บทความโดย Jaturong Kobkaew
ทุกวันนี้ สถาบันการศึกษาต่างนำระบบเอไอไปใช้ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ซึ่งต้องยอมรับว่า Generative AI คือ ปัญญาประดิษฐ์ที่มีความสามารถในการเรียนรู้เชิงลึก สามารถสร้างข้อมูลที่มีเนื้อหาใหม่ได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นข้อความ รูปภาพ เสียง วิดีโอ และอื่นๆ แต่ “AI” เป็นทักษะเฉพาะด้าน ต้องพัฒนาร่วมกับ “Mindset” เพื่อสร้างบุคลากรที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจยุคใหม่อย่างแท้จริง
จากข้อมูลภาวะสังคมไทยไตรมาส 3 ในปี 2567 ของ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ยังคงน่ากังวลใจต่อการผลิตบุคลากรในภาคการศึกษาซึ่งสะท้อนถึงจำนวนผู้ว่างงานที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะผู้ว่างงานระยะยาวตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้ามากถึง 16.2% หรือมีผู้ว่างงานในกลุ่มนี้กว่า 8.1 หมื่นคน โดยกว่า 65% ของคนในกลุ่มนี้ระบุว่าหางานไม่ได้ ขณะที่ 71.3% ไม่เคยทำงานมาก่อน ซึ่งในจำนวนนี้เกือบ 3 ใน 4 อยู่ในช่วงอายุ 20 – 29 ปี สะท้อนภาวะที่ประเทศไทยมีงานใหม่ๆ เข้ามาลงทุน แต่ว่าไม่สามารถหาแรงงานที่มีทักษะสอดคล้องกับงานใหม่ๆ ได้
ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึงระบบการศึกษายุคใหม่ว่า หัวใจคือการผลิตคน โดยเฉพาะการผลิตกำลังคนทักษะสูง เดิมเราจะมองว่าเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่วันนี้ไม่ใช่ เพราะนอกจากมหาวิทยาลัยแล้ว หน่วยงานวิจัยและพัฒนาต้องมีหน้าที่นี้ด้วย จริงๆ วิกฤตของประเทศไทยที่สำคัญที่สุดคือวิกฤติการผลิตคน เราไม่สามารถผลิตคนที่จะไปตอบโจทย์อุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ได้ เรามีปัญหาการพัฒนากลุ่มคนที่มีศักยภาพ (Talent Development) เราไม่สามารถพัฒนาคนที่จะไปตอบโจทย์อุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ซึ่งจะต้องมีทักษะ 2 ด้านหลักๆ คือ
ดร.อภิชาต ทองอยู่ ประธานคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC HDC ที่สร้างสรรค์หลักสูตรการศึกษารูปแบบใหม่ “อีอีซี โมเดล” ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก (ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-ระยอง) จนเป็นต้นแบบให้กับหลายสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ กล่าวถึงการศึกษาและการสร้างทุนมนุษย์ กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ การศึกษาไทยเริ่มต้นในระบบปฏิวัติอุตสาหกรรมตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ส่งต่อกันมาจนถึงวันนี้ ภายใต้การปรับตัวตามระบบราชการ เน้นเรื่อง IQ และ EQ เป็นหลัก โดยแทบไม่ได้นำเรื่อง AQ (Adversity Quotient) หรือ active skill มาผสมผสาน การปรับตัวของการศึกษายังวนเวียนอยู่ในโลกใบเก่า ไม่ได้เชื่อมต่อกับความก้าวหน้าของโลกยุคใหม่ เราจึงต้องปรับโครงสร้างการพัฒนาบุคลากรและการศึกษาใหม่ ให้สอดรับกับความก้าวของโลกที่เปลี่ยนไป เปลี่ยนจากระบบเดิม Supply Push คือใช้สถาบันการศึกษาเป็นตัวตั้งและสอนตามหลักสูตรที่ออกแบบโดยสถาบันการศึกษา โดยไม่รู้ว่าเด็กที่จบออกไปจะสอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมหรือเปล่า เป็น demand driven คือสำรวจความต้องการของอุตสาหกรรมก่อน แล้วผลิตบุคลากรให้ตรงกับความต้องการ รวมถึงปรับการเรียนในรูปแบบสตรีมศึกษา บูรณาการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและศิลปะเข้าด้วยกัน เรียนโค้ดดิ้ง สร้าง “Mindset” ที่ถูกต้อง เพื่อเสริมศักยภาพการทำงานในอนาคต
