสินใจ เมื่อตัดสินใจแล้ว จะพูดได้ว่าสิ่งที่เราเชื่อมาจากข้อมูล หลักการ หรือแนวคิดอะไร ไม่ยึดติดอยู่กับความเชื่อเดิม ๆ ที่เราเชื่อเพราะเราอยากจะเชื่อ 

คนที่มีทักษะ Critical Thinking จะเข้าใจดีว่าข้อมูลที่ได้รับมานั้นมีได้ทั้งข้อเท็จ ข้อจริง ข้อคิดเห็นปะปนกันเสมอ แต่ความคิดในเชิงวิพากษ์จะช่วยให้สามารถแยกแยะข้อมูลที่ไม่มีเหตุผลสนับสนุน ข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ หรือข้อมูลที่บิดเบือนได้ง่ายขึ้น เพราะเปิดใจรับและมีข้อมูลอื่นมาช่วยในการตัดสินใจ และยังขึ้นอยู่กับพื้นฐานความรู้ความเข้าใจเรื่องต่าง ๆ ของแต่ละคน ประสบการณ์ ที่ขาดไม่ได้คือทักษะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาได้เอง แต่ต้องฝึกฝน 

การจะเริ่มฝึก Critical Thinking ให้ได้นั้น ต้องเริ่มจากการรับสารอย่างตั้งใจ ฟังโดยไม่มีอคติ เป็นกลาง ไม่เอาอารมณ์ตัวเองไปตัดสิน ต่อให้เรื่องนั้นจะเป็นเรื่องที่เราไม่ปลื้ม หรือผู้ส่งสารเป็นคนที่เราไม่ชอบ หรือสภาวะทางอารมณ์เราจะไม่มั่นคงก็ตาม ประการต่อมาคือต้องอาศัยประสบการณ์ที่สั่งสมมาจากการใช้ชีวิต จากการอ่านมากฟังมาก พูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนอื่นมาก ส่วนนี้จะเป็นพื้นฐานความรู้ในการพิจารณา ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ใช้พื้นฐานจากข้อมูลและหลักฐาน ถึงจะนำไปสู่การประเมิน การแก้ปัญหา และการตัดสินใจ

 

โลกของการทำงาน ที่จำเป็นต้องใช้ Critical Thinking

Critical Thinking ถือเป็นทักษะหนึ่งสำหรับคนทำงานยุคใหม่ไปแล้ว ในโลกที่มีการแข่งขันสูง และในขณะเดียวกัน โลกใบนี้ก็เต็มไปด้วยข้อมูลมากมายสารพัด ที่หลาย ๆ ครั้ง ก็ไม่สามารถแยกจริงเท็จได้จากการรับสารแบบผ่าน ๆ แต่ตรงกันข้าม หลายคนกลับพร้อมจะพากันเชื่อโดยไม่ไตร่ตรองใด ๆ ทั้งสิ้น เชื่อโดยไม่หาข้อมูลอีกด้านมาสนับสนุน หรือไม่แม้แต่จะหาต้นเหตุของเรื่องจริง ๆ แต่เลือกที่จะเชื่อเพราะตัวเองชอบใจมากกว่า 

การคิดเชิงวิพากษ์ หรือ Critical Thinking จะคล้ายคลึงกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ คือ จะไม่ปักใจเชื่อในข้อมูลที่ได้รับมาในทันที จนกว่าจะมีหลักฐาน มีการพิสูจน์เป็นที่ประจักษ์ แบบที่ไม่ข้อมูลอื่นใดมาหักล้างได้แล้ว จุดร่วมที่เหมือนกัน คือการตั้งข้อสังเกตและสงสัยอยู่เสมอ เมื่อสงสัยก็จะตั้งคำถาม คำถามจะนำไปสู่การหาคำตอบ ระหว่างทางที่จะได้คำตอบก็จะมีการวิเคราะห์ การเปรียบเทียบ การประเมิน การสรุปผล ก่อนตัดสินใจเชื่อ 

