ค้นหา

ก.ค.ศ.แจงมาตรฐานตำแหน่ง ผอ.สพท.เหมาะสมแล้ว

นายประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ในฐานะรักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า กรณีผู้อำนวยการโรงเรียนที่มีวิทยฐานะเชี่ยวชาญ ร้องเรียนผ่านสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) หลังสำนักงาน ก.ค.ศ. ประกาศใช้มาตรฐานตำแหน่งครูและบุคลากรทางการศึกษาใหม่ โดยกำหนดคุณสมบัติผู้เข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ดังนี้ 1.ต้องมีตำแหน่งรองผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯไม่น้อยกว่า 2 ปี และมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่ารองผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯชำนาญการพิเศษ 2.ตำแหน่งอื่นที่ ก.ค.ศ.เทียบเท่า ส่งผลให้ผู้อำนวยการโรงเรียนที่มีวิทยฐานะเชี่ยวชาญ ซึ่งถือว่ามีอาวุโสสูงกว่ารองผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯชำนาญการพิเศษ ไม่สามารถสมัครได้ เนื่องจากขาดคุณสมบัติ ทำให้เกิดความลักลั่นนั้น สาเหตุที่ ก.ค.ศ.ปรับมาตรฐานตำแหน่งดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าสายงานของผู้อำนวยการ สพท. และผู้อำนวยการโรงเรียน เป็นคนละสายงานกัน 

นายประวิตกล่าวต่อว่า ดังนั้น เพื่อให้การคัดเลือกผู้บริหารการศึกษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และได้ผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เข้ามาทำงาน สำนักงาน ก.ค.ศ.จึงได้ทำงานวิจัย และพบว่าการเลื่อนขั้นที่เปิดโอกาสให้ผู้อำนวยการที่มีวิทยฐานะเชี่ยวชาญ สามารถสอบเลื่อนขั้นเป็นผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯได้นั้น ก่อให้เกิดปัญหา 3 เรื่อง ดังนี้ 1.อาจเกิดการไม่ยอมรับของบุคลากรที่อยู่ในบังคับบัญชา เพราะว่าผู้อำนวยการโรงเรียนที่สามารถสอบคัดเลือกเป็นผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ อาจจะมีความเชี่ยวชาญในการบริหารงานคนละสายงาน และอาจทำให้เกิดปัญหา 2.ขาดความเข้าใจในการบริหารงานของ สพท. ซึ่งมีทั้งการบริหารบุคลากร งบประมาณ ฯลฯ ซึ่งต้องมีการสั่งสมประสบการณ์ และ 3.บางคนอาจจะได้รับการยอมรับในเขตพื้นที่ฯที่ทำงานอยู่แล้ว แต่การสอบเลื่อนขั้น อาจจะไม่ได้บรรจุที่เขตพื้นที่ฯเดิมทำให้เกิดการโยกย้ายและกลับไปเจอปัญหาข้อที่ 1 และ 2 เช่นเดิม 

หลังจากพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดทาง ก.ค.ศ.จึงเห็นว่า อยากให้ผู้อำนวยการโรงเรียนที่มีความต้องการเปลี่ยนสายงานมาบริหารเขตพื้นที่ฯ ควรจะเริ่มจากการเป็นรองผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯก่อน แต่ก็ได้กำหนดแนวทางที่เอื้อให้ผู้อำนวยการโรงเรียนที่มีวิทยฐานะเชี่ยวชาญได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นขึ้นเป็นผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯเร็วกว่าผู้ที่มาจากระบบปกติ ทั้งนี้ เพื่อให้ได้เกิดการสั่งสมประสบการณ์และความเข้าใจในงานเขตพื้นที่ฯอย่างครบถ้วน โดยที่วิทยฐานะก็ยังคงเป็นเชี่ยวชาญเช่นเดิม ซึ่งจะทำให้มีความเหมาะสม เมื่อได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ เปรียบเสมือนครูที่มีความต้องการอยากจะเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนก็ต้องเริ่มจากการเรียนรู้งานของรองผู้อำนวยการโรงเรียนก่อนเช่นกัน” รักษาการเลขาธิการ ก.ค.ศ.กล่าว 

นายประวิตกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ก.ค.ศ.ยินดีรับฟังข้อเรียกร้องต่างๆ ที่เกิดขึ้นแต่ขอเรียนว่าการปรับมาตรฐานตำแหน่งครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการสำรวจและพบว่ามีปัญหาตามที่กล่าวมาเกิดขึ้นจริง มีงานวิจัยรองรับและเป็นการปรับที่สมเหตุสมผล และคาดว่าหลังจากบังคับใช้จะไม่มีการปรับและทบทวนเกณฑ์ดังกล่าวอีก 

ก.ค.ศ. แจงมาตรฐานตำแหน่งใหม่ ผอ.สพท.เหมาะสม ชี้ ‘เลื่อนขั้น’ บิ๊กเขตพื้นที่ฯแบบเดิม ปัญหาเพียบ แนะ ‘บิ๊กร.ร.’ ขึ้นรองเขต-เพิ่มประสบการณ์ 

ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 19 ธันวาคม 2567 

เกี่ยวข้องกัน

โวยมาตรฐานตำแหน่งใหม่ลักลั่น ตัดสิทธิ ‘บิ๊กร.ร.เชี่ยวชาญ’ สอบขึ้นผอ.เขต จี้ ‘ก.ค.ศ.’ ปรับแก้ 

นายณรินทร์ ชำนาญดู นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ผู้อำนวยการโรงเรียนที่มีวิทยฐานะเชี่ยวชาญจำนวนมาก ออกมาร้องเรียนผ่าน ส.บ.ม.ท. กรณีคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ประกาศใช้มาตรฐานตำแหน่งครูและบุคลากรทางการศึกษาใหม่ โดยกำหนดคุณสมบัติผู้เข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ดังนี้ 1.ต้องมีตำแหน่งรองผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ไม่น้อยกว่า 2 ปี และมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่ารองผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ชำนาญการพิเศษ 2.ตำแหน่งอื่นที่ ก.ค.ศ.เทียบเท่า ส่งผลให้ผู้อำนวยการโรงเรียน ที่มีวิทยฐานะเชี่ยวชาญ ซึ่งถือว่ามีอาวุโสสูงกว่ารองผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ชำนาญการพิเศษ ไม่สามารถสมัครได้ เนื่องจากขาดคุณสมบัติ 

“การกำหนดมาตรฐานตำแหน่งดังกล่าว ถือว่าทำให้เกิดความลักลั่น จากเดิมที่มีสิทธิสมัครเป็นผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ทำให้ผู้อำนวยการโรงเรียน วิทยฐานะเชี่ยวชาญ ที่มีสิทธิสมัครคัดเลือกเป็นผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ตามมาตรฐานตำแหน่งเดิม เกิดความไม่พอใจ เพราะเสียสิทธิในการเข้ารับการคัดเลือก จึงร้องเรียนมาที่ ส.บ.ม.ท. เพื่อทำหนังสือถึง พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว” นายณรินทร์กล่าว 

นายณรินทร์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ แม้จะประกาศใช้มาตรฐานตำแหน่งดังกล่าว ก็สามารถแก้ไขได้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ซึ่งส่วนตัวเข้าใจ ทาง ก.ค.ศ.ต้องการให้มีการเลื่อนตำแหน่งตามลำดับชั้น จากรองผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ มาเป็นผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ตามลำดับ แต่ก็ต้องมองถึงลำดับอาวุโสด้วย เพราะโดยหลัก ผู้อำนวยการโรงเรียน เชี่ยวชาญ ถือว่ามีวิทยฐานะสูงกว่ารองผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ ดังนั้นจะให้ไปสมัครคัดเลือกเป็นรองผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ น่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และถือเป็นการไปจำกัดสิทธิ ทำให้เกิดความลักลั่น เช่นเดียวกับกรณีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ฯ ที่น้อยเนื้อต่ำใจกับระบบการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ เนื่องจากศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) สามารถเข้าสู่ตำแหน่ง โดยเทียบเท่าวิทยฐานะเชี่ยวชาญโดยอัตโนมัติ ซึ่งเรื่องนี้ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข 

ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 12 ธันวาคม 2567