ปัจจุบัน สถาบันการศึกษาพยายามสร้างหลักสูตรสำหรับบุคลากรที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ผ่านกระบวนการเรียนรู้เชิงปฏิบัติ มุ่งเน้นการเตรียมคนให้พร้อมสำหรับความต้องการในอนาคต นักเรียนไม่เพียงมีความรู้ในเชิงวิชาการ แต่ต้องมีทักษะที่สามารถปรับใช้ในสถานการณ์จริงได้ เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำในยุคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เน้นสร้างบุคลากรที่มีความสามารถในการคิดเชิงสร้างสรรค์ และประยุกต์ใช้ความรู้ในสถานการณ์จริง เรียนรู้ผ่านการทำโครงการจริงที่เชื่อมโยงกับปัญหาในภาคอุตสาหกรรมของประเทศ สร้างคนที่สามารถตอบโจทย์อุตสาหกรรมในอนาคตได้จริง ไม่ใช่แค่การสอนทฤษฎี แต่ยังให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติ เพื่อเรียนรู้วิธีคิดและวิธีแก้ปัญหาจากโจทย์จริงของประเทศและภาคอุตสาหกรรม
ตัวอย่างเช่น กับจับมือของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กับ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่นประจำประเทศไทย (JICA Thailand Office) เปิดโครงการ KOSEN KMUTT มุ่งสร้างบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยี ผลิตวิศวกร นักเทคโนโลยี และนวัตกรสำหรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคตของประเทศ
หนึ่งในความท้าทายของโครงการนี้คือ ประเทศไทยมีศักยภาพด้านความหลากหลายทางชีวภาพสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งมีความต้องการบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในกระบวนการชีวภาพมาพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง และยกระดับสู่ภาคอุตสาหกรรม จึงมีหลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ (Bio Engineering) ขึ้น ซึ่งเน้นการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการชีวภาพและการแปรรูปทรัพยากรชีวภาพให้เป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ชีวเภสัชภัณฑ์ ยาชีววัตถุ และสารตั้งต้นที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ
เช่นเดียวกับหลักสูตร SMART Agri Engineering ที่จะเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรของไทย ให้ตอบสนองต่อความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความต้องการอาหารรูปแบบใหม่ โดยเน้นการเรียนรู้ผสมผสานทั้งศาสตร์ในด้านที่เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูก การผลิตพืช ควบคู่ไปกับศาสตร์ด้านวิศวกรรมศาสตร์ การใช้ระบบอัตโนมัติ และวิทยาศาสตร์ข้อมูล ในการสร้างผลผลิตมูลค่าสูง และอาหารเฉพาะกลุ่ม ซึ่งได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่จะช่วยเสริมความรู้และทรัพยากรวิจัย เพื่อสร้างความยั่งยืนในภาคเกษตรกรรมร่วมกัน ช่วยเพิ่มศักยภาพให้ประเทศไทยให้สามารถแข่งขันในระดับโลกได้ ตอกย้ำถึงศักยภาพของการพัฒนาคนรุ่นใหม่ เพื่อสร้างความก้าวหน้าและความยั่งยืนให้กับประเทศไทยในระดับโลก ซึ่งเป็นโมเดลที่สถาบันการศึกษาทุกแห่งต้องเร่งปรับตัวเพื่ออนาคตของประเทศชาติ
สรุปคือ “AI” มีประโยชน์สำหรับสถาบันการศึกษา แต่การมี “Mindset” ที่ถูกต้องก็สำคัญไม่แพ้กัน
ที่มา ; SALIKA