หากเด็กไทยที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานขาดทักษะนี้ไป การเป็นพนักงานขององค์กรต่าง ๆ อาจเผชิญกับปัญหาเรื่องการรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่แน่นอนต่าง ๆ เนื่องจากไม่มีกระบวนการในการคิดวิเคราะห์หรือมีวิจารณญาณในการไตร่ตรอง ส่งผลต่อการตัดสินใจที่ไม่ถูกต้อง ผิดที่ผิดทาง มันอาจจะแก้ไขได้หลังจากเกิดปัญหา แต่ก็จะเป็นการทำงานที่ซับซ้อน เสียหายต่อองค์กร เสียเวลา ซึ่งจะดีกว่าไหมหากจะลดขั้นตอนที่ยุ่งยากลง เพียงแค่คิดไตร่ตรองให้รอบคอบตั้งแต่แรก

 

Critical Thinking หนึ่งใน Soft Skills ที่นายจ้างมองหา

ทุกวันนี้การจ้างงานมีการแข่งขันกันสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการแรงงานขององค์กรกับแรงงานที่ว่างงานในตลาดไม่สอดคล้องกัน ตำแหน่งงานบางตำแหน่งไม่จำเป็นต้องมีอีกต่อไปแล้วในยุคปัจจุบัน กิจการหรือธุรกิจบางส่วนปิดตัวลง หลาย ๆ ตำแหน่งก็ไม่จำเป็นต้องใช้คนทำ เพราะถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรและเทคโนโลยีโดยสมบูรณ์ ดังนั้นหากบริษัทหรือองค์กรต้องการจะรับพนักงานใหม่ นายจ้างจำเป็นต้องเข้มงวดและเลือกเยอะในการสรรหาบุคลากร เพื่อให้คุ้มกับค่าจ้างที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือน 

นั่นเท่ากับว่าการทำงานในปัจจุบันและอนาคตต่อจากนี้ ทักษะความรู้ที่ใช้ในการทำงาน (Hard Skills) อาจไม่เพียงพอสำหรับการทำงานอีกต่อไป แต่ทักษะที่จำเป็นต้องมีเพิ่มขึ้นมา คือทักษะด้านอารมณ์และสังคม (Soft Skill) เพื่อโอกาสในการได้งาน รวมถึงการอยู่รอดของพนักงานเก่าในองค์กรที่ก็ต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน อีกทั้งมันยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ชีวิตการทำงานประสบความสำเร็จ 

ซึ่งทักษะ Critical Thinking หรือความสามารถในการคิดเชิงวิพากษ์ การวิเคราะห์ และการใช้วิจารณญาณ ก็เป็นส่วนหนึ่งใน Soft Skills ด้วยเช่นกัน ดังนั้น คนที่มี Critical Thinking จึงเป็นที่ต้องการของนายจ้าง เพราะมันเป็นทักษะที่นายจ้างมักจะมองหาจากคนทำงานยุคใหม่ด้วย ซึ่งถ้าหากเด็กไทยที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานไม่มีทักษะนี้ ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นเด็กจบใหม่ที่ไร้งานทำ เนื่องจากทักษะไม่ตรงตามที่ตลาดต้องการ 

เพราะโลกที่ทุกอย่างเป็นดิจิทัล มีข้อมูลข่าวสารมากมายมหาศาล สามารถเข้าถึงกันได้เพียงแค่คลิกนิ้ว การจะหยิบข้อมูลอะไรขึ้นมาใช้ คนทำงานต้องใช้ทักษะในการคิดวิเคราะห์ และคัดเลือกคัดกรองข้อมูลก่อน ด้วยข้อมูลบางอย่างก็ถูกส่งต่อมาอย่างผิด ๆ มีทั้งข่าวปลอม ข่าวบิดเบือน ดังนั้น คนทำงานต้องมีความสามารถที่จะแยกแยะข้อมูลให้ได้ ว่าอะไรคือข้อเท็จจริง อะไรคือข้อคิดเห็น อะไรมีประโยชน์ อะไรไม่มีประโยชน์ เพื่อที่จะนำมาใช้งานได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม นอกจากนี้ ยังสามารถนำมาข้อมูลรอบตัวมาวิเคราะห์แนวโน้ม และคาดการณ์ธุรกิจในอนาคตได้นั่นเอง 

จริง ๆ แล้ว เราก็เห็นแล้วว่าเด็กไทยมีทักษะนี้กันน้อยลง ทั้งจากผลการทดสอบระดับชาติที่มีหลักฐานอ้างอิง มีการจัดทำเป็นรายงาน แล้วจัดอันดับโลกหรือภูมิภาค หรือที่เราเห็นกันในชีวิตประจำวัน จากการที่เด็กและเยาวชนส่วนหนึ่งมักแสดงความคิดเห็นในโซเชียลมีเดียแบบปราศจากการคิดไตร่ตรอง ปราศจากการตั้งคำถาม และปราศจากการตรวจสอบข้อเท็จจริง คำถามคือ ในขณะที่เด็กและเยาวชนไทยมีทักษะด้านนี้ต่ำ แล้วจะทำอย่างไรให้เด็กและเยาวชนไทยมีทักษะด้านนี้เพิ่มขึ้น ในเมื่อมันสำคัญต่ออนาคตของพวกเขาและต่อตลาดแรงงานเช่นกัน 

ที่มา ; sanook

เกี่ยวข้องกัน

Critical Thinking Skill ทักษะการคิดวิพากษ์ โดย ศศิมา สุขสว่าง 

บทความนี้ อ.เก๋มาแบ่งปันเรื่อง การคิดวิพากษ์ (Critical thinking) ซึ่งเป็นทักษะการคิดหนึ่งใน 4 C คือ  Communication, Collaboration, Creativity และ Critical Thinking ที่จำเป็นสำหรับคนทำงานในยุคนี้ค่ะ  เราจะเห็นว่า ในยุคที่ข่าวสารมากมาย มิจฉาชีพมากมาย การลงทุนที่หลอกลวง เช่น Forex ที่มีผลตอบแทนดีเกินจริง  ข่าวปลอมมากมาย  ทักษะการคิดวิพากษ์จึงเป็นทักษะที่จำเป็นที่ทุกคนต้องมี เพื่อใช้ในการพิจารณาข้อมูลรอบด้าน ให้เหตุผล แล้วค่อยตัดสินใจในการลงมือทำ หรือเชื่ออะไรสักอย่างหนึ่งค่ะความหมายของการคิดวิพากษ์ (Critical thinking)   

การคิดวิพากษ์ (Critical thinking) หมายถึง กระบวนการคิดวิพากษ์โดยใช้วิจารณญาณหรือการตัดสินอย่างมีเหตุผลรอบด้าน  โดยใช้เหตุผลในการวิเคราะห์ประเด็น รวมทั้งการรวบรวมข้อมูลต่างๆรอบด้าน การสำรวจองค์ประกอบอื่น ๆ ที่อาจมีอิทธิพลต่อข้อสรุป เพื่อตรวจสอบพิจารณา ตัดสินและประเมินความถูกต้อง หรือสิ่งที่เป็นประเด็นในขณะนั้นๆ ให้แม่นยำ  

ดังนั้น การที่เราจะมีทักษะการคิดวิพากษ์ได้นั้น เราจะต้องให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ การตั้งคำถาม กับประเด็นที่เรากำลังสนใจ รวมทั้งคิดพิจารณา แยกแยะข้อมูลว่าเป็นข้อเท็จจริง (Fact) หรือ ความคิดเห็น (Opinion)  ตรวจสอบหลักฐานที่ได้รับ การไต่ตรองด้วยเหตุและผล  ซึ่งการวิเคราะห์อารมณ์หรือความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการคิดวิพากษ์เช่นกัน

 

สิ่งที่เราจะตั้งคำถามหรือวิพากษ์นั้นจะต้องมีลักษณะ

เป็นข้อสมมุติที่ยอมรับกันทั่วไป แต่เรามีข้อสงสัย ไม่ปักใจเชื่อและยอมรับ  เช่น การส่งลูกให้เรียนในระบบโรงเรียนจะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า Home school, การทำงานในออฟฟิศหรือเจอหน้ากันดีกว่าการทำงานแบบ Work from Home  เป็นต้น 

เป็นการอ้างเหตุผที่ต้องตรวจสอบความถูกต้อง  เช่น เครื่องจักรทำงานไม่มีประสิทธิภาพเพราะการบำรุงรักษาที่ไม่ดี, การลงทุนในกองทุน หรือการเงินต่างๆที่มีผลตอบแทนสูงเกินจริง จะมีความเสี่ยงสูงและเป็นไปไม่ได้, เพราะสถานการณ์โควิดทำให้ยอดขายบริษัทลดลง เป็นต้น 

เป็นคำกล่าวอ้างที่ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง  ที่มาจากความเชื่อ ค่านิยม ความคิดเห็น หรือประสบการณ์ ผลสำรวจ งานวิจัย นโยบายต่างๆ 

เป็นปัญหาที่ต้องหาเหตุผลในหลายด้านมาพิจารณาก่อนการหาแนวทางการแก้ไขและตัดสินใจ เช่น ปัญหาเชิงซ้อน ซับซ้อน หรือปัญหาที่คลุมเครือ ไม่ชัดเจน (Complicate, Complex and Chao Problem) เป็นต้น

  

คำถามสไตล์โสคราติส Socratic question 

เทคนิคการตั้งคำถามหนึ่งที่สำคัญคือ เทคนิคการตั้งคำถามสไตล์โสคราติส Socratic question ซึ่งเป็นการตั้งคำถามในรูปแบบต่างๆ ซึ่งทำให้เราเห็นประเด็นและมุมมองรอบด้าน  ซึ่งคำถามสไตล์โสคราติส Socratic question มีรายละเอียด ดังนี้

·      Clarification  เป็นการถามเพื่อขอความกระจ่าง เช่น คุณสามารถอธิบายได้ไหมว่า เพราะอะไร....?  (หาคำอธิบาย)  ที่กล่าวว่า  "วิธีที่ดี" หมายความว่าอย่างไร หรือดีอย่างไร

·      Probe assumption เป็นคำถามเพื่อให้คิดเกี่ยวกับข้อสันนิษฐานและความเชื่อต่างๆ จึงเป็นคำถามที่ต้องการหาข้อเท็จจริง นอกจาก.... ยังมีข้อสันนิษฐานอะไรเพิ่มเติม? คุณจะพิสูจน์หรือตรวจสอบความเชื่อ/ข้อสันนิษฐานนี้ได้อย่างไร 

·      Reason การถามขอเหตุผล  หากการแสดงความคิดเห็นยังขาดเหตุผลหรือมีข้อสนับสนุนที่ยังไม่เพียงพอ  เราจะรู้ได้อย่างไรว่า... ? ทำไมจึงเกิดเหตุการณ์นี้?  (หาที่มาของความเชื่อ ความคิด) 

·      Alternative Viewpoint & Perspectives การถามเพื่อให้เห็นมุมมองและแนวคิดอื่นๆ  เช่น เเนวคิดที่กล่าวมา แตกต่างกับแนวคิดอื่นๆอย่างไร

·      Implication & Consequence การถามเพื่อการนำไปใช้และคาดการณ์สิ่งที่เกิดขึ้น อะไรจะเกิดขี้น? อะไรเป็นผลที่เกิดขึ้นจาก...? (ผลที่ตามมา) จะทดสอบว่า .... เป็นเรื่องจริงหรือความจริงได้อย่างไร ? (ทดสอบความจริง) 

คำถามเชิงลึกย้อนกลับมาที่คำถาม  เช่น รู้ไหมว่าทำไมถามแบบนี้ เช่น สิ่งที่ถาม/คำถามนั้น/สิ่งที่กล่าวถึง  นั้นช่วยเราได้อย่างไร ?(การเชื่อมโยง)   เราตอบคำถามได้ดีหรือยัง? (หาข้อสรุป)  คุณมีคำถามเกี่ยวกับ ....หรือไม่? ประเด็นของการตั้งคำถามนี้คืออะไร?   

ในการคิดวิพากษ์นั้น กระบวนการให้เหตุผล (Reasoning) เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ  เพราะเป็นการบอกเหตุและผล หรือการเชื่อมโยง สรุปเหตุและผลที่นำไปสู่การตัดสินใจได้เป็นอย่างดี 

ประเภทของการให้เหตุผล (Reasoning) ในการคิดวิพากษ์ มี 2 รูปแบบคือ

·      การให้เหตุผลแบบอุปนัย (inductive Reasoning)

           วิธีการสรุปผลในการค้นหาความจริงจากการสังเกตหรือการทดลองหลายๆครั้งจากกรณีย่อยๆแล้วนำมาเป็นความรู้ทั่วไป หรือเป็นการให้เหตุผลโดยยึดหลักความจริงจากส่วนย่อยที่พบเห็นไปสู่ความจริงที่เป็นส่วนรวม

·      การให้เหตุผลแบบนิรนัย (deductive Reasoning)

           การให้เหตุผลแบบนิรนัย เป็นการนำความรู้พื้นฐาน ซึ่งอาจจะเป็นความเชื่อ ข้อตกลง กฏหรือบทนิยาม ซึ่งเป็นสิ่งที่รู้มาก่อน และยอมรับว่าเป็นจริง เพื่อหาเหตุผลนำไปสู่ข้อสรุป โดยไม่ต้องอาศัยการสังเกตหรือการทดลองใดๆ 

นอกจากนี้ ในการคิดวิพากษ์ยังมีการวิเคราะห์ในมุมมองหลายๆด้านซึ่งอาจจะทำให้มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เมื่อมองต่างมุมกัน แต่การโต้แย้งนั้น ไม่ใช่การใช้อารมณ์มาโต้แย้ง แต่เป็นนำเหตุผล ข้อมูล ความคิดเห็น การสังเกตมาเพื่อให้การวิเคราะห์ที่มีความเห็นต่างนั้นมีความน่าเชื่อถือ และเหตุผลรองรับค่ะ ความสามารถในการวิเคราะห์เชิงโต้แย้ง (Argument analysis) นั้นมีลักษณะ ดังนี้

- สามารถหาข้อสรุปอย่างเป็นเหตุเป็นผลจากข้อมูลที่มี

แยกแยะข้อมูลออกเป็น “ ความคิดเห็น (Opinion)” และ “ข้อเท็จจริง (Facts) ” ได้

ใช้การคิดเชิงวิพากษ์ประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูลเพื่อการตัดสินใจได้

พิจารณาหาข้อสรุปว่ามีหลักฐานหรือเหตุผลรองรับหรือไม่

สิ่งที่สำคัญในการวิเคราะห์เชิงโต้แย้ง (Argument analysis) นั้นคือ เราต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่างการวิเคราะห์เชิงโต้แย้ง (มีเหตุผลรับรอง) กับการถกเถียง (ใช้ความอารมณ์และคิดเห็นส่วนตัวเป็นหลัก) ได้ค่ะ

 

ส่วนขั้นตอนหรือกระบวนการคิดวิพากษ์นั้น เก๋ชอบกระบวนการคิดวิพากษ์ตามโมเดลของ  Bloom's taxonomy Model ซึ่งจะมีทั้งหมด 6 ขั้นตอนดังนี้ คือ

·      ขั้นที่ 1. Knowledge/Remembering ความรู้/การจำ – การระบุโจทย์, ความจำความรู้, list รายการที่เป็นข้อเท็จจริงและแนวคิด

·      ขั้นที่ 2. Comprehension/Understanding รู้ลึกซึ้ง/ความเข้าใจ – การอธิบาย, รายงานเลือกประเด็น, แยกแยะ, ตั้งสมุติฐาน,สร้างความเข้าใจ

·      ขั้นที่  3. Application/Transferring การประยุกต์/การถ่ายทอด – แนวทางการแก้ไข, การปฏิบัติ, การใช้, การดำเนินการ, ร่างแบบ

·      ขั้นที่ 4. Analysis/Relating การวิเคราะห์/การเชื่อมโยง – วิเคราะห์แนวทาง, เปรียบเทียบ,ทดสอบ,หาความต่าง-เหมือน-ความขัดแย้ง

·      ขั้นที่ 5. Evaluation/Judging การประเมิน/การตัดสิน – การให้น้ำหนัก, โต้เถียง, ตัดสิน, คัดเลือก,ประเมิน ไอเดีย

·      ขั้นที่  6. Synthesis/Creating การสังเคราะห์/ความสร้างสรรค์ – นำไปออกแบบ,พัฒนาให้เกิด,สร้าง,พัฒนาออกมา

 

ข้อดีของการมีทักษะการคิดวิพากษ์ต่อการทำงาน ได้แก่

·      เป็นนักแก้ไขปัญหาที่ดี

·      มีการวิเคราะห์และประเมินผลก่อนจะสรุปและตัดสินใจ

·      มีการสื่อสารที่มีตรรกยะ

·      เป็นนักตัดสินใจที่ดี (บนพื้นฐานของข้อมูล ไม่ใช้ความรู้สึก)

·      เป็นคนมีเหตุผล เป็นผู้นำที่มีหลักการในการคิด 

ในชีวิตการทำงาน หลายครั้งที่เราต้องวิพากษ์ และให้เหตุผลกับปัญหา เหตุการณ์ต่างๆ หรือประเด็นที่ต้องมีการตัดสินใจ หรือโต้แย้งกับคนที่ทำงานร่วมกัน เพื่อให้ได้ Solution ให้ดีที่สุดภายใต้เหตุผลที่มี ณ ขณะนั้น  ดังนั้น การคิดวิพากษ์จึงเป็นอีกทักษะหนึ่งที่จำเป็นมากๆสำหรับการทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวันที่มีข้อมูลมหาศาล และเรื่องต่างๆที่ต้องตัดสินใจมากมายค่ะ

เก๋หวังว่า บทความนี้จะมีประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจวิธีการ กระบวนการของทักษะการคิดวิพากษ์ Critical thinking เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาตัวเอง ทีมงาน และประสิทธิภาพการทำงานให้กับองค์กรได้นะคะ 

โดยส่วนตัวเก๋เอง ได้ไปแบ่งปันหลักสูตร ทักษะการคิดวิพากษ์ Critical Thinking ให้กับหลายองค์กรแล้วเช่นกันใน In house Training ซึ่งกิจกรรมการเรียนรู้เเบบผู้ใหญ่ Workshop กรณีศึกษา เหตุการณ์มาให้วิเคราะห์และให้เหตุผล และอีกมากมายค่ะ

 

แหล่งข้อมูล :

- E-Book : 50 Activities for Developing Critical Thinking Skills โดย Dr. Marlene Caroselli

- E-Book : CRITICAL THINKING SKILLS SUCCESS IN 20 MINUTES A DAY โดย Lauren Starkey

- E-Book : Critical Thinking An exploration of theory and practice โดย Jennifer Moon 

- หนังสือ การคิดเชิงวิพากษ์ โดยอ.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์

- Bloom's taxonomy Model : https://www.criticalthinking.org/ 

ที่มา ;sasimasuk